Festival Where Experience Sparks Opportunity “เทศกาล” งานสร้างสรรค์ประสบการณ์และโอกาส

Author : MICE Intelligence Team
Views 3701 | 03 May 2024
Wonderfruit เทศกาลดนตรี ศิลปะ และความยั่งยืน ที่ไม่ได้เป็นเพียงงานบันเทิงทั่วไป แต่เปรียบเสมือนดินแดนแห่งจินตนาการที่ถูกเนรมิตขึ้นบนพื้นที่ขนาดใหญ่ รายล้อมไปด้วยธรรมชาติใจกลางประเทศไทยและเป็นตัวอย่างของการขับเคลื่อน "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ของไทย โดยพลังของ "คนรุ่นใหม่" ผ่านเวทีแห่งการแสดงดนตรี งานศิลปะ กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ การนำเสนอความเป็นไทยที่สามารถดึงดูดนักเดินทางทั่วโลก

MICE Outlook สัปดาห์นี้ เราจะขอพาทุกท่านร่วมพูดคุยกับคุณเจ มณฑล จิรา ผู้บริหารบริษัท สแครทช์เฟิร์สท์ จำกัด และ ผู้ร่วมก่อตั้ง Wonderfruit เทศกาลดนตรีนำเสนอประสบการณ์ครบวงจร ที่จะมาแชร์มุมมองของการจัดงานเทศกาลในฐานะเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบการไมซ์ในการสร้างสรรค์งานเทศกาลที่มีคุณค่า และมอบประสบการณ์สุดพิเศษให้กับผู้เข้าร่วมงาน


“Wonderfruit” เทศกาลดนตรีไลฟ์สไตล์ที่มากกว่าเสียงเพลง

หากพูดถึงกิจกรรมที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน และสีสัน รวมถึงเป็นเสมือนจุดหมายปลายทางที่รวบรวมผู้คนที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน “งานเทศกาล” ย่อมเป็นคำตอบอันดับต้น ๆ ที่หลายคนนึกถึง เนื่องจากเป็นประจำทุกปีที่จะพบเห็นนักเดินทางทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติออกเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษผ่านการเข้าร่วมงานเทศกาล ซึ่งคุณเจ มณฑล จิรา ผู้บริหารบริษัท สแครทช์เฟิร์สท์ จำกัด ผู้ร่วมก่อตั้ง “Wonderfruit” หนึ่งในผู้หลงใหลในงานเฉลิมฉลอง และคลุกคลีอยู่ในวงการเพลง เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ได้มีโอกาสเติมเต็มความสุขและประสบการณ์ใหม่ ๆ ผ่านการเข้าร่วมงานเทศกาลดนตรีทั่วโลก

ซึ่งนอกเหนือจากความสุขที่ได้รับจากการเดินทาง ก็ได้เกิดคำถามในใจผ่านมุมมองของตนเองว่า ถ้าเราจะจัดงานเทศกาลดนตรีขึ้นมาเอง เราจะทำอย่างไรให้แตกต่าง และตอบโจทย์ความต้องการของผู้เข้าร่วมงาน” จากการทบทวนโดยใช้ความรู้สึก และประสบการณ์จริงที่ผ่านมาในการเฟ้นหารูปแบบการจัดงานเทศกาลที่ไม่เหมือนใคร คุณเจ มณฑล ได้ฉุกคิดถึงความสำคัญของการนำเสนอประสบการณ์ที่แปลกใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำกิจกรรม และความเป็นไทยมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงาน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมงาน ในขณะเดียวกันได้นำความรู้สึกและบรรยากาศ (Vibes) ที่ดีของงานในต่างประเทศเข้ามารวมไว้ด้วยกัน ที่มาของเทศกาล Wonderfruit จึงไม่เพียงแค่เป็นแหล่งรวมพลของผู้ที่ชื่นชอบดนตรี แต่กลายเป็นสถานที่ที่รวบรวมนักเดินทางทั่วโลก ที่ต้องการมาเยี่ยมเยือนให้ได้มาทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันที่ประเทศไทย

https://cdn.filestackcontent.com/z6PaLCemQnyzSbSon4IP
https://www.dooddot.com/wonderfruit-music-festival-2015-recap/

การแบ่งปันความสนใจและประสบการณ์ร่วมกันภายในงานเทศกาล ถือเป็นสิ่งที่เปิดโลกทัศน์ให้ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ที่ได้เดินทางไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็น Local และการเข้าถึงชุมชน เช่นเดียวกับ Wonderfruit ที่ได้ออกแบบกิจกรรม โดยแบ่งโซนต่าง ๆ ภายในงานให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การแสดงดนตรี, การแสดงผลงานศิลปะสร้างสรรค์, การทำฟาร์มสู่การปรุงอาหาร (Farm-to-table), กิจกรรมเพื่อสุขภาพกายและใจ, การร่วมวงสนทนาและเวิร์คช็อป, กิจกรรมกลางแจ้ง และอื่น ๆ พร้อมกับการดึงผู้ประกอบการไทยในกลุ่มของงานฝีมือและหัตถกรรม, ดนตรี, ศิลปะการแสดง, การออกแบบ, การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม, แฟชั่น, อาหารไทย, การแพทย์แผนไทย เป็นต้น เข้ามาร่วมแสดงและนำเสนอความสร้างสรรค์ เสน่ห์เมือง ทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิต (Authentic Prosper) โดยคาดหวังว่ากิจกรรมเหล่านี้ จะสามารถเพิ่มประสบการณ์ที่มีคุณค่าให้กับผู้เข้าร่วมงานทุกคน

https://www.dooddot.com/wonderfruit-music-festival-2015-recap/

ท่ามกลางความบันเทิงของเสียงดนตรีที่สนุกสนาน และบรรยากาศที่คึกคักของงานเทศกาล Wonderfruit ยังทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่มุ่งสร้าง “การตระหนักรู้” “กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และ “เป็นแรงบันดาลใจ” ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนให้สอดคล้องกับการจัดงานอย่างยั่งยืน ด้วยการกำหนดรูปแบบกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืนไปด้วยกัน เช่น เวทีและโครงสร้างต่าง ๆ ภายในงานล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เลือกใช้วัสดุท้องถิ่นและเทคนิคการก่อสร้างแบบดั้งเดิม การจัดการขยะ ส่งเสริมการรีไซเคิลและลดปริมาณขยะ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) เป็นต้น

โดยคุณเจ มณฑล ได้แชร์ถึงเรื่องนี้ว่า ทาง Wonderfruit เราไม่ต้องการที่จะบังคับผู้เข้าร่วมงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ยั่งยืนอย่างสุดโต่ง เราแค่ต้องการที่จะจุดประกายความคิด และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าร่วมงานมองเห็นความสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมที่ทำควบคู่ไปกับแกนหลักของงาน ที่เรามุ่งเน้นความสนุกสนานและการสร้างสรรค์” แนวทางนี้สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างสมดุลระหว่างความยั่งยืนกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีของผู้เข้าร่วมงาน จากการผสมผสานแนวความคิดด้านการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเข้ากับแกนหลักของงาน จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานมองเห็นความสำคัญในประเด็นความยั่งยืนมากขึ้น
https://www.facebook.com/wonderfruitfest/photos/pb.100044963682090.-2207520000/5514035242057889/?type=3


“Thainess” แรงบันดาลใจของความเป็นไทยสู่งานเทศกาลเชิงวัฒนธรรม 


งานเทศกาลยังถือเป็นประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ในการผสมผสาน "วัฒนธรรมท้องถิ่น" เข้ากับกิจกรรมของงาน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยส่งมอบประสบการณ์ที่ดี แต่ยังเป็นการประชาสัมพันธ์เสน่ห์ความเป็นไทยสู่สายตาชาวโลกให้เกิดการกระตุ้น และบอกต่อแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) เพื่อดึงดูดนักเดินทางให้เดินทางมายังประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไมซ์จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความคาดหวังที่หลากหลายด้วยความเข้าใจถึงความต้องการของผู้เข้าร่วมงานแต่ละกลุ่ม เพื่อให้สามารถออกแบบงานเทศกาลที่ตรงใจนักเดินทางได้


https://www.facebook.com/wonderfruitfest/photos/pb.100044963682090.-2207520000/4449559421838815/?type=3

หนึ่งในนั้นคือการนำ "หมอลำบัส Molam Bus" รถนิทรรศการหมอลำที่นำเสนอวัฒนธรรมอีสานอันงดงาม ผ่านลีลาการแสดง ที่จัดทำขึ้นโดย Jim Thompson Art Center มาเป็นส่วนหนึ่งของงาน Wonderfruit เปรียบเสมือนการฉีกกรอบความจำเจของงานเทศกาลดนตรีทั่วไป ด้วยการดึงความสนใจของผู้เข้าร่วมงานเทศกาลโดยใช้แก่นแท้ของวัฒนธรรม และดนตรีที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตได้อย่างลึกซึ้ง

โดยคุณเจได้เล่าว่า หลังจากผู้เข้าร่วมงานสัมผัสประสบการณ์ หมอลำบัส (Molam Bus) ต่างรู้สึกประทับใจและได้รับแรงบันดาลใจ ได้เปลี่ยนให้เป็นความหลงใหล และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวัฒนธรรมอีสาน เปรียบเสมือนของขวัญที่นักเดินทางได้รับจากงานเทศกาลที่พวกเขาสามารถนำความทรงจำนี้ติดตัวกลับไปยังประเทศของตัวเอง การนำวัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นท้องถิ่นของประเทศไทย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาล เสมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างวัฒนธรรมไทยกับนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก ให้ได้สัมผัสกับบรรยากาศของความเป็นไทยดั้งเดิม ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องดนตรี ได้ลองแต่งกายแบบไทยอีสาน และได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้านท้องถิ่นอีกด้วย

https://www.fungjaizine.com/article/live_review/review-wonderfruit-2018


“Festival” พื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย Wonderfruit ยังเป็นเทศกาลดนตรีสมัยใหม่ที่โอบรับ และเปิดพื้นที่ในการสร้างโอกาสใหม่ให้กับคนไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ทั้งผู้ประกอบการในด้านศิลปะ งานฝีมือ โดยเฉพาะศิลปินไทย ผ่านการจัดโครงการ Intermission ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการเปิดโอกาสให้ศิลปินได้แสดงผลงาน และพัฒนาฝีมือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์ด้านดนตรีจากต่างประเทศ


โดยคุณเจ มณฑลได้เล่าว่า เราเปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่ที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลง ได้รับการฝึกฝนและพัฒนาฝีมือจากเมนทอร์ที่มีประสบการณ์อย่าง Howie B โปรดิวเซอร์วง U, Bjork โดยได้มีศิลปินไทย เช่น ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง ที่ได้เข้าร่วมโปรแกรมจนได้แสดงศักยภาพ และมีโอกาสแสดงบนเวทีใหญ่ของ Wonderfruit ซึ่งทำให้มีฐานแฟนคลับเพิ่มมากขึ้น นอกจากเวทีดนตรีตลอดระยะเวลาการจัดงาน 4 คืน 5 วัน ภายในงานยังมีศิลปินหลากหลายแขนงที่นำงานศิลปะ วัฒนธรรม และงานฝีมือมาจัดแสดง ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ถูกแชร์ภาพความสวยงามที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยดั้งเดิม บนโลกออนไลน์ ทำให้เกิดการรับรู้และขยายฐานกลุ่มผู้เข้าร่วมงาน

https://www.facebook.com/photo/?fbid=856524779809299&set=pcb.856525113142599&locale=ps_AF

สำหรับนักเดินทางทั่วโลกที่มารวมตัวกันในงาน Wonderfruit หลายคนล้วนมี ความสนใจและมองหางานเทศกาลที่มีบรรยากาศคล้ายคลึงกัน ดังนั้น การนำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ผ่านการชู อัตลักษณ์ท้องถิ่นและวัฒนธรรมไทยจะสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีคุณค่าให้แก่นักเดินทางทั่วโลกซึ่งนับว่าเป็นโอกาสทองของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยในการต่อยอดออกแบบกิจกรรมที่สอดรับกับความคาดหวังและความต้องการของนักเดินทางซึ่งผลลัพธ์ปลายทางที่ได้คือ การสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการไทยทุกภาคส่วน รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

“Festival Economy” หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยงาน “เทศกาล” จึงถือเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ และเป็นกลไกสำคัญในการสร้างเสริมเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม การจัดงานเทศกาลให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องพึ่งพาและอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ในการสนับสนุน และผลักดันงานเทศกาลของไทยให้ยังคงเป็นที่สนใจของนักเดินทางทั่วโลก


Rating :