Semiconductor and Growth Opportunities in Thailand: ประเทศไทยกับโอกาสใหม่ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

Author : mice intelligence team
Views 4621 | 19 Jul 2024

สงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนส่งผลกระทบอย่างมากต่อห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาต่างเร่งหาแนวทางกระจายความเสี่ยง กระจายการลงทุน รวมถึงการสร้างเสถียรภาพให้กับห่วงโซ่อุปทาน สถานการณ์ดังกล่าวสร้างโอกาสให้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ในการดึงดูดการลงทุนด้านการผลิตและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์เพื่อพัฒนาสู่การเป็นฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญของอาเซียน


MICE Outlook สัปดาห์นี้ ขอพาทุกท่านไปร่วมวิเคราะห์โอกาสของประเทศไทย ด้วยศักยภาพ แนวทาง และกลยุทธ์ที่จะผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์



Key takeaways

• ในแต่ละปีประเทศไทยส่งออกเซมิคอนดักเตอร์มูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย 80% ของการส่งออกอยู่ในกลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า ตลาดส่งออกหลักของไทยได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และสิงคโปร์
รัฐบาลไทยจึงตั้งเป้าหมายสำคัญในการดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้น
• จากรายงาน Deloitte Global Semiconductor Industry Outlook ประจำปี 2567 ที่คาดการณ์ว่ายอดขายชิป Gen AI จะพุ่งสูงถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2567 คิดเป็น 8.5% ของยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมด หากประเทศไทยสามารถพัฒนาสู่การผลิต Semiconductors ขั้นสูงได้สำเร็จ จะเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพ และคว้าโอกาสในการเข้าถึงตลาดนี้
• อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทยจะเติบโตอย่างยั่งยืน และสามารถรับมือกับความท้าทายในอนาคตได้ ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการจะต้องสร้างความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ เช่น จัดหาพันธมิตรร่วมลงทุนกับบริษัทชั้นนำ วิจัยและพัฒนากระบวนการผลิต พัฒนาทักษะแรงงาน Upskill/Reskill



สถานการณ์เซมิคอนดักเตอร์ของไทยในปัจจุบัน

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แบ่งกระบวนการผลิตออกเป็นสองขั้นตอนหลักคือ 1) การพัฒนาและการผลิตชิป Front End 2) การประกอบและทดสอบชิป Back End ซึ่งในปัจจุบันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ประเทศไทยมีความโดดเด่นในส่วนการประกอบและทดสอบชิปBack End รวมถึงเป็นฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับขั้นกลาง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดแผ่นเวเฟอร์และการประกอบชิป 

ในแต่ละปีประเทศไทยส่งออกเซมิคอนดักเตอร์มูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า (Integrated Circuit - IC) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ เช่น ทรานซิสเตอร์ โดย 80% ของการส่งออกอยู่ในกลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า โดยตลาดส่งออกหลักของไทยได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และสิงคโปร์
จากความสำเร็จดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงมุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดโดยตั้งเป้าหมายสำคัญในการดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงทั้งในส่วน การผลิตชิปต้นน้ำ การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ การรับจ้างผลิตและทดสอบชิปขั้นสูงเข้ามายังประเทศไทยเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างแรงงานทักษะสูง และยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศ




ทั้งนี้ ทางรัฐบาลยังได้มีนโยบายในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน และการลงทุนจากต่างชาติ ผ่านการผลักดัน 5 อุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ดิจิทัล (Digital) อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Industry) และพลังงานสะอาด (Clean Energy) ส่งผลให้เกิดความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ แบงกิ้งคอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (HSBC) สาขาประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) โดยมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าเงินลงทุนรวมจะมีไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท ภายในปี 2567 โดยมุ่งเป้าไปที่การอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างประเทศ ในการเข้าถึงโอกาสทางการลงทุนและขยายธุรกิจในประเทศไทย ผ่านความเชี่ยวชาญด้านการเงินและเครือข่ายลูกค้าธุรกิจระดับโลกของ HSBC ครอบคลุม 62 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นโอกาสแก่ผู้ประกอบการไมซ์เนื่องด้วยภาครัฐมีแผนการประชาสัมพันธ์ผ่านการจัด Roadshow ในตลาดเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ เช่น จีน ฮ่องกง อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย อาเซียน ยุโรป และสหราชอาณาจักร 



โอกาสของประเทศไทยในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์



จากการวิเคราะห์ของ SCB EIC ทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีโอกาสพัฒนากระบวนการผลิตชิปในระดับต้นน้ำ (Front End Process) ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตซิลิคอนเวเฟอร์ ซึ่งสามารถเทียบเคียงกับการผลิตชิปของประเทศจีนในระดับเทคโนโลยีการผลิตที่มีขนาดมากกว่า 10 นาโนเมตรได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทำให้เกิดความต้องการในการใช้ชิป ค่อนข้างสูง อ้างอิงจากรายงาน Deloitte Global Semiconductor Industry Outlook ประจำปี 2567 ที่คาดการณ์ว่ายอดขายชิป Gen AI จะพุ่งสูงถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2567 คิดเป็น 8.5% ของยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมด ซึ่งหากประเทศไทยสามารถพัฒนาสู่การผลิต Semiconductors ขั้นสูงได้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพ และคว้าโอกาสในการเข้าถึงตลาดนี้ได้



นอกจากนี้ ข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเผยให้เห็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศไทย หลังจากเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เนื่องจากสหรัฐฯ เริ่มหันมาพึ่งพาการนำเข้าชิปจากไทยมากขึ้น สวนทางกับการนำเข้าชิปจากจีนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสถานการณ์นี้ส่งผลดีต่อประเทศไทยทั้งในด้านของโอกาสทางธุรกิจที่ผู้ผลิตชิปไทยมีโอกาสขยายฐานลูกค้า และเพิ่มยอดขายไปยังสหรัฐอเมริกา การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่ต้องการผลิตชิป ตลอดจนการเพิ่มแนวโน้มขยายตัว สร้างงานใหม่ให้กับคนไทย


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศไทยจะมีศักยภาพในการพัฒนา แต่ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เนื่องจากข้อจำกัดทางเทคโนโลยีที่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูง ซึ่งในปัจจุบันไทยไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีในการผลิตเหมือนประเทศสหรัฐฯ หรือกลุ่มสหภาพยุโรป และไม่ได้เป็นผู้รับจ้างผลิตแบบประเทศไต้หวัน ตลอดจนไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายจากความไม่สมดุลของตลาดแรงงานภายในประเทศ อุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้องการวิศวกรผู้เชี่ยวชาญและแรงงานที่มีทักษะมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ


ดังนั้น กลยุทธ์ที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทยเติบโตอย่างยั่งยืน และสามารถรับมือกับความท้าทายในอนาคตได้ ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการจะต้องสร้างความร่วมมือกัน ผ่านการจัดหาพันธมิตรในการร่วมลงทุน มีการทำวิจัยและพัฒนาการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานทั้ง Hard skills และ Soft skills โดยให้ความสำคัญกับการ Upskill/Reskill แรงงานภายในอุตสาหกรรมให้มีความพร้อมและตอบโจทย์ความต้องการในตลาดที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลเทคโนโลยี และการพัฒนา Soft skills ในด้านมนุษยสัมพันธ์และการทำงานเป็นทีมของแรงงานยุคดิจิทัล




โดยอุตสาหกรรมไมซ์สามารถเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ ด้วยการจัดงานสัมมนาและประชุมเชิงวิชาการ (Meeting & Conference) สร้างแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ จากการนำผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ และนำเสนอแนวโน้มและทิศทางใหม่ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์, การจัดแสดงสินค้าและนิทรรศการ (Exhibitions) นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถเป็นเวทีให้บริษัทในและต่างประเทศนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุด ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการพบปะกับผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการร่วมมือและการลงทุน เป็นต้น การส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมไมซ์อย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำในภูมิภาค

MICE Outlook สัปดาห์หน้า จะขอพาทุกคนร่วมเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศสกับบทความพิเศษที่จะมาวิเคราะห์รูปแบบการจัดงาน “The Olympic Games Paris 2024” ที่นำเสนอการจัดงานอย่างยั่งยืน ผ่านไอเดียสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไมซ์ได้รับแรงบันดาลใจพร้อมไอเดียการจัดงานอย่างยั่งยืน ต้องไม่พลาดที่จะติดตามเนื้อหาที่เข้มข้น ทุกแง่มุม!


แหล่งที่มา:

• เซมิคอนดักเตอร์มีบทบาทที่สำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างไร: https://www2.deloitte.com/th/en/pages/about-deloitte/articles/semiconductor-th.html
• รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. ชี้จังหวะดีสุด ดึงลงทุนเซมิฯชั้นสูง: https://www.kmitl.ac.th/article
• อนาคตอุตสาหกรรมไทย: https://www.thaipbs.or.th/news/content/340180
• บริษัท HANA Electronic: https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1119543
• ไทยอยู่ตรงไหนในสมการ? เมื่อมาเลเซียกำลังผงาดเป็นศูนย์กลางผลิตเซมิคอนดักเตอร์: https://spacebar.th/world/malaysia-emerges-hotspot-semiconductor-thailand-political-turmoil
• BOI กับ HSBC ร่วมลงนาม MOU:https://www.bangkokpost.com/business/general/2810104/boi-targets-computer-chip-investments , https://www.nationthailand.com/business/trading-investment/40038764
• จับตาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลก: https://www.scbeic.com/th/detail/file/product/9212/gouzpo972m/SCB-EIC-In-Focus-Semiconductor-20230919.pdf
• แนวโน้มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ 2567 และบทบาทของ Gen AI:
https://www2.deloitte.com/th/en/pages/about-deloitte/articles/2024-semiconductor-outlook-th.html
Rating :