การเติบโตของ Pink Economy หรือเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQIA2S+ นำมาซึ่งโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลก ประเทศไทยในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว LGBTQIA2S+ มีศักยภาพในการยกระดับตัวเองให้กลายเป็นศูนย์กลางที่โอบรับความหลากหลาย และเป็นพื้นที่ปลอดภัยของนักเดินทางทั่วโลก (Inclusive and Safe Destination for All) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไมซ์ที่สามารถรองรับการจัดกิจกรรม และการเชื่อมต่อทางธุรกิจที่เน้นกลุ่ม LGBTQIA2S+ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยี และโซลูชันที่ตอบโจทย์กลุ่มนี้ จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของ Pink Economy ในประเทศไทย
MICE Outlook สัปดาห์นี้ ขอพาทุกท่านเจาะลึกถึงแนวโน้ม และโอกาสของเศรษฐกิจสีชมพู (Pink Economy) ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในระดับโลก ผ่านมุมมองของคุณธนะชัย กุลสมบูรณ์สินธ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Canvas Ventures International จำกัด ซึ่งจะมาแบ่งปันประสบการณ์ และวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดเศรษฐกิจสีชมพู ที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่อุตสาหกรรมการบริการท่องเที่ยว การบันเทิง เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมไมซ์ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล

“DEI ในสหรัฐฯ ถูกลดบทบาท และใครที่จะคว้าโอกาสในการเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อรองรับกลุ่ม LGBTQIA2S+”
การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม Diversity, Equity, and Inclusion (DEI) หลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในสหรัฐอเมริกา ได้กลายเป็นประเด็นที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งในระดับรัฐบาลกลางและภาคเอกชน ซึ่งส่งผลกระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะต่อองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGOs) ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ เช่น USAID (United States Agency for International Development) หนึ่งในผู้ให้ทุนสำคัญที่ส่งเสริมประเด็นสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลก
จากนโยบายที่เปลี่ยนไปภายใต้การบริหารของทรัมป์ส่งผลให้โครงการที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQIA2S+ และการส่งเสริมสิทธิของกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการลดงบประมาณ การจำกัดขอบเขตของการสนับสนุน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มและทิศทางของภาคเอกชนที่เคยให้ความสำคัญกับ DEI โดยเฉพาะในแง่ของการจ้างงาน การกำหนดนโยบายองค์กร การจัดงานประชุม และความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับนานาชาติ

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบาย DEI ในสหรัฐฯ จะสร้างข้อจำกัดในหลายประเทศ แต่ในทางกลับกันก็เปิดโอกาสให้ประเทศอื่น ๆ ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายและความเท่าเทียมก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางใหม่ของ Inclusive Diversity ซึ่งหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพคือ ประเทศไทย ที่เพิ่งผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม และมีศักยภาพในการเป็น Safe Destination สำหรับกลุ่ม LGBTQIA2S+ ก้าวเข้าสู่การเป็น Safe Haven สำหรับกลุ่ม LGBTQIA2S+ รวมถึงธุรกิจที่สนับสนุนความหลากหลาย
โดยคุณธนะชัย กุลสมบูรณ์สินธ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Canvas Ventures International จำกัด ได้แชร์มุมมองถึงเรื่องนี้ว่า “กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นแรงขับเคลื่อนที่ยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในหลายมิติ มิติแรกคือ การขยายตลาดการแต่งงาน และการท่องเที่ยว ดึงดูดคู่รัก LGBTQIA2S+ จากทั่วโลกที่มองหาสถานที่แต่งงานใน Safe Destination มิติที่สองคือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท อีเวนต์ และอุตสาหกรรมไมซ์ ที่สามารถเติบโตไปพร้อมกัน รวมถึงการสนับสนุนเรื่อง Medical and Wellness Hubนอกจากนี้ ถ้าประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางของ Economic Forum ที่ส่งเสริม Inclusive Diversity จะยิ่งดึงดูดนักเดินทางให้เข้ามาอยู่ และพัฒนาองค์กรในประเทศได้อย่างยั่งยืน”
จากนโยบาย DEI ที่ลดบทบาทในสหรัฐฯ เปิดช่องทางให้ประเทศอื่นก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญที่ขับเคลื่อนบทบาทนี้แทน และประเทศไทยกำลังอยู่ในจุดที่สามารถใช้โอกาสนี้ เพื่อเป็นศูนย์กลางของ Inclusive Diversity ในระดับโลก หากสามารถใช้ประโยชน์จากกฎหมายสมรสเท่าเทียม และดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกันต่อไป ประเทศไทยอาจกลายเป็น จุดหมายปลายทางสำคัญของนักลงทุน นักท่องเที่ยว และองค์กรระดับโลกที่ต้องการสนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลาย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับประเทศไทยในเวทีนานาชาติได้อย่างแท้จริง
“พลังของ LGBTQ+ กลไกสำคัญในเศรษฐกิจไทย”
ปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญกับการเปิดกว้าง และยอมรับความหลากหลายของบุคคลมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การสร้างพื้นที่ที่ส่งเสริมการแสดงออกอย่างเสรีและเท่าเทียม โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQIA2S+ Community ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งกลุ่มนี้มีอำนาจการใช้จ่ายรวมกันมากถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั่วโลก สะท้อนถึงกำลังซื้อที่แข็งแกร่งและบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างการยอมรับในระดับบุคคล และขยายไปสู่ความร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชนผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประชุมและอีเวนต์ที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ซึ่งประเทศไทยเป็น Melting Pot ของวัฒนธรรมที่หลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก และสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการสร้าง Ecosystem หรือชุมชนที่สามารถรวมกลุ่มคนจากทุกความแตกต่างได้อย่างลงตัว
ทางคุณธนะชัยได้พูดถึงเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า “การส่งเสริมกิจกรรมที่เน้นความหลากหลาย เช่น การจัดอีเวนต์ หรือการจัดประชุมฟอรั่มที่เปิดโอกาสให้เกิดการสนทนา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถือเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือในระยะยาว” นอกจากนี้ หากประเทศไทยสามารถผลักดันกฎหมายที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นรูปธรรม จะช่วยดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก และส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลาย ซึ่งจะนำไปสู่ Spill Over Effect หรือการกระจายเม็ดเงินไปยังภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าชุมชน LGBTQIA2S+ ได้เติบโตขึ้นในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสิทธิและกฎหมาย การยอมรับในสังคม หรือแม้แต่บทบาททางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนความเข้มแข็งของชุมชน LGBTQIA2S+ ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการค้าเท่านั้น แต่ยังมีรากฐานที่ลึกซึ้งกว่านั้น นั่นคือ "วัฒนธรรมและแนวคิด" (Mindset & Culture) ที่เป็นตัวกำหนดทิศทางของสังคม ซึ่งประเทศต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ ต่างก็มีอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี การผลิตชิป และอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการค้าสูง แต่ในด้านของการเปิดรับและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ กลับยังคงเป็นกระบวนการที่ต้องปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในทางกลับกัน ในทางกลับกันประเทศไทยมีจุดแข็งที่แตกต่างออกไป ด้วยวัฒนธรรมที่เปิดกว้างและให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศ ทำให้สามารถใช้โอกาสนี้ในการยกระดับตนเองเป็นศูนย์กลางการลงทุนระดับนานาชาติ และสร้าง Ecosystem ที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดที่เปิดรับและสนับสนุนความเท่าเทียม
โดยคุณธนะชัย ได้กล่าว่า “สิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก Pink Economy คือ การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านการเปิดกว้าง และยอมรับความหลากหลายทางความคิด ซึ่งไม่สามารถย้ายไปที่ไหนได้เหมือนกับอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางความคิด และวัฒนธรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตไปในทิศทางที่ยั่งยืน”

“Pink Economy กับบทบาทของประเทศไทย สู่ศูนย์กลาง Pink Tech”
เศรษฐกิจสีชมพู (Pink Economy) กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในประเทศที่สนับสนุนและยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่าง ประเทศไทย ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของ Pink Economy ในภูมิภาคเอเชีย ด้วยอิทธิพลของกลุ่ม LGBTQIA2S+ ที่มีกำลังซื้อสูงและให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าและบริการ จากแนวโน้มที่เกิดขึ้น ธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมจึงต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มนี้ โดยเฉพาะใน 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ HealthTech – เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับกลุ่ม LGBTQIA2S+ เช่น แพทย์ทางไกล (Telemedicine) ระบบติดตามฮอร์โมน และบริการสุขภาพจิต, FinTech & Insurance – ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่คำนึงถึงความเท่าเทียม เช่น บริการสินเชื่อและประกันที่รองรับคู่รักเพศเดียวกัน, Entertainment & Media Tech – แพลตฟอร์มคอนเทนต์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQIA2S+ และส่งเสริมความเข้าใจในสังคม
โดยข้อมูลจาก The First Thailand Pink Tech Ecosystem Report ที่จัดทำโดย Canvas Ventures International และศูนย์ AI มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าสนใจ เช่น 89% ของคู่รักเพศเดียวกัน สนใจผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขา และ78% ของ LGBTQIA2S+ ไม่พอใจกับตัวเลือกด้านการรักษาพยาบาลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความต้องการสูงใน บริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine), ระบบติดตามฮอร์โมน และบริการสุขภาพจิต เป็นต้น ซึ่งทำให้ Pink Economy กลายเป็นหนึ่งในโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญในประเทศไทย การลงทุนและพัฒนา FinTech, InsurTech และ HealthTech ที่รองรับความต้องการเฉพาะของกลุ่มนี้ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีกำลังซื้อสูงและมีความภักดีต่อแบรนด์ที่ให้การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ

• Spending Power ของกลุ่ม LGBTQIAN+: https://businesstravelerusa.com/business/how-brands-are-capitalizing-on-the-lucrative-lgbtq-dollar/
• The First Thailand Pink Tech Ecosystem Report: https://canvasventures.vc/news-analysis/22