From Vision to Action: A Deep Dive into Driving Sustainability จากวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติ เจาะประเด็นการขับเคลื่อนแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน

Author : MICE Intelligence Team
Views 4879 | 22 Dec 2023
ในยุคที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญ และมีการบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดทำนโยบาย และการขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการต่าง ๆ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมไมซ์ที่เดินหน้าวางกลยุทธ์ในการดำเนินงานให้สอดรับกับเป้าหมายความยั่งยืนในทุก ๆ มิติ

MICE Outlook สัปดาห์นี้ จะพาทุกท่านไปร่วมพูดคุยกับ ผศ. ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ที่จะมาเผยมุมมอง และแนวคิดต่อการผลักดัน “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ให้เป็นรูปธรรมอันเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ตลอดจนเสริมสร้างความเข้าใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบการไมซ์เดินหน้าเข้าสู่หนทางแห่งความยั่งยืน


“SDG Move: เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องความยั่งยืน”

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นวาระการพัฒนาระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดขึ้น โดยมุ่งหวังให้ทุกประเทศทั่วโลกสามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งหลาย ๆ ประเทศได้จัดทำนโยบาย แนวทางปฏิบัติ และมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้

ในขณะที่ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งมั่นในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความยั่งยืนสู่สังคมไทย ด้วยวิสัยทัศน์ “ขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยให้สำเร็จ โดยใช้ความรู้และความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ” และมีพันธกิจ “เชื่อมไทย เชื่อมโลก เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมี ผศ. ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ผู้รับบทบาทหน้าที่สำคัญในการบริหารศูนย์วิจัยฯ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในประเทศไทย

https://www.sdgmove.com/

ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ตระหนักดีว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนทั่วไปที่จะเข้าใจ หากไม่มีข้อมูลและองค์ความรู้ที่เพียงพอ จึงต้องการส่งเสริมและจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ่านการจัดทำบทความ สื่อประชาสัมพันธ์ที่ย่อยง่าย กิจกรรมเวิร์กชอปให้กับประชาชนทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้ ตลอดจนเข้าไปมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในการวางแผน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

https://www.facebook.com/sdgmoveth

“ทั่วโลกขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย 169 เป้าหมายย่อย และ 247 ตัวชี้วัด ซึ่งจะต้องบรรลุให้ได้ในปี พ.ศ. 2567 ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันทั่วโลกยังไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยทาง ผศ. ชล ได้เผยว่า “คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจสังคมแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific) ประเมินว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีเพียงแค่ 15% เท่านั้น ที่จะมีโอกาสบรรลุในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งถ้าเราเพิกเฉยต่อประเด็นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เราอาจจะบรรลุได้ในปี พ.ศ. 2608 ซึ่งช้ากว่ากำหนดการไปหลายเท่า” 

อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2566 ทุกประเทศพยายามขับเคลื่อนประเด็นที่สำคัญอย่างเช่น การเงินเพื่อการพัฒนา (Finance for Development) , ความหิวโหย (Hunger), เทคโนโลยีที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Reusable Technology), การดิจิทัล (Digitalization), การคุ้มครองแรงงาน (Recent Work Social Protection) และในประเด็นสุดท้าย “Triple Planetary Crisis” ปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญสามประการ ได้แก่ Climate Change, Pollution, Biodiversity Loss ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักรู้ในการแก้ไขปัญหาและหาแนวทางร่วมกันระดับนานาชาติ

https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2594559/towards-a-global-summit-of-the-future-

และในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2567  จะมีการจัดประชุม “Summit of The Future”  ซึ่งจะพูดคุยใน 5 ประเด็นสำคัญเพิ่มเติม ได้แก่ 1. การประยุกต์ SDG และการเงินยั่งยืน (Sustainable Finance) 2. สันติภาพโลก (New Piece Agenda) 3. ระบบอภิบาลมากำกับเทคโนโลยี Artificial Intelligence 4. การสร้างความเป็นอยู่ที่ดี และ  5. การปฏิรูปโครงสร้างระบบการเงินของโลก การประชุมฯ ครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะได้หารือ และกำหนดแนวทางในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคตร่วมกัน

https://www.dcaf.ch/towards-summit-future


“ความยั่งยืนในบริบทของประเทศไทย”

รัฐบาลไทยได้พยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Carbon Neutral Destination ด้านการท่องเที่ยว ในขณะที่ภาคเอกชนมีการออกนโยบายให้สอดรับกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้เสีย และสร้างความรับผิดชอบร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม แม้ว่าการพยายามของหลายภาคส่วนเป็นไปในทางที่ดี แต่ในทางปฏิบัติยังมีความไม่ชัดเจนอยู่พอสมควร โดยจากแบบสำรวจการรับรู้ความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาที่เป็นความท้าทายของไทย “Thailand’s Unsustainable Development Review: 7 ปีผ่านไป ไทยยั่งยืนแค่ไหน ในสายตาคุณ” ทำให้เห็นถึงประเด็นความยั่งยืนที่ถดถอยในประเทศไทยในหลากหลายประเด็น

https://www.sdgmove.com/2023/04/05/sdg-updates-midtermreview-tudr-survey-2023/

นอกจากนี้ ทาง ผศ. ชล ได้เผยถึงภาพรวมของประเทศที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ประเทศไทยได้รับผลกระทบด้าน Climate Change และภัยพิบัติ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการลดผลกระทบ ผ่านการหาวิธีการและมาตรการร่วมกัน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การจัดการขยะ การใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก” ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในประเทศเท่านั้น แต่หากเรามองถึงภาคการท่องเที่ยวและบริการที่พึ่งพาธรรมชาติเป็นปัจจัยหลัก เช่น แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติของไทย ภูเขา น้ำตก ทะเล รวมถึงสภาพอากาศ ซึ่งหากธรรมชาติไม่เอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยว ก็อาจส่งผลให้นักเดินทางมีจำนวนที่น้อยลง ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องวางแผนการท่องเที่ยวที่ลดการพึ่งพาธรรมชาติ หรือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม



“การสร้างความรู้ ความเข้าใจ คือ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “ความยั่งยืน” ได้กลายเป็นคำที่คุ้นหูและแพร่หลายมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความเข้าใจเกี่ยวกับความยั่งยืนยังคงมีความคลุมเครืออยู่ไม่น้อย ซึ่งทาง ผศ. ชล ได้เล่าให้ฟังว่า “จากการคลุกคลีอยู่ในวงการธุรกิจทำให้เห็นถึงหน่วยงานต่าง ๆ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของประเด็นความยั่งยืนเพียงแค่ผิวเผิน ยกตัวอย่างเช่น เข้าใจว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว หรือความยั่งยืนเป็นเรื่องของการทำธุรกิจเพื่อสังคมเท่านั้น” ซึ่งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือไม่ชัดเจนเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ การขาดความรู้และความเข้าใจที่เพียงพอ หรือแม้แต่ความเคยชินกับแนวคิดเดิม ๆ ที่เคยปฏิบัติกันมา ซึ่งอาจจะส่งผลเสียในระยะยาวเพราะจะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่สามารถขับเคลื่อนความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะทำอย่างไรให้สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นความยั่งยืนได้อย่างทั่วถึง ?

https://www.facebook.com/sdgmoveth

ทาง ผศ. ชล ได้เสริมในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “การผลักดันให้ทุกคนเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน และสอดแทรกเนื้อหาในประเด็นนี้ในทุก ๆ กิจกรรม เช่น ในประเทศญี่ปุ่น เขามีการจัดวัน Climate Change และสื่อต่าง ๆ ในประเทศ อาทิ ทีวี วิทยุ รถไฟ ต่างร่วมมือกันในการกระจายข่าวสาร ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมันจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” การร่วมมือกันถือเป็นกลไกที่สำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของทุกคน


เชื่อมโยงความยั่งยืนเข้าสู่กิจกรรมไมซ์

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยยะสำคัญ และสามารถผลักดันให้เกิดเป็นกิจกรรมไมซ์ที่ยั่งยืนได้ เช่น การเลือกสถานที่จัดงานไมซ์ในเมืองรอง การจัดทำนโยบายการจัดงานในรูปแบบของ Green Meeting มีการสนับสนุนสินค้าการเกษตรในแหล่งชุมชน ซึ่งถือเป็นการเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเป้าหมายที่ 8 การสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจให้คนในพื้นที่ ตลอดจนเป้าหมายที่ 13 ในการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งทาง ผศ. ชล ยังได้เผยถึงประเด็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อนของการนำเรื่องความยั่งยืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมไมซ์ เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการไมซ์เลือกที่จะทำการชดเชยคาร์บอน หรือ Carbon Offset ซึ่งมักมีลักษณะเป็นเพียงการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น ถือเป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยไม่ได้ลดต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง ในทางกลับกัน หากมีการวางแผนการดำเนินงานโดยสอดแทรกประเด็นความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ ขั้นตอนของกิจกรรมไมซ์นั้น จะช่วยขับเคลื่อนประเด็นเรื่องความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ทาง ผศ. ชล ยังได้แนะนำกับผู้ประกอบการถึงการตั้งต้นวางแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับเป้าหมายที่ยั่งยืนว่า “อยากให้ผู้ประกอบการยึดกระดุมสามเม็ดที่สำคัญ คือ 1. Act to reduce time ต้องสำรวจกิจกรรมที่ตัวเองทำว่ามีผลกระทบทางลบหรือทางบวกในทิศทางใดบ้าง 2. Benefit stakeholders ทำอย่างไรให้คนที่ทำงานกับเรา ผู้มีส่วนได้เสีย ได้ประโยชน์สูงสุด 3. Contribute to solution ออกแบบโซลูชัน หรือวิธีการแก้ปัญหาผลกระทบเขิงลบ”  โดยกระดุมทั้งสามเม็ดนี้ สามารถนำไปปรับใช้ได้ทุกธุรกิจ และทุกอุตสาหกรรม เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนความยั่งยืน


สำหรับในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผศ. ชล ได้เล่าถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมว่า “นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในฝั่งยุโรป เขาให้ความสำคัญในประเด็นความยั่งยืน รวมทั้งพวกเขาอยากได้ประสบการณ์ที่เข้าถึงชุมชน ธรรมชาติและวัฒนธรรม ฉะนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในด้านสถานที่ การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นโอกาสในการต้อนรับนักท่องเที่ยวในอนาคต” ซึ่งการเตรียมความพร้อมด้านความยั่งยืนของผู้ประกอบการท่องเที่ยว นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้นอีกด้วย


สิ่งที่น่าขบคิดและยังคงเป็นข้อถกเถียง คือ เราจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร? เนื่องจากทุกประเทศทั่วโลกยังไม่สามารถที่จะเดินหน้าได้อย่างเต็มกำลังให้บรรลุเป้าหมายได้ในปี พ.ศ. 2573 ประเด็นนี้จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และต้องมีการติดตามและประเมินผลความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต





Rating :