อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัย ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก กำลังกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญในการผลิตและออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้มีบทบาทอย่างยิ่งในห่วงโซ่อุปทานและเศรษฐกิจโลก
MICE Outlook สัปดาห์นี้ จะพาทุกท่านมาเจาะลึกถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในเอเชีย พร้อมวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโต เพื่อให้ผู้ประกอบการไมซ์สามารถเข้าถึงโอกาสใหม่ในตลาดเซมคอนดักเตอร์
Key takeaways
เอเชียศูนย์กลางใหม่ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก
สงครามเทคโนโลยี (Tech war) ระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนได้ส่งผลกระทบต่อการผลิต และการค้าเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย CHIPS Act เพื่อส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตกลับมายังประเทศตนเอง (Reshoring) รวมทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน สั่งห้ามสหรัฐฯ ลงทุนด้านชิปและ AI และลดการนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมชิปจากจีน ในขณะเดียวกันจีนได้ตอบโต้ด้วยมาตรการทางการค้าที่รุนแรงเช่นกัน ทางสหรัฐฯ จึงหันมาเพิ่มการพึ่งพานำเข้าชิปจากกลุ่มอาเซียนมากขึ้น โดยในปัจจุบันมีสัดส่วนการนำเข้าถึง 42% ของการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งสร้างโอกาสให้กับหลายประเทศในเอเชียในด้านการย้ายฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์บางส่วนมายังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น
การเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ใน ASIA
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ถือเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เนื่องจากเป็นส่วนประกอบหลักในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกชนิด โดยเฉพาะในด้านของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) โดยรายงานของ Statista: Artificial intelligence (AI) Market Size Worldwide แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่รวดเร็วของเทคโนโลยี AI และคาดว่าจะเติบโตเกิน 826 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 ซึ่งเป็นสัญญาณบวกที่สามารถส่งผลต่อการขยายตัวของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มมากขึ้น
สำหรับในภูมิภาคเอเชียการเติบโตอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง จากรายงานของ Mordor Intelligence คาดว่าตลาดอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาคเอเชีย จะสร้างมูลค่าได้กว่า 466,120 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 และเติบโตอย่างต่อเนื่องถึง 695,730 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2029 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 8.34% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2024-2029) ด้วยศักยภาพทางด้านความพร้อมของทรัพยากรบุคคล เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง
โดยข้อมูลจาก SCB EIC แสดงให้เห็นว่าเอเซียมีโอกาสทางการค้าด้านเซมิคอนดักเตอร์อย่างมาก ในส่วน Front End, และ Material โดยมีสัดส่วนผู้ผลิตที่อยู่ใน East Asia อยู่ที่ 56% และ 57% ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ในขณะที่ ส่วน Back End มีฐานผู้ผลิตอยู่ในประเทศจีนถึง 38% ทั้งนี้ ผู้ผลิตเหล่านี้ยังโดดเด่นในด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง เช่น อุปกรณ์ IoT เซิร์ฟเวอร์ที่ใช้สำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการประมวลผลแบบคลาวด์ เป็นต้น
นอกจากนี้ จากผลสำรวจของ Deloitte ในรายงาน The Global Semiconductor Alliance (GSA) พบว่า บริษัทเซมิคอนดักเตอร์เกือบครึ่งหนึ่งยังคงมีความมั่นใจในศักยภาพการเติบโตของตลาด โดยคาดว่าตลาดเอเชียแปซิฟิกจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญหนุนรายได้ให้องค์กรกว่า 10% ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า สอดคล้องกับแนวโน้มที่บริษัทเซมิคอนดักเตอร์มากกว่า 75% ต่างเดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กร และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันมากขึ้น ถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และการจัดงานไมซ์ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จะกลายเป็นเวทีสำคัญในการเชื่อมโยงผู้ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน แบ่งปันความรู้ สร้างเครือข่าย และโอกาสในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรม เช่น งานแสดงสินค้าและนิทรรศการโชว์เคสเทคโนโลยี โซลูชันต่าง ๆ การจัดสัมมนา การจัดประชุม เพื่อฝึกอบรมและพัฒนาทักษะจำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยของความสำเร็จในการเป็นผู้นำของตลาดอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ มาจากบทบาทสำคัญของวิสัยทัศน์ภาครัฐ เป้าหมายที่ชัดเจนในการผลักดันประเทศสู่ศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับภูมิภาคและระดับโลก ล้วนเป็นแรงผลักดันสำคัญ รวมทั้งยังต้องพึ่งกลไกสนับสนุนทางด้านการเงินที่ต้องครอบคลุมทุกมิติของห่วงโซ่คุณค่าเซมิคอนดักเตอร์ เช่น การวิจัย พัฒนา การผลิต โครงสร้างพื้นฐาน การฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม สร้างกำลังคนที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญ รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ได้ประกาศแผนการทุ่มทุนกว่า 10 ล้านล้านวอน (ประมาณ 266,960 ล้านบาท) มุ่งเป้าไปที่การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การขยายกำลังการผลิตและการดึงดูดแรงงานที่มีทักษะสูง เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) และตั้งเป้าให้เป็นฐานการผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ทวีปเอเชีย โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ในอนาคต ด้วยความสามารถและศักยภาพอันแข็งแกร่ง ทำให้สามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ และขยายการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นวัตกรรม ภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชีย และอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างและสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาคเอเชีย
MICE Outlook สัปดาห์หน้า เราจะพาทุกคนไปเจาะลึกในมุมประเทศไทย เพื่อสำรวจความพร้อมของการเป็นผู้นำในด้านการผลิต และเป็นศูนย์กลางของการจัดงานไมซ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ต้องไม่พลาดที่จะพบกันเนื้อหาที่เข้มข้น ครบทุกแง่มุม!
แหล่งที่มา
• https://www.theasianbanker.com/updates-and-articles/pandemic-threatens-to-aggravate-semiconductors-shortage-in-southeast-asia
• https://www.freepik.com/premium-photo/plane-trucks-are- flying_2090902.htm#fromView=search&page=1&position=18&uuid=a0c98e6c-1503-471e-85ff-34705e544b59
• https://csis-website-prod.s3.amazonaws.com/s3fs-public/2023-05/fig2.jpg?• VersionId=lOpyFUfMpKidzap2ko52DDQj8KZ5xTla
• https://www.scbeic.com/th/detail/file/product/9212/gouzpo972m/SCB-EIC-In-Focus-Semiconductor-20230919.pdf
• https://storage.googleapis.com/techsauce-prod/ugc/uploads/2024/4/1712306158_Tp_800.jpg
https://www.salika.co/wp-content/uploads/2022/05/thai-EV-fac1.jpg