กระแสความนิยมการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม อย่างงานเทศกาลและคอนเสิร์ต กำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและได้ถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในหลายประเทศหลังจากสถานการณ์โควิด 19 โดยนับเป็นโอกาสที่สำคัญของประเทศไทยในการนำจุดแข็งด้านวัฒนธรรมมาต่อยอดเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการจัดงานเทศกาล (Festival Economy) ตลอดจนได้แสดงศักยภาพในการจัดงานที่หลากหลายของประเทศไทยที่มีความพร้อมในการเป็นจุดหมายของการจัดกิจกรรมระดับโลก
MICE Outlook สัปดาห์นี้ จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจในโอกาสของประเทศไทยในการจัดงานเทศกาลจากกระแสความนิยมและแนวโน้มของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ พร้อมทั้งนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของงานเทศกาลไทย และบทบาทของภาครัฐและเอกชนในการร่วมมือกันผลักดัน Festival Economy
Key takeaways
• “เศรษฐกิจเทศกาล" หรือ "Festival Economy" เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ผ่านการจัดงานเทศกาลหลากหลายรูปแบบ เช่น งานเทศกาลดนตรี งานเทศกาลอาหาร งานเทศกาลวัฒนธรรม ซึ่งมีศักยภาพดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นการใช้จ่าย ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่น
• การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กลยุทธ์ Festival Economy เพื่อผลักดันให้ประเทศเป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานและเทศกาลนานาชาติ จำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพของเมือง โครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร
• “Festival Economy” สามารถต่อยอดไปสู่การเป็น “Festival Tourism” ได้ในอนาคตได้ เนื่องจากนักเดินทางยุคใหม่ต้องการมากกว่าแค่การเที่ยวชมสถานที่ แต่พวกเขาต้องการสัมผัสวัฒนธรรม วิถีชีวิต และประสบการณ์ท้องถิ่นผ่านงานเทศกาลที่มีเอกลักษณ์
Festival Economy “เมื่อเศรษฐกิจดีได้ด้วยงานเทศกาล”
"เศรษฐกิจเทศกาล" หรือ "Festival Economy" ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ผ่านงานเทศกาลหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นงานเทศกาลดนตรี งานเทศกาลอาหาร งานเทศกาลวัฒนธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งมีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งนี้ นอกเหนือจากความสนุกสนาน และความประทับใจที่ผู้เข้าร่วมงานได้รับ ความสำเร็จของงานเทศกาลยังสามารถวัดได้จากมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จับต้องได้ และรายได้จำนวนมากที่กระจายไปยังผู้ประกอบการในท้องถิ่น
https://brandinside.asia/singapore-global-competitiveness-report-2019/
โดยล่าสุดรัฐบาลสิงคโปร์ได้บรรลุข้อตกลงกับทาง Taylor Swift นักร้องชื่อดังชาวอเมริกัน ในการเดินทางมาจัดคอนเสิร์ตในประเทศ ส่งผลให้มีนักเดินทางทั่วโลกกว่า 200,000 คน เดินทางเข้าร่วมชมคอนเสิร์ต ทำให้ยอดจองตั๋วเครื่องบินและที่พักในสิงคโปร์สูงขึ้นหลายเท่าตัว สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศรวมกว่า 14,000 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากความพร้อมของประเทศสิงคโปร์ ทั้งด้านสถานที่ซึ่งรองรับการจัดงานในทุกรูปแบบ ความสะดวกของการคมนาคมและขนส่งสาธารณะ ความปลอดภัย และการสนับสนุนงบประมาณในการจัดงานจากหน่วยงานภาครัฐอย่าง Singapore Tourism Board (STB) ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Trade and Industry) ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและผลักดันให้สิงคโปร์เป็น Entertainment Hub ศูนย์กลางแห่งกิจกรรมและความบันเทิงของเอเชีย
ในส่วนของประเทศไทย ช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีศิลปินดังทั้ง Coldplay และ Ed Sheeran เข้ามาจัดคอนเสิร์ต และสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศไทยกว่า 4-5 พันล้านบาท โดยได้เลือกสถานที่จัดแสดงอย่าง ราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งเป็นสนามกีฬากลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และใหญ่เป็นอันดับ 17 ของเอเชีย สามารถรองรับผู้เข้าชมภายในอาคาร 80,000 คน และอัฒจันทร์อีกกว่า 51,500 ที่นั่ง ซึ่งนอกจากการจัดงานคอนเสิร์ต ประเทศไทยยังมีศักยภาพและได้เปรียบในเรื่องของพื้นที่การจัดงานที่เป็นพื้นที่โปร่ง โล่ง และมีขนาดกว้างขวาง จากตัวอย่างการจัดงานเทศกาลดนตรีทั่วประเทศไทย และเทศกาลประเพณีไทยต่าง ๆ มากมาย เช่น Wonderfruit, Big Mountain Music Festival , E-san Music Festival, งานเทศกาลยี่เป็ง เป็นต้น ล้วนแต่จัดงานบนพื้นที่กว้างขวาง เพื่อต้อนรับผู้เข้าร่วมงานทั้งไทย และต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก จึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องของสถานที่การจัดงานที่หลากหลาย สามารถรองรับการจัดงานทั้งงานคอนเสิร์ต และการจัดงานเทศกาล
ไม่เพียงเท่านั้นประเทศไทยยังถือว่าได้เปรียบในเรื่องของความคุ้มค่า ด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ามาร่วมงาน ที่พัก อาหาร เป็นต้น รวมทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม สิ่งเหล่านี้เป็นการยืนยันถึงความพร้อมในการเป็นเมืองเป้าหมายของกิจกรรมไมซ์หรือกิจกรรมที่มีความสำคัญในภูมิภาคและระดับนานาชาติต่อไป ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการเป็นสถานที่จัดงานที่ครอบคลุมทุกประเภท ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างแรงขับเคลื่อนให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางของการจัดงานไมซ์ระดับโลก
ศักยภาพของประเทศไทยในการสร้าง “มรดกทางเศรษฐกิจ” ผ่านงานเทศกาล สำหรับประเทศไทยที่มีต้นทุนวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นภาพจำที่สามารถสื่อสารกับคนทั่วโลก ซึ่งสามารถนำมาเป็นจุดแข็งต่อยอดการจัดงานเทศกาลที่สร้างสรรค์ได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น เทศกาลสงกรานต์ของไทยที่มีการสืบสานกันมาอย่างยาวนาน โดยในปี 2024 คาดว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะช่วยสร้างรายได้ในประเทศถึง 24,420 ล้านบาท จากชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศประมาณ 4,299,500 คน สร้างรายได้หมุนเวียนประมาณ 15,660 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยประมาณ 510,000 คน ซึ่งสร้างรายได้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 8,760 ล้านบาท
https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2765259
โดยนอกจากประเพณีดั้งเดิมที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติของไทยอย่างการสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ยังได้ผสมผสานความทันสมัย และต่อยอดรูปแบบการจัดงานให้เข้ากับบริบทปัจจุบันมากขึ้น ตัวอย่างเช่น งานเทศกาลดนตรี SIAM Songkran Music Festival ได้จัดต่อเนื่องกันมาหลายปี ภายใต้คอนเซปต์ “Siam Culture” เป็นการแสดงดนตรี EDM ที่รวบรวมดีเจชื่อดังระดับโลกมาไว้ที่ประเทศไทย หรือการจัดงาน “S2O Songkran Music Festival” ได้เปลี่ยนงานเทศกาลสงกรานต์ดั่งเดิมให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความบันเทิง Entertainment Platform โดยมีการนำนวัตกรรมเทคนิคน้ำ 360 องศา ที่จะสาดความเปียกไปทุกตารางนิ้ว พร้อมด้วยการสร้างเอฟเฟกต์ใหม่ ๆ ที่เข้ามาสร้างประสบการณ์ Unique Experience ในทุกสัมผัส ซึ่งสามารถดึงดูดนักเดินทางได้ทั่วโลก และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทยได้อย่างมหาศาล
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความเป็นไทย” (Thainess) คือเสน่ห์ที่ดึงดูดให้นักเดินทางทั่วโลกอยากเดินทางมาสัมผัสซี่งงานเทศกาลต่าง ๆ ของไทยได้ผสมผสานความสนุกสนาน ความบันเทิง และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว สอดรับกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน จากการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางของชาวไทยโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า กลุ่ม Gen-Y และ Gen-Z ให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่แปลกใหม่ และนิยมท่องเที่ยวด้านดนตรี และการแสดงมากกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ในขณะที่กลุ่ม Silver Age และกลุ่ม Gen-X มีความสนใจในการเข้าร่วมเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีไทย โดยที่นักท่องเที่ยวที่จะเข้าร่วมงานเทศกาลกว่า 83.20% ยังนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวรอบ ๆ ที่จัดงานก่อนหรือหลังร่วมกิจกรรมอีกด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์และเป็นโอกาสที่ทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน ตลอดจนผู้ประกอบการและชุมชนจะร่วมมือกันต่อยอด และผลักดันการจัดงานเทศกาลไทยให้ตอบโจทย์นักเดินทางสายเทศกาลด้วยความเข้าใจ ผ่านการออกแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ตรงกับความสนใจ และความคาดหวังของนักเดินทาง
“Festival Economy” จึงเป็นกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์นักเดินทางยุคใหม่ที่มองหาประสบการณ์แปลกใหม่และน่าจดจำ ซึ่งผลสำรวจจาก Event Tourism Market Outlook 2024 ชี้ให้เห็นตัวเลขที่น่าสนใจของการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรมซึ่งรวมถึงการจัดเทศกาล การจัดงานคอนเสิร์ต และการแข่งขันกีฬา โดยในปี 2023 มีมูลค่าถึง 1.63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะมีมูลค่าตลาดโดยรวมสูงถึง 2.38 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2034 แนวโน้มดังกล่าวแสดงทิศทางของตลาดที่รองรับการเติบโตของงานเทศกาลทั่วโลก ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การเป็น “Festival Tourism” ในอนาคตได้
MICE Outlook สัปดาห์หน้า เราจะขอพาทุกท่านมาร่วมเจาะลึกประเด็นของการนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับประสบการณ์การจัดงานเทศกาล เพื่อช่วยเสริมสร้างบรรยากาศ และประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น ตลอดจนสร้างประสบการณ์การเชื่อมโยงระหว่างผู้เข้าร่วมงานกับกิจกรรมภายในงาน ต้องไม่พลาดที่จะพบกับเนื้อหาเข้มข้นที่ครอบคลุมทุกแง่มุม
ที่มา
• ถอดรหัส ‘คอนเสิร์ต’ ระดับโลก https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1117222
• Coldplay และ Ed Sheeran https://www.thairath.co.th/news/politic/2762341
• ตลาดการท่องเที่ยวไทย https://intelligencecenter.tat.or.th/articles/55994
• Event Tourism Market https://www.futuremarketinsights.com/reports/event-tourism-sector-outlook#:~:text=Recording%20a%20y%2Do%2Dy%20growth%20of,US%24%202.38%20trillion%20by%202034.
• Klook stat https://www.bangkokpost.com/business/general/2741649/klook-sees-2m-bookings-for-thai-packages
• SIAM Songkran Music Festival: https://adaymagazine.com/siam-songkran-music-festival-2023/
• คาดการณ์รายได้จากเทศกาลสงกรานต์: https://www.matichon.co.th/economy/news_3911713
• เทศกาลของสิงคโปร์: https://www.agoda.com/th-th/travel-guides/singapore/events-in-singapore-annual-festivals-activities-for-every-season/?cid=-218
• Singapore defends Taylor Swift’s exclusive Southeast Asia stop after neighbors cry foul: https://edition.cnn.com/2024/03/05/asia/singapore-taylor-swift-southeast-asia-intl-hnk/index.html
• Formula One World Championship https://www.brandage.com/article/36476
• นโยบาย TCEB: https://mgronline.com/business/detail/9660000096376
• บูม ‘มหาสงกรานต์ 2567’ ปลุกเศรษฐกิจไทย ผงาด TOP 10 เฟสติวัลระดับโลก: https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1117409#google_vignette
• งาน SIAM Songkran Music Festival 2024: https://www.thansettakij.com/business/marketing/591511
• งาน S20: https://www.marketingoops.com/news/brand-move/s2o-festival-go-inter/