เมื่อการเดินทางในปัจจุบันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ที่สะท้อนถึงความต้องการ และความสนใจที่หลากหลายของนักเดินทาง รวมทั้งการเลือกจุดหมายปลายทางของนักเดินทางไม่ได้จำกัดอยู่เพียงสถานที่ธรรมชาติที่งดงาม หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์อีกต่อไป แต่สถานที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือ Man-Made Destinations ได้กลายเป็นหมุดหมายยอดนิยมที่ดึงดูดนักเดินทางจากทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ที่สามารถเปลี่ยนพื้นที่ธรรมดาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และการจัดงานไมซ์ระดับโลก
MICE Outlook สัปดาห์นี้ เราจะพาคุณไปพบกับการเดินทางรูปแบบใหม่กับ “Man-Made Destinations” พร้อมทั้งเจาะลึกเบื้องหลังความสำเร็จ และเหตุผลที่ทำให้สถานที่เหล่านี้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักเดินทางจากทั่วโลก

Key takeaways:
• สำหรับประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจาก Man-Made Destination จะสามารถสร้างรายได้กว่า 180,000 ล้านบาทภายในปี 2568 หรือประมาณ 0.9% ของ GDP และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 3.1 ล้านคน ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยในเวทีโลก โดยรัฐบาลไทยสนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น ผ่านโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนจากต่างประเทศ และมาตรการจูงใจ เช่น การยกเว้นภาษีและการลดข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ การให้ฟรีวีซ่า เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยต้องพัฒนาให้มีความทันสมัยและสามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ทั้งในด้านนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และความยั่งยืน

“Man Made Destination” ฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
แนวคิดของแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือ Man-Made Destinations กลายเป็นที่นิยม และเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลก โดยจากรายงานของ Future Market Insights คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดนี้จะอยู่ที่ 5.35 ล้านล้านบาท ในปี 2024 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 17.7 ล้านล้านบาท ภายในปี 2034 ซึ่งสะท้อนถึงอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ประมาณ 12.7% โดยรูปแบบของ Man Made Destinations แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบสำคัญ ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์, กิจกรรมเชิงประเพณี เช่น งานเทศกาลต่างๆ, แหล่งท่องเที่ยวเพื่อความบันเทิง เช่น สวนสนุกและการแข่งขัน และ กิจกรรมเชิงธุรกิจ เช่น การประชุม นิทรรศการระดับโลก สถานที่ดังกล่าวได้ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย ทั้งในแง่ของความสนุกสนาน การเรียนรู้ เติมเต็มความฝัน จินตนาการ และการสร้างแรงบันดาลใจ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมนักทางเดินทางที่ต้องการประสบการณ์ที่แตกต่างและมีความหมายมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยมูลค่าตลาด “Man Made Destination” จากรายงานของ Krungthai COMPASS คาดว่าภายในปี 2568 จะสร้างรายได้กว่า 180,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.9% ของ GDP และจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 3.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2565 การเติบโตนี้สะท้อนถึงความต้องการประสบการณ์ที่แปลกใหม่และมีเอกลักษณ์ ซึ่งทำให้ “Man Made Destination” เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เน้นการสร้างสรรค์และประสบการณ์ที่มีคุณค่า ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสร้างภาพลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับประเทศไทยในเวทีโลก

ลิสบอน จากศูนย์กลางท่องเที่ยวสู่เมืองแห่งการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยี
การพัฒนา Man Made Destination หรือแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสวนสนุกระดับโลก การจัดเทศกาลที่มีเอกลักษณ์ การจัดงานประชุมและสัมมนาระดับนานาชาติ แหล่งช้อปปิ้งที่มีเสน่ห์ หรือแลนด์มาร์กที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมและความทันสมัย ทุกอย่างนี้ล้วนมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ตัวอย่างของประเทศที่ได้มีการนำกลยุทธ์ Man Made Destination เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่าง ลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ซึ่งได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการจัดงานประชุมและนิทรรศการระดับนานาชาติ จากรายงานของ Krungthai Compass แสดงให้เห็นว่า ในปี 2566 เมืองลิสบอน ได้เป็นเจ้าภาพการจัดงานไมซ์มากถึง 151 งาน โดยการจัดงานโดดเด่นคือ “Web Summit” หนึ่งในงานประชุมด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเวทีสำคัญสำหรับที่ร่วมผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้นำด้านเทคโนโลยีมาไว้ในงาน สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของลิสบอนในฐานะศูนย์กลางธุรกิจและการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และส่งผลให้ลิสบอนกลายเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพและธุรกิจเทคโนโลยี

ความสำเร็จของลิสบอนชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการวางแผนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ศูนย์ประชุมและนิทรรศการ โรงแรม และการขนส่ง ไปจนถึงการสร้างแบรนด์เมืองที่สามารถสื่อถึงความทันสมัยและความหลากหลายของวัฒนธรรม การจัดงานที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์เมือง เช่น งานเทคโนโลยี ยังช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและธุรกิจที่ต้องการขยายตัวในยุโรป โดยการขับเคลื่อนการจัดงานนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลโปรตุเกส ผ่านนโยบายที่ดึงดูดนักลงทุน เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสตาร์ทอัพ การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ลิสบอนกลายเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาอย่างรวดเร็วและมั่นคง และกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในเวทีโลกที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในอนาคต

“Man-Made Destinations กลยุทธ์ใหม่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทย”
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย ทั้งในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น การผสมผสานระหว่างแหล่งท่องเที่ยวที่ทันสมัยกับมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าช่วยสร้างเอกลักษณ์ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความร่ำรวยทางวัฒนธรรมอันดับที่ 8 ของโลกประจำปี 2567 จากสำนักงานข่าวเว็บ U.S. News & World Report
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้มุ่งพัฒนาจุดหมายปลายทางที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Made Destination) เพื่อตอบสนองเป้าหมายในการเพิ่มความหลากหลายของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความยั่งยืน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีแก่นหลักที่ขับเคลื่อนของรัฐบาลไทยที่ได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เช่น การพัฒนาศูนย์รวมความบันเทิง การขยายศูนย์ประชุมและนิทรรศการ (MICE) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งมาตรการส่งเสริมการลงทุนรัฐบาลไทยได้ออกมาตรการจูงใจเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ เช่น การยกเว้นภาษีในระยะยาว การอนุญาตให้ชาวต่างชาติถือครองกิจการได้ 100% และการลดข้อจำกัดด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้ช่วยกระตุ้นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ และส่งเสริมการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่หลากหลาย โดยเป้าหมายในปี 2568 รัฐบาลไทยตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าชมสถานที่ Man-Made Destination ประมาณ 3.1 ล้านคน ช่วยสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความยั่งยืน โดยมีการวางแผนให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน รวมถึงการออกแบบสถานที่ท่องเที่ยวที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โอกาสของ MICE กับ Man-Made Destination
แม้ว่าเสน่ห์ทางวัฒนธรรม อาหาร และประเพณีของประเทศไทยยังคงเป็นจุดแข็งสำคัญ แต่ Man-Made Destination แสดงให้เห็นถึงการนำเสนอจุดหมายปลายทางในรูปแบบเดิมที่อาจไม่เพียงพออีกต่อไปสำหรับนักเดินทางไมซ์รุ่นใหม่ การที่อุตสาหกรรมไมซ์สามารถพัฒนาและต่อยอดจากจุดเด่นของประเทศไทย ผ่านมุมมองใหม่ที่สร้างสรรค์จะกลายเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสอดรับกับแนวโน้มตลาดและความท้าทาย และทำให้ Man-Made Destination ของประเทศไทยจะกลายเป็นหมุดหมายที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย เนื่องจากการเลือกจุดหมายปลายทางสำหรับงานไมซ์ในปัจจุบัน ไม่ได้พิจารณาเพียงแค่ความสวยงามของเมืองหรือสถานที่จัดงานเท่านั้น แต่นักเดินทางไมซ์ นักลงทุนจะคำนึงถึงศักยภาพของเมืองนั้น ๆ ทั้งในด้านนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และความยั่งยืนในการเติบโตทางธุรกิจ
โดยอุตสาหกรรมไมซ์สามารถนำเสนอนวัตกรรม เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ เข้ากับต้นทุนทางวัฒนาธรรมของไทย เช่น การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) ศูนย์การประชุมอัจฉริยะ (Smart Convention Center)แหล่งท่องเที่ยวที่ผสานเทคโนโลยีล้ำสมัย การสร้างพื้นที่แบบมัลติฟังก์ชัน (Smart Venue Technology) อย่างไรก็ตาม การพัฒนาและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็น Man-Made Destination จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี การส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวและการจัดงาน

MICE Outlook สัปดาห์หน้า เตรียมพบกับประเด็นสำคัญ เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศยกเลิกนโยบาย DEI (Diversity, Equity, Inclusion) ส่งผลกระทบทั้งด้านสังคมและการเมือง สำหรับประเทศไทยที่มีพื้นที่เปิดรับความหลากหลาย จะสามารถใช้โอกาสนี้ในการเสริมสร้างความเข้าใจ และส่งเสริมความเท่าเทียม พร้อมเปิดรับความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร? ต้องไม่พลาดเนื้อหาที่เข้มข้น และครบทุกแง่มุม!
แหล่งที่มา :
• สร้างเศรษฐกิจท่องเที่ยว แบบ Man-made: https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2836461
• ประเมินบทบาท Man-made เครื่องยนต์ใหม่ท่องเที่ยวไทย https://krungthai.com/Download/economyresources/EconomyResourcesDownload_499Man_Made_Destination.pdf
• Destination Marketing Market Outlook from 2024 to 2034 https://www.futuremarketinsights.com/reports/destination-marketing-insights
• More man-made entertainment magnets in Thailand:
https://www.bangkokpost.com/business/general/2866183/more-man-made-entertainment-magnets-in-thailand
• รูปภาพ: https://www.eventoplus.com/en/venues-for-events/meo-arena-corporate-and-congress-centre/ https://www.eventoplus.com/wp-content/uploads/fichas/75366/969dc8b6cc4bce6a68e73cf523056f09-754x394.jpg https://madeinportugalmusica.pt/wp-content/uploads/2016/04/ana-moura_fadista_meo-arena_1.jpg , https://websummit.com/wp-media/2024/07/010-Investor-to-Startup-meetings-area-at-Web-Summit.jpg https://websummit.com/startups/