Exploring Pan's Package's Impact on China's Economy เจาะลึก Pan's Package: ทางออกวิกฤตเศรษฐกิจจีน

Author : mice intelligence team
Views 3006 | 25 Oct 2024
เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ ความไม่สมดุลทางการเงินในประเทศ ปัญหาหนี้สิน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อความเชื่อมั่นและการลงทุนของนักลงทุน รวมถึง การบริโภคในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจีนจึงได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า Pan’s Package เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืน

MICE Outlook สัปดาห์นี้ จะขอพาทุกท่านร่วมเจาะลึกไปยังมาตรการ “Pan’s Package” ผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ


Key takeaways


รัฐบาลจีนจะประกาศใช้ “Pan's Package” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยวในประเทศไทย เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 33.87% ในช่วง 
30 กันยายน – 6 ตุลาคม 2024 ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตนี้มาจากมาตรการที่รัฐบาลไทยดำเนินการเอง อาทิ การยกเว้นวีซ่า การอำนวยความสะดวกในการเดินทาง (Ease of traveling) และการยกเว้นบัตร ตม.6 ซึ่งส่งผลให้เกิดความสะดวกสบายและดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนให้เดินทางมาไทยมากขึ้น นอกจากนี้ การสนับสนุนของรัฐบาลไทยในการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นตลาดการบินระหว่างสองประเทศ


“Pan's Package” มาตรการสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์และการเงินจีน


Pan's Package เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของจีนในช่วงที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการ อาทิ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และสภาพคล่องทางการเงินที่ตึงตัว มีวัตถุประสงค์หลักคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยเน้นการเพิ่มสภาพคล่องในระบบ ผ่านเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยทั้ง Reverse Repurchase Rate และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมและการลงทุน, ลดอัตราส่วนเงินสำรองขั้นต่ำ (RRR) เพื่อให้ธนาคารมีเงินทุนสำรองน้อยลง และสามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น มาตรการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยในการซื้อบ้าน และให้ส่วนลดทางภาษี เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา


นอกจากนี้ มาตรการ Pan's Package ยังมุ่งเน้นไปที่การป้องกันภาวะเงินฝืด ที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภคและการลงทุนที่ลดลง โดยรัฐบาลได้ออกโปรแกรมช่วยเหลือทางการเงินต่าง ๆ เช่น Swap Program และ Re-lending Program เพื่อสนับสนุนการลงทุนในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ และกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น  โดยมาตรการดังกล่าวจะส่งผลต่อทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดอสังหาริมทรัพย์

โดยตลาดการเงินจะได้รับผลประโยชน์จากสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมลดลง ตลาดทุนจะได้รับการสนับสนุนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ส่วนตลาดอสังหาริมทรัพย์จะฟื้นตัวจากการกระตุ้นความต้องการซื้อบ้าน จึงกล่าวได้ว่ามาตรการนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลจีนใช้ในการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มสภาพคล่องในระบบ กระตุ้นการลงทุนและการบริโภค และแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ทั้งสามตลาดยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากฟองสบู่และการกระตุ้นที่มากเกินไป หากการควบคุมสภาพคล่องไม่เป็นไปอย่างรอบคอบ


การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ไทยรับแรงหนุนจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน


ในขณะที่ประเทศจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนในปัจจุบัน รัฐบาลจีนได้ประกาศมาตรการ Pan's Package เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มาตรการดังกล่าวยังคงถือว่ามีระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เคยดำเนินการในปี 2551 ซึ่งรัฐบาลจีนได้ใช้เงินถึง 4 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 15% ของ GDP ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนในช่วงวิกฤตการเงินโลก

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้คาดว่านโยบายนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้มากกว่า 5% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (YOY) และส่งผลให้การคาดการณ์ GDP ของจีนในปีนี้แตะระดับ +5% ได้ไม่ยาก โดยประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนอย่าง CSI 300 และ HANG SENG ปรับตัวขึ้นอย่างมากในช่วงนี้


MICE Intelligence Center ได้ประเมินว่า แม้ว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความมั่นคงและการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ แต่เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยวของไทยแล้ว อาจไม่ได้รับอานิสงส์มากนักจากนโยบายเหล่านี้ เนื่องจากนักเดินทางจีนที่เดินทางมาประเทศไทยยังคงมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 กันยายน – 6 ตุลาคม 2024) ประเทศไทยยังคงได้รับผลบวกจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน โดยมีนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นถึง 33.87% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเดินทางมาประเทศไทยของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงแม้เศรษฐกิจของจีนจะอยู่ในช่วงฟื้นตัว และปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน เช่น การยกเว้นวีซ่า, มาตรการ Ease of traveling, การยกเว้นบัตร ตม.6 ในด่านทางบก รวมถึงการกระตุ้นและส่งเสริมให้สายการบินเพิ่มจํานวนเที่ยวบินมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ถือเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจและมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการเดินทางของนักเดินทางประเทศจีน


นอกจากนี้ ทาง MICE Intelligence Center ได้คาดการณ์ว่าการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนมายังประเทศไทย เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจีนเริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีความครอบคลุมและหลากหลายมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการบริโภคในประเทศ การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมาตรการเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน รวมทั้งความสำคัญของการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับทั้งประเทศไทยจีน และประเทศไทย

MICE Outlook สัปดาห์หน้าเตรียมพบกับบทความที่จะทำให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับมากขึ้น MIC (Meetings, Incentives, Conventions) มากขึ้น ผ่านมุมมองรูปแบบธุรกิจเครือข่าย เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างเครือข่าย (Networking) และกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ

ที่มา:

• จีนเตรียมอัดมาตรการกระตุ้นต่อ หนุนเศรษฐกิจท่องเที่ยวไทย:
https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1148574#google_vignette
• สรุป Pan’s Package มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน “ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
https://www.finnomena.com/editor/pan-s-package-the-biggest-stimulation/



Rating :