One for All ร่วมออกแบบงานอิเวนต์สำหรับคนทุกกลุ่มกับ “รศ. ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ”

Author : MICE Intelligence Team
Views 3670 | 20 Dec 2022

ความแตกต่างหลากหลายของผู้คนได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ครอบคลุมทุกความต้องการของคนทุกกลุ่มได้อย่างแท้จริง อุตสาหกรรมไมซ์จึงต้องมีการปรับตัว และนำ Universal Design หรือ อารยสถาปัตย์ มาปรับใช้ในการจัดงานเพื่อให้สามารถรองรับผู้คนทุกกลุ่ม และเสริมสร้างประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมงานที่มีความแตกต่างหลากหลายได้ดียิ่งขึ้น

MICE Outlook สัปดาห์นี้ ชวนทุกคนเดินทางไปพูดคุยกับ “รศ. ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ” รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้พัฒนาโครงการ “รังสิตโมเดล” การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศด้านอารยสถาปัตย์ “The Winner of Universal Design Competition” จากสถาบัน Institute of Universal Design ประเทศเยอรมนี ที่นำการออกแบบมาช่วยพัฒนาการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุและผู้พิการในชุมชนเมือง ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข




จุดเริ่มต้นที่สนใจงานออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design)

“ผมเป็นสถาปนิก มีหน้าที่ในการออกแบบและจัดการพื้นที่ให้ทุกคนสามารถเข้าไปใช้พื้นที่เหล่านั้นได้ ความสุขของสถาปนิก คือการได้เห็นคนเข้าไปใช้งานพื้นที่ที่เราออกแบบแล้วมีความสุข แต่บางครั้งเมื่อกลับไปดูงานของตัวเอง ปรากฏว่ามีคนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ ถ้าออกแบบมาแล้วใครสักคนต้องยืนตากฝนอยู่หน้าตึก หรือผู้ใช้วีลแชร์ไม่สามารถเข้าตึกได้ เขาก็เสียโอกาส ผมรู้สึกว่ามันไม่ตอบโจทย์การทำงาน จนได้มาเจอเรื่องของ Universal Design ซึ่งผู้ที่ริเริ่มคิดเรื่องนี้คือคุณ Ronald Mace สถาปนิกชาวอเมริกันที่นั่งวีลแชร์ ผมจึงนำเอาแนวคิด Universal Design มาทำความเข้าใจว่า มนุษย์มีความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย จะทำอย่างไรให้เขาใช้พื้นที่ได้ ตอนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเลยเลือกหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเพื่อกลุ่มเปราะบาง และนำหลัก Universal Design มาใช้ ทั้งในอาคาร นอกตัวอาคาร และงานแลนด์สเคป”


south.elderflowerfields.co.uk
(Photo Description: Ron Mace as a young boy, working on architecture, and posing in his wheelchair.)




ที่มาของโปรเจกต์ “รังสิตโมเดล”

“ผมทำงานด้าน Universal Design มากว่า 15 ปี ประกอบกับงานชุมชน ได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศ และได้เห็นสภาพอาคารสาธารณะ บ้านเรือน ระบบคมนาคมต่าง ๆ ที่ยังไม่เอื้ออำนวย ต่อมาได้เริ่มทำงานกับชุมชนใกล้มหาวิทยาลัย เนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีพันธกิจที่ต้องเอาวิชาการไปบริการสังคม เราก็เลยเริ่มต้นกันที่เทศบาลนครรังสิต โดยใช้แนวคิดที่ว่า คนหนึ่งคนจะต้องมีสภาพแวดล้อมที่ดีตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ไปจนถึงปลายทาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการที่อยู่ในชุมชนเมือง เพราะพวกเขามักประสบปัญหามากกว่าผู้ที่อยู่ในชนบท เนื่องจากในชนบทมีแนวคิดที่เรียกว่า Community-Based Rehabilitation (CBR) คือการสร้างชุมชนให้เป็นฐานในการสนับสนุนกลุ่มเปราะบางให้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติด้วยการดูแลซึ่งกันและกัน แต่ผมมองว่าความเห็นอกเห็นใจไม่ควรหลุดไปในระดับสงสารนะครับ ไม่มีผู้สูงอายุคนไหน เด็กคนไหน หรือผู้พิการคนไหนอยากให้เราสงสาร เขาเพียงอยากให้เราเข้าใจ และเมื่อไรที่เขาต้องการความช่วยเหลือ เราก็ค่อยช่วยเหลือเขา เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะช่วยลดความสงสารกันได้มากที่สุดคือการทำให้เขาดำรงชีวิตอย่างอิสระได้ ลดการพึ่งพา ไม่ต้องพึ่งพิงใคร นั่นคือการสร้างสภาพแวดล้อมให้คนไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องล้ม ไม่ต้องเจ็บก็โอเคแล้ว”




www.thailandplus.tv


ความท้าทายของการนำอารยสถาปัตย์มาปรับใช้ในประเทศไทย

“ยกตัวอย่างคนในชุมชนเทศบาลนครรังสิตอยากปรับปรุงวัด หลังจากผ่านการทำกระบวนการกับชุมชนเรียบร้อยแล้ว ผ่านการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างสรรค์ด้วยกัน จนออกมาเป็น 5 จุดที่ต้องการแก้ไข แต่งบประมาณไม่พอ ฝ่ายภาคีจึงเกิดไอเดียทำผ้าป่าให้ ก็เลยได้งบมาทำตามแผนอย่างเรียบร้อย พักแผนงานไปหนึ่งปี มีบริษัทเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนการปรับปรุงในครั้งนี้ ทำให้เราสามารถดำเนินโครงการต่อได้ แต่ทั้งนี้ ทางภาครัฐก็ควรให้การสนับสนุนเช่นกัน”


tu.ac.th/thammasat

“อีกหนึ่งความท้าทายคือการทำให้ผู้คนมองเรื่องของ Universal Design เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ถ้าเราสร้างบ้านหนึ่งหลัง แล้วทำทางลาดไว้ตั้งแต่แรก เราจะจ่ายค่าออกแบบและค่าก่อสร้างรอบเดียว แต่ถ้าเราทำบันไดก่อน และหากคุณตาคุณยาย หรือลูกเล็ก ๆ จำเป็นต้องใช้รถเข็น แสดงว่าเราต้องทำทางลาดใหม่ ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว เพราะเราต้องทุบของเดิมก่อน เพราะฉะนั้นการวางแผนและทำให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางจะปลอดภัยกว่า อย่างน้อยถ้าวันนี้เราเปลี่ยนทัศนคติคนไม่ได้ แต่เราก็ได้วางรากฐานไว้แล้ว ให้อีกสัก 10-20 ปี เมื่อโลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ในอนาคตผู้คนจะอยู่ดีมีสุขได้”


คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการไมซ์ ในการจัดงานเพื่อคำนึงถึงการเข้าร่วมงานของคนทุกกลุ่ม

“ก่อนจัดงาน เราต้องทราบว่าผู้เข้าร่วมงานต้องการอะไรบ้าง เช่น ผู้พิการและผู้สูงอายุต้องการข้อมูลในการวางแผนการเดินทาง เพจหรือเว็บไซต์ของเรามีข้อมูลและสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้หรือไม่ ซึ่งสามารถเช็กตามมาตรฐาน W3C ที่กำหนดไว้ได้ หรือถ้าเขารู้ว่าสถานที่ที่จะไปไม่มีห้องน้ำคนพิการ เขาก็จะวางแผนและเตรียมตัวถูก หรืออย่างแอปพลิเคชันจองที่พัก ถ้าหากผู้สูงอายุไม่ถนัดใช้แอปพลิเคชัน ควรจะมี Call Center ไว้บริการ เราต้องมองให้ครอบคลุมทั้งระบบ”




www.brailleintl.org

“ต่อมาไปที่ขั้นตอนการจัดงาน เรามีทางเลือกในการเดินทางมาสถานที่จัดงานมากน้อยเพียงใด มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ อาทิ ที่จอดรถ ทางลาดตามกฎหมาย มีการจัดเตรียมไว้ไหม ในส่วนของเรื่องตัวอาคาร ปัญหาส่วนใหญ่ที่มักเจอคือ อาคารมีพื้นที่กว้างมาก หรือนิทรรศการเปลี่ยนผังทุกครั้งที่จัด เพราะฉะนั้นการทำข้อมูลอย่างการทำแผนที่นูนต่ำ และแผนที่อักษรเบรลล์จะช่วยได้ หรือให้เขาดาวน์โหลดแผนที่ ให้เดินตาม GPS ก็ช่วยได้เช่นกัน จุดบริการข้อมูลมีสื่อครบไหม คนหูหนวกต้องการสื่อแบบไหน คนตาบอดต้องการสื่ออย่างไร ผู้สูงอายุที่ไม่ชอบใช้สื่อแต่ชอบให้มีคนคุยด้วย เรามีคนรองรับเขาไหม เตรียมไว้เผื่อเหลือเผื่อขาด การลงทะเบียนเข้างานสามารถเปิดให้ลงทะเบียนจากที่บ้านได้ยิ่งดีเพื่อลดการมาทำหน้างาน แต่บางทีผู้สูงอายุก็อยากไปลงทะเบียนหน้างาน Wifi ก็สำคัญมาก ผู้สูงอายุบางท่านจะรู้สึกไม่สบายใจหากไม่มี Wifi”



“รวมถึงหลักของการจัดการพื้นที่ เช่น ในห้องประชุม คนตาบอดควรจะนั่งตรงไหน จะต้องนั่งใกล้ลำโพง ระบบเสียงต้องเป็นแบบอะคูสติก ไม่มีเสียงสะท้อนหรือเสียงก้อง เพราะคนตาบอดใช้หูในการรับสัมผัสเป็นหลัก ผู้ใช้วีลแชร์ต้องนั่งใกล้ประตู หากจะออกไปเข้าห้องน้ำ หรือไปทำธุระ สามารถเข้าออกได้ง่าย สำหรับคนหูหนวก ก็ต้องมีล่าม ต้องมีการจัดตำแหน่งที่ยืนให้เหมาะสม พื้นที่ที่ล่ามยืนต้องมีสีที่ตัดกันกับมือ สบายตาสำหรับคนมอง และสามารถมีพื้นที่ให้เหลือบมองวิทยากรได้ หรือเรื่องแสงสว่าง ต้องออกแบบขนาดจอ ฟ้อนต์ ตัวอักษร สีที่ใช้ และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการมองเห็นของผู้สูงอายุ”

“นอกจากนี้ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องอย่างห้องอาหาร ในหลาย ๆ ที่เป็นบุฟเฟ่ต์และมีเคาน์เตอร์สูง ทำให้ผู้ใช้วีลแชร์ตักอาหารเองไม่ได้ เก้าอี้และโต๊ะ ต้องเป็นโต๊ะที่ทำให้รับประทานอาหารร่วมกับผู้พิการได้ ในส่วนของห้องพักต้องกว้างพอที่วีลแชร์จะเข้าไปได้ ซึ่งมีรายละเอียดอย่างระบบฉุกเฉิน ระบบหนีไฟต่าง ๆ ประเด็นคือเราต้องมองทุกมิติในการใช้ชีวิตของคน ๆ หนึ่งให้ครบ มีบางงานไปจัดในสวนแต่ผู้ใช้วีลแชร์เข้างานไม่ได้ เพราะการเข็นวีลแชร์บนพื้นหญ้ามันยาก ซึ่งมันเป็นอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เราต้องช่วยกันคิดให้ละเอียดเพื่อหาทางออกให้กับผู้เข้าร่วมงานทุกกลุ่ม”

รศ. ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงการเริ่มต้นนำ Universal Design หรือ อารยสถาปัตย์ มาปรับใช้ในการจัดงานอิเวนต์ไว้ว่า “ผู้ประกอบการสามารถเริ่มทำได้เลยครับ เราสามารถเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาต่าง ๆ และช่วยกันผลักดันให้มีกฎหมายเป็นมาตรฐาน และสิ่งที่ควรต้องทำอยู่เป็นประจำคือการรับฟังข้อเสนอแนะและมีการบำรุงรักษาอยู่เสมอ เพราะทุกอย่างมีระยะการใช้งานที่ต้องซ่อม ต้องรักษา ต้องทำใหม่ และต้องปรับเปลี่ยน”



การวางแผนให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการจัดงาน เป็นสิ่งสำคัญในการทำให้การจัดงานอิเวนต์ของเราสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนได้อย่างครอบคลุมที่สุด รวมถึงการรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมงาน และการหมั่นบำรุงรักษาสิ่งต่าง ๆ จะช่วยให้เราพัฒนา และตอบโจทย์ของผู้คนได้ดีและมีความยั่งยืน

Rating :