Thailand's Semiconductor Growth Strategy กลยุทธ์การเติบโตของเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศไทย

Author : MICE Intelligence Team
Views 2166 | 24 Jul 2024
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ จากความต้องการชิปที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่มีความเปราะบาง ส่งผลให้เกิดภาวะความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน การกระจายความเสี่ยงฐานการผลิตสู่ภูมิภาคเอเชียจึงเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้มีโอกาสก้าวเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

MICE Outlook สัปดาห์นี้ จะขอพาทุกท่านมาร่วมพูดคุยกับ คุณภูธนา ดาวเรือง General Manager สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย (Thailand Printed Circuit Association: THPCA) ที่จะมาเล่าถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และแนวทางในการผลักดันให้ประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลก


สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทยกับบทบาทสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย Thailand Printed Circuit Association (THPCA) เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการแผ่นวงจรพิมพ์ (Print Circuit Board (PCB) ของประเทศไทย กับองค์การอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก World Electronics Council (WECC) ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้นำในการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ และส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากไปทั่วโลก ได้แก่ PC (USA), ELNA (Europe), CPCA (China), JPCA (Japan), KPCA (Korea), HKPCA (Hong Kong), TPCA (Taiwan)

โดยคุณภูธนา ดาวเรือง General Manager สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย Thailand Printed Circuit Association (THPCA) ได้เล่าถึงหน้าที่สำคัญของสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทยว่า ทางสมาคมฯ มีพันธกิจหลักคือการพัฒนาอุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์ หรือวงจรไฟฟ้า (Electric Circuit) ประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาสินค้าอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการพัฒนาส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์ของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยจัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงเทคนิคกับสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ในต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานของทางสมาคมฯ ที่จะช่วยขับเคลื่อน และส่งเสริมอุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทยเพื่อแข่งขันได้ในตลาดโลก




นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังมุ่งหวังผลักดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยไม่ได้จำกัดแค่การดำเนินการด้านนโยบายและมาตรการระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังเน้นไปที่การใช้กลยุทธ์ประชาสัมพันธ์และสร้างเครือข่าย ผ่านอุตสาหกรรมไมซ์ที่เป็นเวทีให้นักธุรกิจและผู้สนใจได้พบปะเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูล และสร้างโอกาสทางธุรกิจ ตลอดจนดึงดูดนักลงทุนด้วยการนำเสนอศักยภาพของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไทย ซึ่งในวันที่ 24 - 26 กรกฎาคม 2567 ณ ไบเทค บางนา ทางสมาคมฯ ร่วมกับพันธมิตรได้จัดงานแสดงสินค้าและบริการวงจรอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชีย หรือ เทกก้า ที่รวบรวมนวัตกรรม เทคโนโลยี และผู้ประกอบการแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลกมาจัดแสดงในประเทศไทย รวมทั้งมีการสัมมนาและการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญ กิจกรรมเจรจาธุรกิจ และตลาดนัดแรงงาน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการจับคู่เจรจาธุรกิจกว่า 1,000 คู่ และมีมูลค่าซื้อขายที่จะเกิดขึ้นกว่า 20,000 ล้านบาท จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยจะได้แสดงศักยภาพในตลาดอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์นี้




“เซมิคอนดักเตอร์กับความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และโอกาสของประเทศไทย”

ปฎิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันการเติบโตของผู้ใช้งานเทคโนโลยีทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) แมชชีนเลิร์นนิง (ML) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ต่างล้วนเป็นตัวเร่งสำคัญที่ผลักดันให้เกิด “ความต้องการชิป” เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากชิปเปรียบเสมือนสมองกลของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูล ควบคุมการทำงาน และขับเคลื่อนการใช้งานให้มีประสิทธิภาพ

คุณภูธนาได้เผยว่า “ปัจจุบันตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกมีมูลค่ามหาศาล คาดการณ์ว่าในปีที่ผ่านมามีมูลค่ามากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่เน้นไปที่งานประกอบและทดสอบ (Back End) มากกว่าการผลิตเวเฟอร์ (Front End) โดยประเทศไทยจะรับการผลิต และส่งต่อไปยังผู้ผลิตอีกเจ้า อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกงานประกอบและทดสอบ (Back End) ของไทยในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 333,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และโอกาสในอุตสาหกรรมนี้” แม้ว่าศักยภาพของไทยในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ยังมีโอกาสสูงที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ผลิตในต้นน้ำ (Front End) ปัจจุบันได้มีการเริ่มการพัฒนาในส่วนการผลิตขั้นสูง นำร่องโดยบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ จำกัด ที่ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการจัดตั้งโรงงานการผลิตแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Fabrication)  ซึ่งการลงทุนของ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่นี้แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาไปสู่ห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจรมากขึ้น



หากเจาะลึกมายังประเทศไทยจะเห็นถึงจุดแข็งประเทศไทยที่ได้เปรียบคือ เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) สิ่งปลูกสร้างและระบบพื้นฐานที่รองรับการขยายตัวของชุมชนที่มาพร้อมกับระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่ง และระบบการสื่อสาร ซึ่งการผลิตชิปจำเป็นต้องพึ่งความมั่นคงทางพลังงานทั้งในส่วนของพลังงานไฟ และพลังงานน้ำในปริมาณที่มาก รวมทั้งไทยมีจุดเด่นทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคอาเซียน ทำให้สามารถดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย ถือเป็นสัญญาที่ดีที่จะขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไทยเข้าไปอยู่ในต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทาน

 

“ความท้าทายเมื่อประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่ตลาดเซมิคอนดักเตอร์”

การเติบโตและขยายตัวของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้สร้างโอกาสให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมนี้ ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจึงได้ออกนโยบายและมาตรการสนับสนุนที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย พบว่าแม้นักลงทุนจะมีความสนใจในศักยภาพของประเทศ แต่ยังมีความท้าทายที่ต้องดำเนินการแก้ไข

โดยคุณภูธนา ได้แชร์ว่า “จากการที่ทางสมาคมฯ ได้เข้าไปร่วมสำรวจความต้องการ และสิ่งที่นักลงทุนอยากให้ประเทศไทยซัพพอร์ต หลัก ๆ จะเป็นเรื่องของนโยบายมาตรการทางด้านภาษี (Tax Incentive) แต่อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต่างมีความประสงค์จะดำเนินงาน ภายใต้นโยบายการผลิตชิปอย่างยั่งยืน (Sustainability) เนื่องจากการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สร้างมลพิษ และต่างประเทศเริ่มบังคับให้โรงงานเหล่านี้ซื้อคาร์บอนเครดิต ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในส่วนของการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน จึงต้องเร่งดําเนินการเพื่อให้รองรับความต้องการของนักลงทุน” ทั้งนี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามรวบรวมข้อมูล เพื่อพูดคุยกับภาครัฐถึงการดำเนินการในอนาคต เพื่อให้มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องคาร์บอนเครดิต ตลอดจนการใช้ Renewable Energy เพื่อสร้างความมั่นใจ และดึงดูดนักลงทุนในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย



อีกหนึ่งความท้าทายคือ แม้ว่าประเทศไทยจะมีบุคลากรรองรับในการผลิตอุตสาหกรรมซมิคอนดักตอร์ แต่หากเป็นการผลิตขั้นสูง จำเป็นต้องพัฒนาทักษะบุคลากรภายในประเทศเพื่อให้รองรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง ซึ่งทางสมาคมฯ ได้ดำเนินการฝึกอบรมระยะสั้น (Upskill & Reskill) สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านการเรียนรู้และเวิร์คช็อป, การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (Advanced Electronics) เพื่อให้การศึกษาในระดับกลางถึงสูงตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม และผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับผู้ประกอบการไทย เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับนักลงทุนบางรายที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และกำลังมองหาพาร์ทเนอร์ในท้องถิ่น




ไมซ์ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไทยสู่เวทีโลก

การผลักดันผ่านนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐและการพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการอาจจะไม่เพียงพอ ทางคุณภูธนา ได้ให้มุมมองในเรื่องนี้ว่า ถึงแม้ว่าทางสมาคมฯ ของเราจะมีข้อจำกัดด้านกำลังคน แต่เรามองว่าการใช้ช่องทางไมซ์ในการทำการตลาดสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ เพราะการจัดงานแสดงสินค้า กลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และโปรโมทอุตสาหกรรมของเราไปยังกลุ่มลูกค้าในอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่เราต้องการเข้าถึง ซึ่งเวทีนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเสนอนวัตกรรมของตนไปสู่ตลาดโลก ตลอดจนการเชิญนักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมงานแสดงสินค้า จะช่วยให้พวกเขาเห็นถึงโอกาสในการร่วมลงทุนและทำธุรกิจร่วมกับบริษัทในประเทศไทย” การจัดงานไมซ์จึงถือเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในด้านอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทย


   

 นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังได้คาดการณ์ว่าความต้องการชิปจะยังคงเพิ่มสูงขึ้น เทคโนโลยีใหม่ ๆ และนวัตกรรมจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จึงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาทักษะแรงงาน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และสร้างนโยบายที่เอื้ออำนวย เพื่อคว้าโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตนี้ ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรสร้างความร่วมมือในการพัฒนาระบบนิเวศน์ที่เอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์


แหล่งที่มาของรูปภาพ
- https://www.depa.or.th/en/article-view/20210205_02
- https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/news/prnews/1108203
- https://www.facebook.com/103623551170407/photos/pb.100071771257178.-2207520000/434353018097457/?type=3
Rating :