ปลดล็อกข้อจำกัดอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยข้อมูลเปิดภาครัฐในงาน MICE Techno Mart 2023 กับห้วข้อสัมมนา Data-Driven Ecosystems in Thailand: How Government Can Unleash The Value Creation

Author : MICE Intelligence Team
Views 2547 | 17 May 2023


การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลในปัจจุบันได้เปลี่ยนบริบทด้านเศรษฐกิจ สังคม และส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการที่ต้องเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการใช้ประโยชน์จาก “ข้อมูล” ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญต่อการนำมาเพิ่มมูลค่าธุรกิจ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญนี้ จึงได้มีการกำหนดนโยบาย และจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้าง Data-Driven Ecosystems ให้ประเทศไทยมีข้อมูลที่ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐ และเอกชน สามารถนำไปใช้พัฒนาออกแบบการบริการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

MICE Outlook สัปดาห์นี้ ได้สรุปประเด็นสำคัญจากงาน MICE Techno Mart 2023 ในหัวข้อ Data-Driven Ecosystems in Thailand: How Government can Unleash the Value Creation โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มาร่วมเสวนา แบ่งปันเกี่ยวกับการดำเนินการด้านข้อมูลเปิดภาครัฐที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไมซ์ได้เป็นอย่างดี



Data Driven Ecosystem และ Data Governance Policy ในประเทศไทย

 

“ข้อมูล” ถือเป็นทรัพย์สินเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลที่มีประโยชน์ ช่วยให้ธุรกิจวางแผนประกอบการบริหารจัดการได้อย่างแม่นยำ โดยหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ได้ออกมาส่งเสริม และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล รวมทั้งให้ความสำคัญในการสร้างระบบนิเวศในการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Ecosystem) ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐจำเป็นต้องมีการจัดทำนโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance Policy) เพื่อกำกับดูแลข้อมูลให้มั่นคงปลอดภัย มีความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน รักษาความเป็นส่วนบุคคล และสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์ และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Promotion Agency) หรือ depa ได้กล่าวถึงการดำเนินการของภาครัฐว่า "ทางเราได้จัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data Institute ด้วยเป้าหมายเพื่อสร้างการตระหนักรู้ และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจหันมาใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจด้านการบริหารและวางแผนต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งยังเป็นการดึงผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลมาไว้ในระบบนิเวศการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล 
ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของข้อมูลมากขึ้น"

ในขณะเดียวกันทาง ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เปิดเผยว่า ข้อมูลจากภาครัฐอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องมีการร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อกำหนดทิศทาง และสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลที่จะทำให้เกิดการผนวกข้อมูลเข้าด้วยกัน เพื่อให้ข้อมูลเปิดภาครัฐนั้นมีความครบถ้วนมากขึ้น


นอกจากนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ National Innovation Agency (NIA) โดยคุณปริวรรต วงษ์สำราฐ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม ได้ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า“Data สำหรับ NIA คือ นวัตกรรม ที่นำมาใช้ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจเพื่อเสนอแนวทางการดำเนินงานใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างคุณค่าให้แต่ละองค์กรได้ โดยปัจจุบัน NIA ได้เร่งดำเนินการ 3 ส่วนที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ได้แก่ 

  1. 1. จัดทำนโยบายส่งเสริมให้ภาครัฐ และเอกชนใช้ข้อมูล โดยการดึงข้อมูลจากภาครัฐ และเอกชนมาใช้วางแผนนโยบายให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้ดียิ่งขึ้น
  2. 2. ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพให้ใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐ เช่น กรณีของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เพื่อใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในการจัดทำแอปพลิเคชันพัฒนาระบบ และซอฟต์แวร์ให้เป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และประชาชน
  3. 3. เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ Ecosystem เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานที่ภาครัฐ และเอกชนสามารถนำไปประกอบในการวิเคราะห์ข้อมูลได้

การที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายในการสร้างระบบนิเวศการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเปิดของภาครัฐ ผ่านนโยบายส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลให้แข็งแกร่งเพื่อให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ และคาดการณ์ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในอนาคต รวมถึงต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงชุดข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

เดินหน้าสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลเปิดภาครัฐให้แข็งแกร่ง 


การได้มาซึ่งข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ (Data Acquisition) นับว่าเป็นความท้าทาย และมีความซับซ้อนพอสมควร เพราะต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจว่าจะต้องดึงชุดข้อมูลอะไรมาเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนมากที่สุด รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการจัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานภาครัฐ โดยกระทรวงดิจิทัลฯ และ depa จึงมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการค้นหากลไกใหม่ ๆ เพื่อปลดล็อคข้อจำกัดต่าง ๆ โดยเร่งจัดทำบัญชีบริการดิจิทัลที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานระหว่างภาครัฐ และเอกชนให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างผู้ให้บริการเทคโนโลยีได้อย่างมั่นใจ ทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไมซ์ได้แสดงความสามารถผ่านการพัฒนาสินค้าหรือบริการดิจิทัลที่มีคุณภาพ

https://www.depa.or.th/th/article-view/202303031_03


ก่อนที่จะนำข้อมูลมาใช้ เราจำเป็นต้องศึกษาว่ามี Business Model อะไรที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการไมซ์เข้าด้วยกันได้ ดร.ชินาวุธ มองว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และไมซ์ไทยจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลร่วมกันในการพัฒนาบริการต่าง ๆ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งของการจัดทำแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวแห่งชาติที่ชื่อว่า ThailandCONNEX ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับบริษัท ทราวิซโก เทคโนโลยี จำกัด (TRAViZGO TECHNOLOGY Co., Ltd.) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายเล็กให้สามารถเติบโตได้ในตลาดที่ใหญ่ขึ้น

www.thailandconnex.com


ThailandCONNEX เปรียบเสมือนตัวกลางที่รวบรวมผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม การขนส่ง สถานที่ท่องเที่ยว การดูแลสุขภาพ ฯลฯ ทั้งไทย และต่างชาติเข้ามาไว้ด้วยกัน โดยนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลมาเสริมศักยภาพการแข่งขัน ช่วยให้ผู้ประกอบการภาครัฐ และเอกชนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งแพลตฟอร์มจะมี 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่

  1. 1. แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก (National Digital Tourism Platform) ในลักษณะการซื้อขาย Business to Business (B2B) โดยผู้ใช้งานจะทำการขายสินค้า
    และบริการในรูปแบบบัตรของขวัญ บัตรกำนัล หรือคูปองเงินสด ซึ่งจะมีการนำข้อมูลมาช่วยให้ผู้ใช้งานได้ออกแบบสินค้า และบริการได้อย่างเหมาะสม
  2. 2. โทเคนดิจิทัลด้านการท่องเที่ยว (National Digital Tourism Token) เครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้บริการ กระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำ (Repeat Purchase) และสร้างความภักดี (Loyalty) ต่อธุรกิจ
  3. 3. ธนาคารข้อมูลดิจิทัลด้านการท่องเที่ยว (National Digital Tourism Data Bank) ศูนย์กลางรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลสินค้า การบริการ การเดินทาง ที่พัก และการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบถึงพฤติกรรม ความชอบ สัญญาณการเปลี่ยนแปลง และแนวโน้มในอนาคต

ดยหลังจากการใช้งานแต่ละครั้ง ผู้ประกอบการสามารถที่จะกดดูรายงานหรือแดชบอร์ดผ่านทางระบบได้ เพื่อนำมาวิเคราะห์ และนำไปสู่การออกแบบพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้เฉพาะเจาะจง และตรงใจมากขึ้น ทั้งยังทำการซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านระบบการชำระเงินที่มีความปลอดภัย ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 120,000 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการกว่า 100,000 ราย ร่วมใช้งานแพลตฟอร์ม


https://www.facebook.com/ThailandCONNEX/photos/pcb.166038172993641/166036789660446

 

“Data Connectivity” เชื่อมโยงข้อมูล ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และไมซ์ไทย

 

ThailandCONNEX ได้กลายมาเป็นแพลตฟอร์มที่มีข้อมูลจำนวนมากหมุนเวียนในระบบอย่างต่อเนื่องซึ่งข้อมูลเหล่านั้นสามารถต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าให้กับทุกภาคส่วน โดยทาง รศ.ดร.ธีรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า “การบริหารจัดการโดยไม่ใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ก็เหมือนการขับเครื่องบินโดยไม่ใช้เซนเซอร์ การจะบินด้วยตาเปล่าอาจจะไม่เหมาะกับเรื่องใหญ่ ๆ อย่างการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ถือเป็นความพยายามสำคัญที่จะสร้างให้เกิดการบูรณาการ และใช้ประโยชน์ข้อมูลจากรัฐ และเอกชนอย่างเต็มที่" จึงเป็นที่มาของอีกหนึ่งศูนย์กลางการเชื่อมโยง และพัฒนาบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวที่มีชื่อว่า “Travel Link” ซึ่งเข้ามามีบทบาทช่วยขยายขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว


https://www.depa.or.th/th/article-view/202303031_03


แพลตฟอร์ม Travel Link เกิดจากการร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชนมากกว่า 20 หน่วยงานที่ต้องการสนับสนุน และฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยได้นำข้อมูลเปิดภาครัฐที่มีมาสกัดรวมกันและออกแบบข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบอินโฟกราฟิก และแดชบอร์ดที่ง่ายต่อการอ่าน และทำความเข้าใจให้ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างเสรี


https://www.travellink.go.th/


นการดำเนินงานจะมีเป้าหมาย 2 ส่วนสำคัญด้วยกันคือ “ส่วนที่หนึ่ง เก็บข้อมูลพื้นฐานของนักเดินทางที่เข้ามายังประเทศ เช่น สัญชาติ อายุ สถานที่ที่พัก พฤติกรรมการเดินทาง และเชื่อมโยงข้อมูลการท่องเที่ยว และส่วนที่สอง เชื่อมต่อกับระบบเราเที่ยวด้วยกันของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้เห็นพฤติกรรมการเดินทาง การเข้าเช็กอินที่โรงแรม และกิจกรรมต่าง ๆ ของนักเดินทางได้โดยไม่ต้องดำเนินการเก็บข้อมูลเอง” โดยสามารถดึงแดชบอร์ดข้อมูลได้กว่า 80 แดชบอร์ด และยังมีระบบบัญชีข้อมูล (Data Catalog) ที่มีชุดข้อมูลสำคัญด้านการท่องเที่ยวของไทยทั้งหมดรวบรวมไว้ด้วยกัน


ซึ่งการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมของภาครัฐในการทำให้ “ข้อมูล” ถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบบนแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ และสะดวกต่อการเรียกใช้งาน ถือเป็นการลงทุนที่สร้างประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจในระยะยาว และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เมื่อข้อมูลที่มีสามารถเป็นจุดตั้งต้นในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับทุก ๆ ธุรกิจ เพื่อร่วมกับขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และมั่นคง

 


แหล่งอ้างอิง

ThailandCONNEX: www.thailandconnex.com 

ThailandCONNEX: https://www.youtube.com/watch?v=O8avyFN-7hY

Travel Link: https://www.travellink.go.th/about-us#vision

 

Rating :