Personalized Journeys, Limitless Possibilities: ถอดรหัสกลยุทธ์เพื่อผู้ใช้ออกแบบเองได้ กับคุณจิรายุ ลิ่มจินดา แห่ง TripNiceDay

Author : MICE Intelligence Team
Views 2462 | 20 Feb 2023

พร้อมแล้วหรือยังที่จะเปลี่ยนแปลง ? ในวันที่การทำการตลาดแบบเก่าอาจจะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป เมื่อผู้บริโภคมีความคาดหวังว่าพวกเขาจะได้รับการนำเสนอประสบการณ์ในการเข้าถึงสินค้า และบริการแบบรู้ใจ หรือที่เรียกว่า Personalization ซึ่งเป็นการนำข้อมูลของผู้บริโภคมาวิเคราะห์ เพื่อสรรหาความชอบหรือความต้องการที่แท้จริง และนำเสนอสินค้าหรือบริการ รวมถึงสร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคล (Personalized Experience)  ซึ่งหลาย ๆ ธุรกิจ รวมถึงผู้ประกอบการไมซ์เองก็ได้นำกลยุทธ์นี้ไปปรับใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจของตัวเอง

โดยวันนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ คุณจิรายุ ลิ่มจินดา แห่ง TripNiceDay ที่จะมาแชร์ประสบการณ์การนำ Personalization มาปรับใช้ในธุรกิจ รวมถึงความท้าท้ายที่พบเจอ เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกคนได้หาไอเดีย และแรงบันดาลใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้

Personalization เติมเต็มระหว่างทางเพื่อให้ปลายทางมีความหมาย

ในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าข้อมูลนั้นมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐานทั่วไป เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร อาชีพ ข้อมูลเชิงพฤติกรรมเกี่ยวกับความชอบ ความสนใจในสิ่งต่าง ๆ รวมไปถึงข้อมูลเชิงธุรกิจ อย่างข้อมูลสินค้า ยอดขาย หรือแม้กระทั่งข้อมูลของคู่แข่ง ฯลฯ ทรัพยากรด้านข้อมูลเหล่านี้จะช่วยผู้ประกอบการยกระดับศักยภาพของธุรกิจ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนารูปแบบสินค้าหรือบริการที่ตรงใจผู้คนมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจการท่องเที่ยวที่ต้องพยายามนำเสนอรูปแบบบริการใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของเหล่านักเดินทาง หนึ่งในนั้นคือ การเปิดโอกาสให้นักเดินทางสามารถออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวของตนเองได้ คุณจิรายุเล่าถึงที่มาของ TripNiceDay ที่ตั้งใจทำขึ้นมาให้เป็นเครื่องมือสำหรับวางแผนการท่องเที่ยวแบบครบ จบในที่เดียว ด้วยการนำกลยุทธ์ Personalization มาเป็นตัวช่วยออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวให้มีความพิเศษมากกว่าทุกครั้ง 

คุณจิรายุกล่าวต่ออีกว่า เราเชื่อว่าสิ่งที่อยู่ระหว่างทางจะช่วยให้ปลายทางมีความหมาย” ดังนั้นแพลตฟอร์มนี้จึงให้โอกาสผู้ใช้งานทุกคนสามารถเพิ่มสถานที่ใหม่ ๆ หรือที่เที่ยวของตนเองเข้าไปบนแผนที่ได้ เพราะเมื่อผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มเติมเต็มความต้องการของเขาลงไป “ข้อมูลจากผู้ใช้งานจริงนั้นย่อมมีคุณค่า และสะท้อนพฤติกรรมการบริโภคที่แท้จริงมากที่สุด” ซึ่งทาง TripNiceDay ก็จะนำข้อมูลเหล่านั้น ไปวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการให้บริการผู้ใช้งานต่อไป

Tripniceday.com

Tripniceday.com

Personalization เก็บข้อมูลอย่างไรไม่ให้ละเมิดความเป็นส่วนตัว

หากพูดถึงเรื่องการเก็บข้อมูล แน่นอนว่ามีข้อจำกัดอยู่หลาย ๆ ด้าน ทั้งความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของผู้ให้ข้อมูล รวมทั้งหลาย ๆ คนคงเกิดคำถามในใจว่าจะต้องเก็บข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อมาต่อยอดในธุรกิจของเรา

คุณจิรายุได้เล่าถึงกระบวนการเก็บข้อมูลว่า TripNiceDay เริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลง่าย ๆ ของผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม เช่น ชื่อ นามสกุล อีเมล เบอร์โทร เพื่อให้เรารู้จักผู้ใช้งานมากขึ้น รวมถึงข้อมูลที่สำคัญสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว คือ User Location หรือตำแหน่งของผู้ใช้งานปัจจุบัน ข้อมูลความสนใจและข้อมูลสถานที่ที่ผู้คนค้นหาเพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวมากที่สุด ซึ่งจะช่วยสะท้อนให้เห็นความต้องการที่เป็นปัจจุบันในแต่ละช่วงเวลา เพื่อนำมาออกแบบ และเสนอบริการแบบรู้ใจให้กับผู้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการเก็บข้อมูลในยุคที่ผู้คนให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ดังนั้น ความเชื่อใจของผู้ให้บริการจึงมีความสำคัญ และทุกครั้งเราต้องได้รับความยินยอมจากผู้ให้ข้อมูลก่อนเสมอ

ประยุกต์ใช้ “ข้อมูล” ให้เกิดประโยชน์รอบด้าน

การเก็บข้อมูลสำหรับ TripNiceDay จึงไม่ใช่แค่เพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้งานเท่านั้น แต่ข้อมูลที่มียังช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก ไปจนถึงรายใหญ่ตลอดเส้นทางการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยคุณจิรายุได้เล่าถึงการนำข้อมูลมาใช้ต่อยอดกิจกรรมการแวะเช็กอินระหว่างทาง ของผู้ที่ต้องเดินทางไปเข้าร่วมงานอีเว้นต์ในต่างจังหวัด เนื่องจากมองเห็นโอกาสที่จะต่อยอดข้อมูลที่มีอยู่ และพร้อมส่งต่อให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ 

จะดีกว่าไหมหากเหล่านักเดินทางซึ่งจะต้องขับรถจากที่ใดที่หนึ่ง ไปสู่จุดหมายปลายทางได้มีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวสนุก ๆ ทำระหว่างทาง” เพื่อให้บรรยากาศขับรถทางไกลไม่น่าเบื่ออีกต่อไป โดยกฎกติกา คือ ผู้เดินทางจะต้องแวะเช็กอินตามร้านต่าง ๆ ที่กำหนด และเมื่อถึงจุดหมายปลายทางให้นำหลักฐานการเช็กอินไปรับของรางวัล จากกิจกรรมนี้ ทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับความสนุก รวมถึง ได้ประสบการณ์ที่ดี และแน่นอนว่าเหล่าผู้ประกอบการท้องถิ่นก็สามารถสร้างรายได้จากกิจกรรมนี้

Tripniceday.com

ต่อยอด “ข้อมูล” ของผู้ใช้งานสู่การออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ตรงใจ

TripNiceDay เชื่อว่าการมีข้อมูลอยู่ในมือจะสามารถต่อยอดการบริการเพื่อสร้างความแตกต่างได้ จึงได้นำข้อมูลจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของนักเดินทาง และออกแบบกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้การท่องเที่ยวสนุก น่าตื่นตาตื่นใจ และเข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนในสถานที่นั้น ๆ ออกมาในรูปแบบ 

“ภารกิจเที่ยว” ตามแนวคิดของ Gamification ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้ความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อช่วยผลักดันการท่องเที่ยวในจังหวัดให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง โดยภารกิจเที่ยวนี้ จัดขึ้นในธีม "มานะ มานครฯ มาหาศรัทธา" เที่ยว 8 วัดดังในนครฯ สะสมแต้มบุญ ลุ้นรับเหรียญไอ้ไข่ วัดเจดีย์ โดยไอเดียการจัดภารกิจเที่ยวครั้งนี้มาจากความเชื่อ และความศรัทธาของผู้คนในจังหวัดนครฯ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของวัด ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่ “สายมู” ทุกคนต้องไป จึงทำให้ทาง ททท. สำนักงานจังหวัดนครฯ และ TripNiceDay เห็นโอกาสที่จะเชิญชวนนักเดินทางให้มาเที่ยวมากยิ่งขึ้น 

“ภารกิจเที่ยว” จะให้นักเดินทางเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมแวะเช็กอินตาม 8 วัดดังในนครฯ ผ่านแอปพลิเคชันของทาง TripNiceDay  เมื่อนักเดินทางเช็กอินครบทุกจุดจะได้รับรางวัลเป็นเหรียญไอ้ไข่ วัดเจดีย์ และของรางวัลอื่น ๆ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมภารกิจ และดึงนักท่องเที่ยวเข้าจังหวัดได้เป็นจำนวนมาก ถือเป็นตัวอย่างการสร้าง Loyalty Program สำหรับผู้จัดงาน หรือ Organizer ที่ต้องการจัดกิจกรรม และดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยใช้เสน่ห์ของพื้นที่ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ (Identity) ของตัวเองเป็นจุดขาย เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชม และผู้ประกอบการภายในพื้นที่ 

Tripniceday.com

ความคุ้มค่าระยะยาวของผู้ประกอบการ ผ่านการทำ Personalization

คุณจิรายุกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจถึงการนำกลยุทธ์ Personalization มาปรับใช้กับธุรกิจในวันที่กระแสการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลกำลังเป็นที่นิยม และผู้อยู่รอดในตลาด คือ คนที่สามารถนำเสนอสิ่งที่ตรงใจลูกค้าได้มากที่สุด 

ถึงแม้ว่าการทำ Personalization จะมีความท้าทายไม่น้อย แต่หากเรากล้าที่จะเริ่มเปลี่ยน “เปลี่ยนมาให้อำนาจลูกค้าในการตัดสินใจ เปลี่ยนให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วมในการออกแบบสินค้าหรือบริการด้วยตนเอง เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับข้อมูลจากลูกค้าที่สามารถสะท้อนถึงพฤติกรรมการบริโภคได้” การสร้างความประทับใจ และก้าวมาเป็นบริการที่ผู้บริโภคนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ นั้นคงไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน

Rating :