MICE Outlook สัปดาห์นี้ เราได้พูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อแบ่งปันมุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ พร้อมแนะแนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้
“มุมมองการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติกับภาพของประเทศไทย”
ในยุคของโลกาภิวัตน์ที่การแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงขึ้น การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญ เนื่องจากการลงทุนจากต่างประเทศจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ สร้างการจ้างงาน ส่งเสริมถ่ายทอดเทคโนโลยี และทำให้ประเทศไทยได้มีโอกาสเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ และสร้างเครือข่ายทางการค้าที่มีความหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลก และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของประเทศไทยที่มีความผันผวน ทำให้ประเทศไทยอาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายในการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามายังประเทศ
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณพงษ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ระบุถึงปัจจัยที่นักลงทุนพิจารณาในการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย ถูกแบ่งได้เป็น 2 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ ด้านที่ 1 เรื่องต้นทุน นักลงทุนมักจะทำการเปรียบเทียบต้นทุนการลงทุนในแต่ละประเทศหรือภูมิภาคเพื่อเลือกสถานที่ที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด โดยพิจารณาค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เช่น ค่าแรง ค่าที่ดิน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อผลกำไร ด้านที่ 2 ซัพพลายเชน นักลงทุนพิจารณาถึงความสะดวกในการเข้าถึงวัตถุดิบและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจ ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น ลดต้นทุนและความเสี่ยงในการจัดหาสินค้าและบริการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อได้เปรียบที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศ
นอกจากนี้ ดร. วรรณพงษ์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “แม้ประเทศไทยจะมีต้นทุนการลงทุนที่ไม่แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่แสดงถึงความไม่มั่นคงทางการเมือง จะทำให้เกิดอุปสรรคในการดึงดูดนักลงทุน ซึ่งอาจทำให้พวกเขามองหาตลาดอื่นที่มีความมั่นคงทางการเมืองมากกว่า” ซึ่งสะท้อนให้เห็นการตอบสนองต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มั่นคงและการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและเพิ่มโอกาสในการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศได้มากขึ้น
ดร. วรรณพงษ์ ยังได้มองเห็นปัญหาหลักของผู้ประกอบการไทยในบางอุตสาหกรรมยังคงขาดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้จำเป็นต้องร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ แต่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนร่วมกัน โดยการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยยังมีความซับซ้อน มีขั้นตอนมากมาย และใช้เวลานานในการดำเนินการ ขาดระบบ One-stop Service นโยบายภาษีที่ไม่จูงใจ ขาดความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนกฎหมายและระเบียบ ตลอดนจนรัฐบาลมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยและนักลงทุนต่างชาติ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวย และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
"Entertainment Complex" กลยุทธ์ที่ดึงดูดนักลงทุน
รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา Entertainment Complex ซึ่งนำมาซึ่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณากรณีศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ ที่คาสิโนถูกผนวกเข้ากับห้างสรรพสินค้าและธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่ดึงดูดนักท่องเที่ยว นักลงทุนเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างงานและกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการพัฒนาชุมชนในระยะยาว
โดย ดร. วรรณพงษ์ ได้ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานบันเทิงครบวงจรในประเทศไทยว่า “การพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจรต้องมีกฎหมายที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วม เพื่อดึงดูดโอกาสและทักษะใหม่ๆ สู่ประเทศ ซึ่งทางภาครัฐเองต้องสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายที่เอื้ออำนวย เช่น การเดินทางและวีซ่า เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว” การพัฒนา Entertainment Complex นับเป็นโอกาสสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ โดยการขับเคลื่อนในเรื่องนี้สามารถส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไมซ์ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม โดยต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการอย่างรอบคอบ เพื่อลดผลกระทบเชิงลบและสร้างความเข้าใจให้กับชุมชน การสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องและโปร่งใส ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยอมรับจากประชาชนและทำให้โครงการประสบความสำเร็จ
ปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมไมซ์
อุตสาหกรรมไมซ์ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในด้านการจัดงานและการท่องเที่ยว การดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาจัดงานในประเทศจึงเป็นเป้าหมายหลักของหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากหลายประเทศมุ่งมั่นในการปรับปรุงปัจจัยต่าง ๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อม หรือการยกระดับคุณภาพบริการ ถึงแม้ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจจะยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจลงทุน
แต่ ดร. วรรณพงษ์ ได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่มีความสำคัญมากยิ่งกว่า นั่นคือ "ความสบายใจ" ที่นักลงทุนได้รับจากประสบการณ์ในการทำธุรกิจและการจัดงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนได้อย่างมาก “ประเทศไทยมีศักยภาพที่โดดเด่นในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ในภูมิภาคอาเซียน จากปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเหนือกว่าประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง ราคาคุ้มค่า ไมตรีจิตของคนไทย รวมถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลาย” ปัจจัยเหล่านี้ไม่เพียงแต่ดึงดูดนักเดินทางไมซ์ แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกจัดงานไมซ์ในไทยอีกด้วย และหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไมซ์ โดยไม่จำเป็นต้องเน้นเพียงแค่การแข่งขันด้านราคา แต่ควรให้ความสำคัญกับการสร้าง "ประสบการณ์ที่ดี" ให้แก่นักลงทุน จะส่งผลให้เกิดการบอกต่อและดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง