BRICS ขั้วอำนาจใหม่ของเศรษฐกิจโลก และโอกาสทางธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ไทย

Author : mice intelligence team
Views 1416 | 24 Sep 2024
จากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างจำกัด หลากหลายประเทศจึงเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มเพื่อยกบทบาทของประเทศ และหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยสมัครเข้าร่วมการเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรวมตัวของประเทศที่มีการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

MICE Outlook สัปดาห์นี้ เราจะพาทุกท่านมาร่วมสำรวจโอกาส และความท้าทายของประเทศไทยกับการเข้าร่วมกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) พร้อมวิเคราะห์ถึงการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนี้จะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย



Key takeaways:
• การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะส่งผลทำให้ภาพรวมของประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มแบ่งขั้ว (Decoupling) ตลอดจนช่วยขยายโอกาสในการส่งออกสินค้า ลดอุปสรรคด้านการค้า เข้าถึงการลงทุนและเทคโนโลยี ความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ (MICE)
• โดยหากทำการเจาะมายังอุตสาหกรรมไมซ์ ในปี 2566 มีจำนวนนักเดินทางไมซ์จากกลุ่มประเทศ BRICS ราว 329,435 คน ซึ่งมีอัตราการเติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 178.9% โดยกว่า 41.6% เป็นการท่องเที่ยวเชิงรางวัล และ 39.2% เดินทางมาเข้าร่วมการจัดประชุมองค์กรในประเทศไทย



ภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยจากการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS

กลุ่ม BRICS คือ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีอิทธิพลสำคัญในเวทีโลก ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกและประชากรที่มากถึง 3.6 พันล้านคน หรือประมาณ 45.5% ของประชากรโลก กลุ่ม BRICS ไม่เพียงแต่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่มีความหลากหลาย แต่ยังเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยในปี 2024 จะมีกลุ่มประเทศอียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอธิโอเปีย ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่านเข้าร่วม ทั้งนี้ ประเทศไทยได้แสดงความประสงค์ที่จะเข้าร่วมกลุ่ม BRICS เพื่อช่วยเสริมบทบาทของประเทศให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถปกป้องผลประโยชน์ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้ดีขึ้น

การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะส่งผลทำให้ภาพรวมของประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มแบ่งขั้ว (Decoupling) ตลอดจนช่วยขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทยที่หลากหลาย เช่น สินค้าเกษตร อาหารแปรรูป รถยนต์ เครื่องจักร และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและตอบสนองความต้องการของตลาดโลก ซึ่งเป็นสัญญาณบวกให้แก่ผู้ประกอบการไทย ทั้งในด้านขยายตลาดส่งออก ลดอุปสรรคด้านการค้า เข้าถึงการลงทุนและเทคโนโลยี ความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ (MICE)



โดยหากทำการเจาะมายังอุตสาหกรรมไมซ์ ในปี 2566 มีจำนวนนักเดินทางไมซ์จากกลุ่มประเทศ BRICS ราว 329,435 คน ซึ่งมีอัตราการเติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 178.9% โดยกว่า 41.6% เป็นการท่องเที่ยวเชิงรางวัล และ 39.2% เดินทางมาเข้าร่วมการจัดประชุมองค์กรในประเทศไทย ซึ่งการที่ประเทศไทยเลือกเป็นสมาชิก BRICS อาจนำไปสู่การลดข้อจำกัดด้านวีซ่า และการทำข้อตกลงเพื่อให้ประชาชนของประเทศสมาชิกสามารถเดินทางระหว่างกันได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางไมซ์ที่มีแผนเดินทางมาประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากโอกาสในด้านการท่องเที่ยวและการประชุม การเป็นสมาชิก BRICS ยังเปิดโอกาสให้ประเทศไทยเข้าร่วมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมหลายด้าน เช่น การวิจัยและพัฒนา, การสร้างนวัตกรรม, และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ตลอดจนการเป็นสมาชิกยังช่วยเสริมสร้างบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้ไทยสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น


อุตสาหกรรมไมซ์บนเส้นทาง BRICS”

ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะไม่คลายตัวลง การเข้าร่วม BRICS จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการขยายตลาดสู่ตลาดใหม่ที่กำลังเติบโตและมีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศบราซิล และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในขณะเดียวกัน ประเทศจีน ประเทศอินเดีย และประเทศรัฐเซียยังคงเป็นตลาดหลักของประเทศไทย โดยผู้ประกอบการไมซ์สามารถเจาะโอกาสทางธุรกิจในแต่ละประเทศภายใต้กลุ่ม BRICS

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศบราซิลโดดเด่นด้านเกษตร และเป็นผู้ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรหลัก ๆ ของโลก ซึ่งผู้ประกอบการไมซ์มีศักยภาพในการเป็น Exhibitor ในงานด้านการเกษตรและอาหารซึ่งสอดคล้องกับความต้องการส่งเสริมการค้ากับภูมิภาค ASEAN และกระตุ้นการจัดงานไมซ์ในไทย การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ของอุตสาหกรรมไมซ์ โดยสามารถมุ่งเน้นที่การจัดงานแสดงสินค้าในอุตสาหกรรมการเกษตร, ยานยนต์, และอาหารแห่งอนาคต รวมถึงการจัดประชุมวิชาชีพในประเทศอินเดีย และการท่องเที่ยวเพื่อรางวัลด้วยวัฒนธรรม อาหาร กิจกรรมนันทนาการ และการบริการของไทย



นอกจากนี้ การเข้าร่วม BRICS ยังสร้างโอกาสสำหรับ "อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต" จากโอกาสพัฒนาและต่อยอดด้านสินค้าอาหารมูลค่าสูงที่ตรงกับความต้องการของตลาดโลก เช่น อาหารเสริมสุขภาพ (Functional Food) อาหารอินทรีย์ (Organic Food) อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) และอาหารที่ผลิตจากเนื้อสัตว์สังเคราะห์ (Plant-Based Food) เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ผลิตที่สำคัญของตลาดในอุตสาหกรรมนี้

โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า 
ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารเพื่อสุขภาพของโลก ทั้งนี้ สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทยคาดว่า อาหารแห่งอนาคตของประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตถึง 5% - 10% ในขณะที่อุตสาหกรรมอาหารของไทยโดยรวมจะมีอัตราการเติบโตเพียง 3% เท่านั้น โดยกลุ่ม Functional Food จะมีอัตราการเติบโตสูงที่สุด สอดคล้องกับแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุทั่วโลก ซึ่งผู้ประกอบการไมซ์สามารถจัดกิจกรรมไมซ์เพื่อสนับสนุนอาหารแห่งอนาคตของไทยโดยเป็นเวทีกลางเชื่อมโยงธุรกิจอาหารแห่งอนาคตและเทคโนโลยี และเป็นเวทีกลางการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการพัฒนาการผลิตอาหารแห่งอนาคต ผ่านการจัดงานแสดงสินค้า (Exhibitions) ที่รวบรวมผู้จัดงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันทั้ง Value Chain ของอาหารอนาคต



การจัดกิจกรรมไมซ์ด้านอุตสาหกรรมแห่งอนาคตสามารถเป็นส่วนหนึ่งของงานอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มครบวงจร ตลอดจน สามารถจัดงานไมซ์สำหรับอาหารแห่งอนาคตโดยเฉพาะ โดยมีตัวอย่างการจัดงานที่ผ่านมา เช่น งาน THAIFEX – Anuga Asia 2024 ภายใต้ Theme: Future Food Experience+, งาน Future Food System Conference & Show 2024 เป็นต้น ซึ่งการเข้าร่วม BRICS จะส่งเสริมและช่วยเสริมสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดรายได้จากการจัดงานที่สนับสนุนการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ การนำเสนอสินค้าบริการที่ประเทศไทยมีศักยภาพให้กับประเทศในกลุ่ม BRICS รวมถึงการได้รับประโยชน์จากความร่วมมือด้านวีซ่า ตลอดจนการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและชุมชน

MICE Outlook สัปดาห์หน้า เตรียมพบกับประเด็นเศรษฐกิจโลก เมื่อคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ได้ออกมาประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5% ถือเป็นการลดครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี โดยจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไมซ์ ต้องไม่พลาดที่จะติดตามเนื้อหาที่เข้มข้น ทุกแง่มุม!

แหล่งที่มา:
• รายงานสภาวะอุตสาหกรรมไมซ์ ประจำไตรมาสที่ 2/2567: https://bit.ly/3M5rfGP
• รู้จัก ‘BRICS’ คืออะไร หลังรัฐบาลไทยเห็นชอบยื่นสมัครเป็นสมาชิก: https://thestandard.co/what-is-
• brics/https://www.grantthornton.co.za/contentassets/21351a3c13254b3cb8d2e75f288b844e/brics.jpg
• https://www.greennetworkthailand.com/wp-content/uploads/2024/03/Electric-Vehicle-Asia-2024-03.jpg
• https://www.thaipr.net/business/3477137#google_vignette



Rating :