AI's Role in MICE Ethical Reflections จริยธรรมของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในงานไมซ์

Author : MICE Intelligence Team
Views 3656 | 24 May 2024
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เปรียบเสมือนเครื่องมือทรงพลังที่ช่วยยกระดับประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมงาน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดงาน และสร้างโอกาสใหม่ ๆ มากมายให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ แต่การนำ AI มาประยุกต์ใช้ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ คำนึงถึงจริยธรรมและผลกระทบที่ตามมา เพื่อให้การจัดงานไมซ์มีประสิทธิภาพ สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี

MICE Outlook สัปดาห์นี้ จะพาทุกท่านไปพบกับแง่มุมของความท้าทายในด้านจริยธรรมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เทคโนโลยีนี้บนพื้นฐานและแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จในการจัดกิจกรรมไมซ์ที่ยั่งยืน



Key takeaways
• การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในการสร้างสรรค์กิจกรรมไมซ์สามารถก่อให้เกิดทั้งประโยชน์ และความเสี่ยง  ผู้ประกอบการไมซ์จึงต้องใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ  เคารพถึงสิทธิมนุษยชน  ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล  สื่อสารอย่างโปร่งใส  เพื่อป้องกันปัญหาด้านจริยธรรม  และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการจัดงานไมซ์
• ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงบริษัทผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาด้านจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จึงร่วมมือกันในการขับเคลื่อนจริยธรรม (AI Ethics) ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
• การจัดนิทรรศการ "Willy Wonka" ณ ประเทศสกอตแลนด์ ผู้จัดงานใช้ Generative AI ออกแบบภาพประชาสัมพันธ์ "Willy's Chocolate Experience" ซึ่งสามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การจัดงานถูกจัดขึ้นในโกดังที่ตกแต่งด้วยวัสดุราคาถูก และกิจกรรมไม่สนุกเหมือนที่โปรโมตไว้ ทำให้ผู้เข้าร่วมงานผิดหวัง




จริยธรรม AI หลักการสำคัญสำหรับการจัดกิจกรรมไมซ์

การใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในอุตสาหกรรมภาคบริการ รวมถึงอุตสาหกรรมไมซ์เป็นที่นิยม และแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในด้านการพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดผ่านการออกแบบเนื้อหาอย่างสร้างสรรค์ และสร้างประสบการณ์ที่เหนือระดับให้แก่นักเดินทางไมซ์ได้  อย่างไรก็ตาม การใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างไร้หลักการจะนำมาสู่ “ปัญหาทางจริยธรรม” ได้ เช่น ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความเป็นส่วนตัว การสร้างสรรค์ข้อมูลที่คาดเคลื่อนจนก่อให้เกิดการเข้าใจที่บิดเบือน เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการจัดงานไมซ์


ดังตัวอย่างกรณีศึกษาของการจัดงานนิทรรศการ Willy Wonka ณ ประเทศสกอตแลนด์ ที่ได้นำการใช้ Generative AI เข้ามาช่วยในการออกแบบภาพประชาสัมพันธ์ “Willy's Chocolate Experience”  โดยได้ทำการโฆษณาไปยังช่องทางต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ เพื่อเชิญชวนผู้เข้าร่วมงานสัมผัสประสบการณ์ดินแดนแห่งช็อกโกแลต ด้วยสื่อประชาสัมพันธ์ที่สวยงาม น่าตื่นตาตื่นใจ ทำให้ผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากสนใจซื้อบัตร และคาดหวังที่จะได้พบกับประสบการณ์ที่แปลกใหม่จากการร่วมงาน
https://miro.medium.com/v2/resize:fit:1400/1*8SD7k6dDXG1ZfzvOeygSZw.png
https://thefinanser.com/2024/03/the-willy-wonka-world-of-ai

อย่างไรก็ตาม นิทรรศการ Willy Wonka กลับถูกจัดขึ้น ณ โกดังแห่งหนึ่ง ที่ถูกตกแต่งด้วยฉากพลาสติกราคาถูก และวางกระจัดกระจายอย่างไร้ระเบียบ นักแสดง ตัวละครต่าง ๆ ที่เตรียมต้อนรับผู้เข้าร่วมงานแต่งกายด้วยชุดราคาถูก กิจกรรมภายในงานไม่สนุก ตื่นเต้น เหมือนที่โปรโมตไว้ ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมงานผิดหวังเป็นอย่างมาก และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักบนโลกออนไลน์ เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงบทเรียนสำคัญสองประการคือ ประการแรก เครื่องมือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ในการสร้างภาพที่สวยงาม เพื่อให้สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานได้ ประการที่สอง ผู้เข้าร่วมงานจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณ และพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของการจัดงาน ผ่านการตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างละเอียด ค้นหาข้อมูลผู้จัดงาน เพื่อให้ไม่หลงกลกับภาพประชาสัมพันธ์ที่สวยงาม ทั้งนี้ หากไม่แน่ใจข้อมูล สามารถปรึกษาหรือติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอข้อมูลได้ เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

https://www.whiskeyriff.com/2024/02/28/this-disaster-of-a-willy-wonka-experience-is-the-best-thing-on-the-internet-right-now/

นอกจากนี้การใช้งานของ Generative AI ยังมีข้อกังวลด้านจริยธรรมในประเด็นของ การคัดลอกเนื้อหา รวมทั้งมุมมองในเชิง ศิลปะ ว่า การใช้ AI อย่าง ChatGPT, Dall-E, Midjourney, StableDiffusion เป็นต้น ในการออกแบบผลงาน ขาดความคิดสร้างสรรค์ และ ลดทอนคุณค่าของงานศิลปะ ตัวอย่างงาน “Bangkok Design Week 2024” ที่เลือกใช้ภาพโปรโมตงานจาก AI แทนที่จะให้ศิลปินออกแบบ ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเหล่านักออกแบบจำนวนมาก ถึงการปิดกั้นโอกาส และลดทอนความสามารถของศิลปินไทย สะท้อนให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่าง Generative AI ในการออกแบบผลงานสร้างสรรค์ที่ผู้จัดงานต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อภาพลักษณ์ในการจัดงาน

https://www.nationtv.tv/news/social/378939235

อีกหนึ่งข้อกังวลของการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความเป็นส่วนตัวของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยี Facial Recognition ที่ได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยจดจำใบหน้า เพื่อยืนยันตัวตน มักนิยมใช้ในการเช็กอินที่พัก การลงทะเบียนเข้าร่วมงาน เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งยังช่วยยกระดับความปลอดภัยแก่ผู้เข้าร่วมงาน อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้หลาย ๆ  หน่วยงานตลอดจนผู้เข้าร่วมงานกังวลถึงข้อมูลส่วนบุคคล เพราะการวิเคราะห์ข้อมูลใบหน้า ถือเป็นข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน และการเก็บรวบรวมใช้งานข้อมูลเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ดังนั้น การยกระดับการจัดงานไมซ์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้ประสบความสำเร็จ ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เคารพสิทธิมนุษยชน และความเป็นส่วนตัวของผู้เข้าร่วมงานทุกคน

https://www.politico.eu/article/facial-recognition-artificial-intelligence-act-ai-issue-european-parliament/


“Responsible AI” กรอบแนวคิดเพื่อการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างยั่งยืน

ศักยภาพของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ไร้ขีดจำกัด แต่ในขณะเดียวกัน หากผู้ใช้งานประยุกต์ใช้อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่มีความรับผิดชอบ จะนำไปสู่ปัญหาทางจริยธรรม อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงบริษัทผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงร่วมมือกันขับเคลื่อนจริยธรรมในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI Ethics) ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อปูรากฐานไปสู่การใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible AI)

โดยสหภาพยุโรป (EU) ได้อนุมัติกฎหมายควบคุมปัญญาประดิษฐ์ครั้งแรกของโลก ที่จะเริ่มบังคับใช้ปี 2568 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม และปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ผ่านการตรวจสอบความเสี่ยงการใช้งาน AI รูปแบบต่าง ๆ และการเพิ่มความรับผิดชอบของผู้ผลิต AI เป็นต้น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่หลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ได้ออกมาเคลื่อนไหวในการให้ข้อมูลด้านจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แก่ประชาชน อย่างสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้มีการร่วมมือกับบริษัท ไมโครซอฟต์ ในการออก “หลักการและแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย” ซึ่งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและการป้องกันข้อมูล (Data Protection) เพื่อนำไปสู่จุดสมดุลระหว่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและจริยธรรม ซึ่งความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถือเป็นการส่งสัญญาที่ดีในการขับเคลื่อนประเด็นด้านจริยธรรมของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

https://www.linkedin.com/pulse/embrace-power-multi-modal-generative-ai-event-shlomi-ashkenazi-qlpgf/

การใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือช่วยในการสร้างสรรค์กิจกรรมไมซ์ ถือเป็นการนำนวัตกรรมที่มีมายกระดับประสิทธิภาพของการดำเนินงาน ในขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ ผู้ประกอบการไมซ์จำเป็นต้องระมัดระวังในการใช้เครื่องมือนี้ด้วยความรับผิดชอบ เช่น การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล การไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่สื่อสารเกินความเป็นจริง สื่อสารกับผู้เข้าร่วมงานให้ทราบหากมีการเก็บข้อมูล เป็นต้น เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อสังคม และภาพลักษณ์ของการจัดงาน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการใช้ปัญญาประดิษฐ์จะมีข้อกำหนดและกฎหมายที่มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะถูกนำไปใช้ เพื่อประโยชน์ของผู้เข้าร่วมงาน สังคม และอนาคตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมไมซ์

MICE Outlook สัปดาห์หน้า เราจะพาทุกท่านร่วมเจาะลึกข่าวสารการเคลื่อนไหวของภาครัฐ ในการเสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน Formula One 2027 พร้อมวิเคราะห์โอกาสและความท้าทาย ที่ประเทศไทยจะได้รับ ไม่พลาดที่จะติดตามเนื้อหาที่เข้มข้น ครบทุกแง่มุม!

 
แหล่งที่มา
• Willy Wonka event goes: https://meetings.skift.com/wonky-ai-fuels-mini-fyre-festival/ , https://www.yahoo.com/news/terrifying-willy-wonka-event-used-ai-images-to-mislead-guests-heres-how-to-avoid-getting-duped-by-fake-marketing-photos-191205992.html , https://petapixel.com/2024/02/28/families-scammed-by-ai-images-that-promised-willy-wonka-style-event/https://www.thisismoney.co.uk/money/beatthescammers/article-13154213/Willy-Wonka-flop-fooled-customers-AI-ads-similar-used-scammers-Heres-spot-one.html
• เทศกาลงานออกแบบ Bangkok Design Week: https://www.rainmaker.in.th/bangkok-design-week-ai-issue/#google_vignette
• Face Recognition for Events: Elevate Check-in, Registration & Security Measures: https://www.dreamcast.in/blog/facial-recognition-for-events/
• EU อนุมัติกฎหมายควบคุม AI ครั้งแรกของโลก เริ่มบังคับใช้ปี 68: https://www.thansettakij.com/world/590863
• ยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์ รวบรวม กฎหมายและการกำกับดูแล AI ในไทย ไปถึงไหนแล้ว?: https://www.thairath.co.th/money/tech_innovation/digital_transformation/2752978 , https://www.opengovasia.com/2019/11/04/thailand-drafts-ethics-guidelines-for-ai/ , https://artificialintelligenceact.eu/high-level-summary/

Rating :