DGTL’s Vision: Regenerative Sustainability วิสัยทัศน์ของงานเทศกาลดนตรีบนความยั่งยืนและการฟื้นฟู

Author : mice intelligence team
Views 976 | 13 Dec 2024
การจัดงานไมซ์ในปัจจุบันไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเรื่องความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้จัดงานให้ความสำคัญ อย่างเช่น การจัดกีฬาโอลิมปิกปารีส 2024 ที่มีการบริหารจัดการกิจกรรมภายในงานอย่างยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้ของปี 2025 ความท้าทายใหม่ของการจัดงานไมซ์คือ การยกระดับความยั่งยืนสู่การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และชุมชนอย่างแท้จริง และเป็นรูปธรรม

MICE Outlook สัปดาห์นี้ เราจะขอพาทุกท่านเดินหน้าเข้าสู่การจัดงานไมซ์ที่ยั่งยืน ผ่านกรณีศึกษาของเทศกาล “DGTL” งานเทศกาลลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ซึ่งเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในการนำหลักการความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในการจัดงาน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและตอบสนองความต้องการของผู้เข้าร่วมงานในยุคปัจจุบัน


Key takeaway

• Regenerative Sustainability แนวคิดในการสร้างระบบและการบริหารจัดการที่มุ่งฟื้นฟูและเพิ่มคุณค่าให้กับธรรมชาติ สังคม เศรษฐกิจ และชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดการและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการฟื้นฟู ตลอดจนการร่วมมือในหลายระดับ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืนต่อโลก สำหรับภาคอุตสาหกรรมไมซ์หนึ่งในแนวทางสำคัญคือ การร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder collaboration) ในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วมงาน ซัพพลายเออร์ และองค์กร เพื่อพัฒนาและนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการส่งเสริมความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมไมซ์ในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืน และยกระดับการจัดกิจกรรมอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

“Sustainability สู่ Regenerative Sustainability”

โลกกำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทำให้การดำเนินการด้านความยั่งยืน (Sustainability) ได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดกิจกรรมไมซ์จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสู่ Regenerative Sustainability จะเข้ามามีความสำคัญมากขึ้นในปี 2025

Regenerative Sustainability แนวคิดในการสร้างระบบและการบริหารจัดการที่มุ่งฟื้นฟูและเพิ่มคุณค่าให้กับธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน โดยการนำแนวคิดใหม่ ๆ มาใช้ในการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือในหลายระดับ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืนต่อโลก ตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำแนวคิดนี้ไปใช้คือ เทศกาล "DGTL" ซึ่งได้นำแก่นแท้ของความยั่งยืนมาผสมผสานในการออกแบบกิจกรรมไมซ์ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างแท้จริง


DGTL เป็นงานเทศกาลดนตรีและศิลปะที่โดดเด่นด้วยแนวคิดความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม และเป็นพื้นที่ที่ผู้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลโลก ภายในงานมีการจัดแสดงงานศิลปะที่สร้างสรรค์และกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทั้งความสนุกสนานและความรู้กลับบ้านไปด้วย การจัดงานแต่ละครั้งจะเลือกสถานที่ท่ามกลางบรรยากาศกลางแจ้งที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์มากมาย อย่างไรก็ตาม หัวใจหลักของการเทศกาลนี้ ที่นอกจากสร้างความบันเทิงให้กับผู้เข้าร่วมงาน ทางคณะผู้จัดฯ ต้องการขับเคลื่อนการงานเทศกาลดนตรีภายใต้การสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยได้นำกรอบการทำงาน 5 เสาหลักแห่งความยั่งยืน ได้แก่ ทรัพยากร พลังงาน การเดินทาง สุขอนามัย และอาหาร  ภายใต้รูปแบบการจัดงานที่ทันสมัย


โดยเสาที่ 1 การจัดการด้านทรัพยากรของทาง DGTL ได้นำเสนอมุมมองใหม่ในการเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดการขยะ ด้วยการมอง “ขยะที่เป็นปัญหาต้องแก้ไข” สู่แนวคิด “ทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้” ผ่านการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการแยกขยะอย่างเต็มรูปแบบ จนสามารถแยกขยะได้ถึง 100% ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการทรัพยากรในระดับชุมชนและงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ โดยได้มีการจัดการแก้วพลาสติกในงานเทศกาลดนตรีให้เปลี่ยนมาใช้เป็นแก้วแข็ง (Hardcups) ที่มีคุณสมบัติทนทาน และนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะต้องจ่ายเงินมัดจำ 1.50 ยูโรสำหรับแก้วใบแรก และสามารถคืนแก้วเพื่อรับโทเค็นรีไซเคิลสำหรับการใช้งานครั้งถัดไป วิธีการนี้ไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพถึง 1,000 กิโลกรัมต่อเทศกาล แต่ยังส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมงานมีส่วนร่วมในกระบวนการลดขยะด้วยวิธีที่ง่ายและสะดวก


ในส่วนของเสาที่ 2 การจัดการด้านพลังงาน ในปี 2022 DGTL ที่จัดขึ้นในอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการจัดงานเทศกาลด้วยการเปลี่ยนจากการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลที่ปล่อยมลพิษสูง มาเป็นการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% อย่างสมบูรณ์ ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลมาจากความร่วมมือกับเทศบาลอัมสเตอร์ดัมในการพัฒนาโครงข่ายพลังงานสีเขียวที่ NDSM Wharf และการนำแบตเตอรี่ Greener ซึ่งชาร์จด้วยพลังงานยั่งยืนมาใช้ภายในงาน ซึ่งพลังงานกว่า 70% มาจากโครงข่ายไฟฟ้าสีเขียว ขณะที่ส่วนที่เหลือมาจากแบตเตอรี่ ทำให้การดำเนินงานของเทศกาลปราศจากการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลโดยสิ้นเชิง แนวทางนี้ไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งสามารถเป็นตัวอย่างให้กับอุตสาหกรรมการจัดงานและกิจกรรมทั่วโลกในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเต็มรูปแบบ


สำหรับเสาที่ 3 การจัดการด้านการเดินทาง เทศกาล DGTL ใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) แทนเชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับเที่ยวบินของศิลปิน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางทางอากาศ อีกทั้งพื้นที่ในงานไม่ที่จอดรถ เพื่อลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว โดยสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมงานเดิน ปั่นจักรยาน หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟราคาพิเศษ และเรือข้ามฟากไฮบริดจากสถานีรถไฟกลางอัมสเตอร์ดัมไปยังสถานที่จัดงาน นอกจากนี้ DGTL ยังพัฒนาเครื่องมือคำนวณการปล่อยมลพิษจากการเดินทางและที่พักร่วมกับ SkyNRG และ CHOOOSE เครื่องมือนี้ช่วยผู้เข้าร่วมงานวางแผนการเดินทางให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น เสาที่ 4 การจัดการด้านสุขอนามัย DGTL Amsterdam ร่วมมือกับนักวิจัยและซัพพลายเออร์พัฒนาระบบสุขาภิบาลที่หมุนเวียนทรัพยากรได้อย่างน่าทึ่ง โดยปัสสาวะถูกบำบัดก่อนนำไปใช้ต่อ ส่วนอุจจาระเปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมัก น้ำสำหรับการชักโครกนำมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำใกล้พื้นที่จัดงาน ช่วยลดการปล่อย CO2 ได้ถึง 3 กิโลกรัมต่อการกดชักโครกหนึ่งครั้ง ทำให้ระบบการจัดการน้ำในงานเทศกาลนี้เป็นระบบที่ยั่งยืนและลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ



และสุดท้ายเสาที่ 5 การจัดการด้านอาหาร ในแต่ละปี ขยะอาหารกว่า 1.3 พันล้านกิโลกรัม ถูกทิ้งไปทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นมากกว่าหนึ่งในสามของอาหารทั้งหมดที่ผลิตขึ้น สิ่งนี้สร้างความกังวลต่อการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในงานเทศกาลขนาดใหญ่ที่มักเกิดขยะอาหารจำนวนมากจากการบริโภคที่เกินความจำเป็น เช่นเดียวกับในงานเทศกาล DGTL ที่มีการจัดการขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้พัฒนาเครื่องทำปุ๋ยหมัก 24 ชั่วโมง เพื่อเปลี่ยนขยะอาหารและภาชนะที่ทำจากน้ำตาลอ้อยให้กลายเป็นปุ๋ยหมักที่สามารถนำกลับมาใช้ในการปลูกพืชผลในพื้นที่ ช่วยลดการทิ้งขยะอาหารและสร้างวงจรการใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ทุกเมนูอาหารในงาน DGTL ยังเป็นอาหารมังสวิรัติ ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชที่ปลูกแบบออร์แกนิก และเน้นการสนับสนุนแหล่งผลิตในท้องถิ่น เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการใช้ผลิตภัณฑ์จาก Beyond Meat บริษัทผลิตโปรตีนทางเลือกที่สามารถลดการปล่อย CO2 ได้ถึง 73% เมื่อเทียบกับการผลิตโปรตีนจากสัตว์

 

เทศกาล DGTL ได้แสดงให้เห็นถึงการจัดการทรัพยากรและความยั่งยืนผ่านหลายแนวทางที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจเชิงเส้น (Linear economy) ที่มีแนวคิดในการใช้งานทรัพยากรแล้วทิ้ง (Take-Make-Dispose) สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการรีไซเคิลเพื่อสร้างประโยชน์ใหม่ โดยในปี 2025 ความยั่งยืนจะไม่ใช่แค่การจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่จะต้องเป็นการฟื้นฟูและนำสิ่งที่เสียไปกลับมาสร้างประโยชน์ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ในภาคอุตสาหกรรมไมซ์ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจำนวนมหาศาลในการจัดกิจกรรมต่างมีบทบาทสำคัญในการปรับตัวเพื่อลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และมุ่งเน้นการจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบกิจกรรม และการบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งหนึ่งในแนวทางสำคัญคือ การร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder collaboration) ในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วมงาน ซัพพลายเออร์ และองค์กร เพื่อพัฒนาและนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการส่งเสริมความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมไมซ์ในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืน และยกระดับการจัดกิจกรรมอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต


MICE Outlook สัปดาห์หน้า เตรียมพบกับบทความสุดพิเศษที่พาทุกท่านไปสำรวจแนวคิด “Next Gen Legacy: From Local Arenas to Global Stages” ผ่านกรณีศึกษาของ ONE Championship ซึ่งเป็นเวทีที่นำศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวจากบริบทในภูมิภาคเอเชีย มุ่งสู่การเป็นเวทีระดับโลกที่ได้รับการยอมรับในวงการกีฬาระดับสากล ผ่านการเชื่อมโยงวัฒนธรรมและรูปแบบการจัดงานที่เป็นเอกลักษณ์ ต้องไม่พลาดที่จะติดตามเนื้อหาที่เข้มข้น ครบทุกแง่มุม!

แหล่งที่มา:
• DGTL: https://dgtl.nl/
• รูปภาพประกอบ: https://www.soundvibemag.com/festivals/all-about-dgtl-festival/#google_vignette https://event-flux.com/?p=871 https://grayarea.co/magazine/how-dgtl-amsterdam-raises-the-bar-for-festival-sustainability , https://event-flux.com/?p=871 , https://www.metabolic.nl/news/staging-a-revolution-why-dgtl-continues-to-dominate-festival-sustainability/ , https://milanmeyberg.com/project/dgtlfestival , https://dgtl.nl/sustainability/food/ https://milanmeyberg.com/project/dgtlfestival , https://www.facebook.com/dgtlfestival/photos/pb.100076184473321.-2207520000/5981461925299785/?type=3
• https://unsplash.com/photos/three-filled-reuse-me-cups-on-brown-table-dsp8uHRlS6c


Rating :