Limit Your Carbon Footprint แนวทางลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในการจัดงานไมซ์

Author : MICE Intelligence Team, MICE Sustainability Team
Views 6831 | 31 May 2022

อุตสาหกรรมไมซ์มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะการจัดงานอีเว้นท์มีการใช้ทรัพยากรและพลังงานที่เป็นตัวการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHGs) ดังนั้น การจัดงานอีเว้นท์ในยุคสมัยใหม่จะต้องคำนึงถึงความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญต่อการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน ส่งเสริมให้มีการจัดหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกับก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของการจัดงาน เพื่อทำให้ก๊าซเรือนกระจกสุทธิลดลง (Carbon Offset) หรือทำให้ก๊าซเรือนกระจกสุทธิลดลงเท่ากับศูนย์ (Carbon Neutral)


ทำความรู้จัก เครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของงานอีเว้นท์

ปัจจุบัน ผู้จัดงานอีเว้นท์และองค์กรต่าง ๆ มีการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่นเดียวกับที่นักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างให้ความสนใจด้านความยั่งยืนมากเช่นกัน เช่น การเลือกใช้ขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนตัวสำหรับการเดินทางของผู้เข้าร่วมงาน การปรับรูปแบบการจัดงานเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่น้อยลง การเลือกใช้วัสดุสำหรับจัดงานแสดงสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมการจ้างงานคนท้องถิ่นหรือนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้ และการจัดการขยะหรือของเสียจากการจัดงานอย่างถูกวิธี เป็นต้น



โดยหนึ่งในมาตรฐานการวัดระดับความยั่งยืนของการจัดงานในอุตสาหกรรมไมซ์ คือ Global Destination Sustainability Index (GDS-Index) ดัชนีที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจและอีเว้นท์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร เคยได้รับรางวัลอันดับ 2 ของเอเชีย เมืองพัฒนาไมซ์อย่างยั่งยืน จากคณะกรรมการโครงการ GDS ในปี 2561 โดยเปรียบเทียบกลยุทธ์ความยั่งยืนทางสังคม สิ่งแวดล้อม นโยบาย และผลการปฏิบัติงานของเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก



www.gds.earth


ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้จัดงานบรรลุวิสัยทัศน์ในการจัดงานงานอีเว้นท์อย่างยั่งยืน TCEB ได้พัฒนาเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของงานอีเว้นท์ ตั้งแต่ก่อนงาน ระหว่างงาน และหลังจบงาน โดยจะทำการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากงานอีเว้นท์ เช่น อาหาร การเดินทาง การพักแรม ของที่ระลึก รวมถึงของเสียที่เกิดขึ้น สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.micecapabilities.com/mice/uploads/attachments/Actions_for_Sustainable_Event.pdf

นอกจากนี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้จัดทำแอปพลิเคชัน“CF Event” เพื่อคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์เช่นกัน และเมื่อได้ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของงานอีเว้นท์แล้ว ผู้จัดงานสามารถต่อยอดทำการชดเชยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากงานอีเว้นท์ ด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยตามปริมาณการปล่อยเพื่อให้เป็น “Carbon Neutral Event” หรืองานอีเว้นท์ที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/post/cf-event-165

www.tgo.or.th


ช่วยโลกด้วยมือเรา จัดงานอีเว้นท์อย่างยั่งยืน 

ตัวอย่างหนึ่งของการใช้พลังงานหมุนเวียนในงานอีเว้นท์ คือ Tokyo Olympics 2020 ซึ่งตั้งใจที่จะจัดงานเมกะอีเว้นท์คาร์บอนเป็นศูนย์ครั้งแรก โดยมีเป้าหมายที่จะใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น พลังงานทั้งหมดที่ใช้ในสถานที่แข่งขันและในหมู่บ้านนักกีฬาจะถูกสร้างขึ้นจากพลังงานหมุนเวียน ตั้งแต่ป้ายโฆษณา ระบบไฟ โทรทัศน์ เครื่องทำความร้อน ลำโพง และเตา เป็นต้น นอกจากนี้ เหรียญรางวัลยังทำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 78,985 ตัน โดยผ่านกระบวนการรีไซเคิล

สำหรับการรีไซเคิล เป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการจัดการของเสีย ตลอดจนลดมลพิษอื่น ๆ เช่น ที่งาน Body and Soul Festival ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งได้รับรางวัลชมเชย Greener Festival Awards ในปี 2561 โดยรีไซเคิลขยะได้ 50.46 ตัน คิดเป็นอัตราการรีไซเคิลกว่า 60.6% ของขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด และอีกตัวอย่างหนึ่งคือ ที่วิทยาลัยชุมชนเซนต์หลุยส์ในประเทศอเมริกา ซึ่งมีการจัดงานเทศกาศรีไซเคิลทุกปี โดยพวกเขาจะนำขยะมารีไซเคิลกว่า 38 ตัน ตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พรม ตลอดจนเสื้อผ้า

www.facebook.com/BodyandSoulIreland

gcn.ie


www.agreenerfestival.com


ด้านการลดขยะจากอาหาร งานประชุมประจำปีของสมาคมการแพทย์แคนาดา (CMA) ปี 2560 ณ เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา วางแผนเชิงรุกโดยทำงานร่วมกับผู้จัดเลี้ยง โดยให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์อาหาร ตรวจสอบให้แน่ใจว่าอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ และขอให้ผู้จัดงานเลี้ยงวัดผลกระทบด้านต้นทุน ขยะอินทรีย์ และการบริจาคอาหาร โดยหลังจบงานสามารถนำขยะกว่า 2,195 กิโลกรัม หรือ 80% ของขยะที่เกิดขึ้น มาเข้าสู่กระบวนการทำปุ๋ยหมักและการบริจาคต่อไป


ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของการจัดงานอีเว้นท์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญต่อการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ สำหรับผู้ประกอบการไมซ์ที่สนใจจัดงานอย่างอย่างยั่งยืน สามารถอ่านคู่มือการจัดงานแบบ Carbon Neutral ได้ที่นี่ http://www.micecapabilities.com/mice/uploads/attachments/Carbon_Neutral_Events_Guidebook_(TH).pdf

ส่วน MICE Outlook EP ถัดไป ทุกท่านจะได้ชมตัวอย่างของการจัดงานประชุมสัมมนาอย่างยั่งยืนแบบจัดเต็ม! จะมีงานอะไรบ้าง จัดที่ไหน ติดตามได้เร็ว ๆ นี้


อ้างอิง
• About the GDS-Index. https://www.gds.earth/wp-content/uploads/Methodology-GDS-Index-2021.pdf

• Net Zero Carbon Events: https://netzerocarbonevents.org/
• 
Project Drawdown: 10 ways to reduce your event’s carbon footprint. https://www.positiveimpactevents.com/resources/10-ways-to-reduce-your-events-carbon-footprint

Rating :