Growing Together: Community Care is the answer เพิ่มคุณค่างานไมซ์ สร้างสรรค์อย่างใส่ใจชุมชน

Author : MICE Intelligence Team
Views 3827 | 27 Jul 2023
อุตสาหกรรมไมซ์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการจัดงานและกิจกรรมไมซ์สามารถสร้างรายได้และผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคการเดินทาง ธุรกิจที่พักและโรงแรม แหล่งท่องเที่ยว สถานที่จัดงาน ร้านอาหาร รวมไปถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) ให้มีศักยภาพในการแข่งขัน ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนเพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนให้ดีขึ้น

โดยวันนี้จะพาทุกท่านมาร่วมพูดคุยไปกับ คุณเอซ ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery ภายใต้บริษัท ครีเอทีฟ มูฟ จำกัด ผ่านเรื่องราวการสนับสนุนชุมชนหรือ “Community Care” ในการจัดกิจกรรมตลาดสีเขียว (Greenery Market) เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการชุมชนได้นำสินค้ามาจัดจำหน่ายบนพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ช่วยสร้างรายได้ และต่อยอดธุรกิจชุมชนให้มีช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่ระดับใหญ่ขึ้น


ตีโจทย์ความยั่งยืนสู่การออกแบบกิจกรรมสนับสนุนชุมชน
   
     เมื่อนึกถึงความยั่งยืน หลายคนมักนึกถึงการดูแลใจใส่สิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่รู้หรือไม่ว่า ? การพัฒนาที่ยั่งยืนควรเป็นการผสมผสานการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศเข้าไว้ด้วยกันอย่างสมดุล รวมถึงต้องส่งเสริมให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข “มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้ระบบบริหารจัดการที่ดีด้วย” ซึ่งทางคุณธนบรูณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery แพลตฟอร์มเจ้าของเนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างความเข้าใจในการใช้ชีวิตที่ยั่งยืนให้กับทุกคน ซึ่งดำเนินการควบคู่ไปกับการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งชุมชนซึ่งเป็นต้นน้ำของสายพานการผลิตสินค้า

https://urbancreature.co/greenery-sustainable-lifestyle/

อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนที่ทาง Greenery คาดหวังอาจไปได้ไม่สุดทางหากไม่สามารถทำให้ "ชุมชม" กลายเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของทุกคน จึงได้พยายามหาแนวทางใหม่ ๆ ที่จะขยายคอมมูนิตี้ให้กว้างขึ้น ให้ผู้คนสามารถใกล้ชิดและเข้าถึงชุมชนได้ง่ายขึ้น ก่อให้เกิดการจุดประกายไอเดียในการสร้างสรรค์กิจกรรมตลาดสีเขียว หรือ “Greenery Market” มาอยู่ใจกลางเมือง และดึงเกษตรกรจากชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เสมือนเป็นสะพานให้เกษตรกรกับผู้บริโภคได้มาพบกัน


เปลี่ยนพื้นที่ใจกลางเมืองให้เป็น Greenery Market

จุดเริ่มต้นของกิจกรรมสร้างสรรค์ “Greenery Market” มาจากความตั้งใจที่ต้องการให้ผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองมีสุขภาพดีจากการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ และสนับสนุนให้เกษตรในแหล่งชุมชนมีรายได้ทำให้คุณธนบูรณ์ และทีมงานลงพื้นที่เฟ้นหาเกษตรจากแหล่งชุมชนเพื่อนำมาจัดจำหน่ายไม่ว่าจะเป็นอาหารปลอดภัย ผักสด ผลไม้อินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน ข้าวดีพันธุ์ท้องถิ่น อาหารทะเลจากประมงพื้นบ้านปลอดสารเคมีปศุสัตว์อินทรีย์ รวมไปถึงสินค้าเอกลักษณ์เฉพาะแต่ละท้องถิ่น เช่น ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมงานได้เพลิดเพลินกับเวิร์กช็อป นิทรรศการ งานเสวนา และการแสดงดนตรี เพื่อร่วมกัน “สร้างวิถี กินดี กรีนดี ไปด้วยกัน ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของการจัดงานในแต่ละครั้ง

https://www.facebook.com/GreeneryMarketOrg

ภายในงานจะมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายหมุนเวียนเข้ามาจำหน่าย โดยเครือข่ายเกษตรกรประมาณ 130 กลุ่มจาก 33 จังหวัด ซึ่งจะหมุนเวียนสลับกันกันเข้าร่วมกิจกรรมครั้งละ 40 ราย โดยไม่มีการจำกัดประเภทของผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการจากแหล่งชุมชนสามารถนำงานฝีมือ พืชผลทางการเกษตร รวมถึงอาหารต่าง ๆ เข้ามาร่วมจำหน่ายได้อย่างอิสระบนพื้นที่แห่งนี้ โดยทางคุณธนบูรณ์ได้แชร์แนวคิดการจัดสรรพื้นและวิธีการบริหารตลาดสีเขียวว่า “ทุกครั้งที่เราจัดตลาดจะมีการกันพื้นที่ประมาณ 20-30% ไว้ให้ผู้ขายหน้าใหม่ เพื่อเป็นการกระจายโอกาสให้พวกเขาเติบโต” ทำให้การจัดงานแต่ละครั้งผู้เข้าร่วมงานจะเห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สลับเปลี่ยนในทุกรอบของการจัดงานบนพื้นที่ใจกลางเมือง เช่น Siam Square, Siam Discovery, Bon Marché Market Park และ True Digital Park 101 เป็นต้น ซึ่งจากการจัดสรรพื้นที่อย่างเท่าเทียม การเลือกพื้นที่กลางเมืองใกล้รถไฟฟ้าที่มีผู้คนสัญจรไปมาตลอดเวลา ทำให้ Greenery Market สามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมงานในแต่ละครั้งจำนวนมาก ซึ่งสามารถสร้างรายได้และนำไปสู่การขยายฐานลูกค้าให้สินค้าชุมชนเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น


รับฟังปัญหา นำไปสู่การพัฒนาการจัดงานให้ดียิ่งขึ้น

Greenery Market กลายเป็นคอมมูนิตี้สีเขียวที่ได้รับการตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่องจากผู้เข้าร่วมงานโดยหนึ่งในปัจจัยของความสำเร็จคือการให้โอกาสชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี โดยคุณธนบูรณ์ได้แชร์ถึงการจัดงานแต่ละครั้งว่า “ทุกครั้งเมื่อการจัดตลาดสิ้นสุดลง ผู้จัดงานและผู้ประกอบการจากชุมชนจะมานั่งพูดคุยกันถึงการจัดงานทุกครั้ง เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะที่สามารถนำมาปรับใช้ในการพัฒนาตลาด Greenery Market ให้ดียิ่งขึ้น” ทำให้การจัดงานทุกครั้งมักจะมีผู้เข้าร่วมงานหน้าใหม่สลับเปลี่ยนเข้ามาเยี่ยมชมจับจ่ายซื้อของในตลาด และได้รับความพึงพอใจกลับไปเสมอ

https://www.facebook.com/GreeneryMarketOrg

ยิ่งไปกว่านั้น Greenery Market ยังช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถพัฒนาตนเองไปเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ขึ้นได้จากการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภครายใหญ่หรือผู้ที่มีกำลังซื้อ รวมถึงผู้ประกอบการอย่างร้านอาหารและโรงแรมที่ต้องการนำสินค้าชุมชนที่ได้มาตรฐานไปต่อยอดเป็นส่วนหนึ่งของบริการในธุรกิจโดยทางคุณธนบูรณ์เล่าถึงเหตุการณ์จริงจากผู้ประกอบการชุมชนว่า “เกษตรกรที่นำสินค้าน้ำตาลสดทำจากดอกมะพร้าวน้ำหอมมาจำหน่ายในตลาด และได้มีโอกาสนำเสนอผลผลิตให้กับเจ้าของร้านอาหารขนาดใหญ่และชื่นชอบในรสชาติ จึงติดต่อเกษตรกรโดยตรงเพื่อทำการสั่งซื้อในปริมาณมากหลายร้อยขวดต่อเดือน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรมีข้อจำกัดในด้านกำลังการผลิต จึงเกิดการชักชวนเพื่อน ๆ ในชุมชนมาร่วมกันผลิต ผลลัพธ์ที่ได้ คือ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า สามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และเกิดการจ้างงานในชุมชน” 


https://www.facebook.com/GreeneryMarketOrg

ปรับมุมมองต่อความท้าทายให้กลายเป็นเรื่องปกติ 

ทุกขั้นตอนของการทำงานหลาย ๆ ธุรกิจมักเจอกับความท้าทายที่เข้ามาในรูปแบบต่างกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับ Greenery ซึ่งในช่วงแรกของการดำเนินงานนั้นต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในการหาภาคีเครือข่ายและผู้ประกอบการในชุมชนเพื่อเชิญชวนให้เข้ามาร่วมกิจกรรม โดยคุณธนบูรณ์ได้เล่าถึงประเด็นนี้ว่า “ชุมชนที่เราเข้าไปทำงานด้วยมีผู้ประกอบการที่เขาอาจมีข้อกังวลใจเรื่องความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยโดยสิ่งที่เราต้องทำ คือ การส่งข้อมูล เช่น สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ greenery.org หรือเฟซบุ๊ก รวมทั้งมีการพูดคุยอย่างจริงใจ โปร่งใส สื่อสารอย่างชัดเจน และตรงไปตรงมาถึงสิ่งชุมชนจะได้รับในการเข้าร่วมกิจกรรม” ท้ายที่สุดเขาก็จะมีความมั่นใจว่าทาง Greenery จะสามารถสร้างโอกาสดี ๆ ให้กับเขาได้ จึงนำไปสู่การตอบตกลงเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเต็มใจ

https://www.facebook.com/GreeneryMarketOrg

อีกหนึ่งความท้ายทาย คือ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจาก Greenery Market ล้วนจัดในพื้นที่ใจกลางเมือง ซึ่งหากต้องเสียค่าเช่าอาจกระทบกับต้นทุนของผู้ประกอบการที่นำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายและผู้ร่วมงานเองจะต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งคุณธนบูรณ์ได้ตระหนักถึงข้อจำกัดนี้ จึงได้ประสานความร่วมมือและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการชุมชนไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย และทำให้สินค้าในตลาดแห่งนี้มีราคาที่เป็นมิตรกับผู้ซื้อ เป็นธรรมกับเกษตรกรและชุมชน


ทุกกิจกรรมไมซ์ คือ โอกาสใหม่ของชุมชน

การทำกิจกรรมที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และเกื้อกูลสังคมยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากหลายหน่วยงานออกมาสนับสนุนร่วมมือกันจัดกิจกรรมที่สอดรับกับแนวคิดของ “Community Care” เช่นเดียวกับ Greenery Market ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชนในการจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ แต่สำหรับผู้ประกอบการไมซ์จะสามารถจัดกิจกรรมอย่างไร? เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนชุมชนสู่ทิศทางที่ดีขึ้น

โดยคุณธนบูรณ์ได้แชร์ไอเดียแก่ผู้ประกอบการไมซ์ไว้เล็กน้อยถึงการเลือกทำกิจกรรมที่ส่งเสริมความก้าวหน้าของชุมชน สามารถเริ่มจากจุดแข็งที่ผู้ประกอบการมี เช่น หากมีองค์ความรู้ การเข้าไปสนับสนุนให้ผู้ประกอบการชุมชนมีความรู้และสามารถนำมาต่อยอดได้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี รวมไปถึงการแสดงเจตจำนงเป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงความรับผิดชอบต่อชุมชน



การจัดงานอีเวนต์ การประชุม และกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก อาจทำให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อชุมชนไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม การเสื่อมสภาพของทรัพยากร ปัญหาขยะและของเสีย ปัญหาการจราจร ความแออัด รวมถึงรบกวนวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เป็นต้น การจัดงานและกิจกรรมไมซ์จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงแนวคิดการสร้างสรรค์กิจกรรมที่ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน ด้วยการผลักดันให้มีการนำต้นทุนทางสังคม และภูมิปัญญาของชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ มีการบริหารจัดการที่ดี และเกิดการร่วมมือระหว่างสมาชิกในชุมชนกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ การมุ่งให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน


Rating :