Thailand’s New MICE Direction Under Global Tax Pressures ทิศทางใหม่ของไมซ์ไทย ภายใต้แรงกดดันจากนโยบายภาษีโลก

Author : mice intelligence team
Views 306 | 23 Jul 2025
ในปี 2025 เศรษฐกิจโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หลังจากที่โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อกระตุ้นการผลิตในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้า โดยเฉพาะกับประเทศที่สหรัฐฯ มองว่ามีการค้าไม่เป็นธรรมจนเกิดการขาดดุลการค้าอย่างหนัก เช่น จีน แคนาดา เม็กซิโก สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ ส่งผลให้หลายประเทศต้องเร่งทบทวนกลยุทธ์การค้าของตัวเอง เพราะต้นทุนการนำเข้าสินค้าเพิ่มสูงขึ้นแบบกะทันหันกระทบตั้งแต่ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกไปจนถึงต้นทุนการผลิตในหลายอุตสาหกรรม     

MICE Outlook จะพาคุณไปสำรวจว่า อุตสาหกรรมไมซ์ไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากนโยบายการค้าใหม่ของสหรัฐฯ พร้อมถอดรหัส 2 แนวทางสำคัญที่ MICE Intelligence Center มองว่าเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสใหม่ของไมซ์ไทย บนเวทีโลกที่กำลังถูกจัดระเบียบใหม่อีกครั้ง


What MICE need to know?

• ผลเจรจาภาษีระหว่างไทยและสหรัฐฯ ออกมาในทิศทางบวก โดยมีอัตราภาษีต่ำกว่า 36% จะทำให้ต้นทุนคงเดิม แต่ผู้ประกอบการส่งออกสามารถเปิดโอกาสเชิงกลยุทธ์ใหม่ ๆ ให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ไทย โดยเฉพาะในกลุ่มที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ เช่น สุขภาพ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเกษตรและเทคโนโลยีสีเขียว และหากผู้ประกอบการไมซ์ไทยใช้ข้อมูลเศรษฐกิจและ Big Data เป็นฐานในการวางแผนกลยุทธ์ จะสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ขยายโอกาสในตลาดไมซ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น
• ผลเจรจาภาษีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ออกมาเป็นลบ โดยมีอัตราภาษีนำเข้าสูงถึง 36% จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่งออกและแรงงาน ทั้งยังกระทบต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตาม MICE Intelligence Center มองเห็นโอกาสจากวิกฤตผ่าน “5 แนวทางปรับเกมไมซ์ไทย” ที่เริ่มจากการวิเคราะห์ลูกค้าและอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างแม่นยำ, ขยายตลาดสู่ประเทศดาวรุ่งและกระตุ้นตลาดในประเทศ, เร่งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี AI มาช่วยวิเคราะห์, รวมพลังพันธมิตรเพื่อสร้างเครือข่ายแข็งแกร่ง และสร้างคุณค่าแบบ Next Gen ด้วยการออกแบบประสบการณ์งานและวัดผลได้ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทยสามารถปรับตัวฝ่าวิกฤตและเติบโตอย่างยั่งยืน



“ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญภาษีใหม่-ข้อตกลงการค้าโลกกับอุตสาหกรรมไมซ์ไทย”

    การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านภาษีและการค้าโลก โดยเฉพาะจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ส่งแรงสะเทือนต่อห่วงโซ่เศรษฐกิจทั่วโลกอย่างชัดเจน สำหรับประเทศไทยเหตุการณ์นี้ได้สร้างความกังวลอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ในภาคธุรกิจส่งออก แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงอุตสาหกรรมไมซ์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าประเทศไทยจะถูกขึ้นภาษีในระดับไหน แต่ความไม่แน่นอนนี้ได้กลับกลายเป็นโอกาสให้ไทยได้ปรับตัว วางแผนกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือได้ทันท่วงที และสร้างความแข็งแกร่ง ขยายตลาดได้อย่างยั่งยืนในเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


“2 แง่มุมของผลเจรจา แรงขับเคลื่อนและบททดสอบไมซ์ไทย”

    ในขณะที่หลายประเทศกำลังตั้งรับต่อแรงสั่นสะเทือนจากการรีเซ็ตนโยบายการค้าระดับโลก การเจรจาภาษีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่อาจพลิกโฉมอนาคตของภาคอุตสาหกรรมไทย แม้ดูเหมือนว่าเรื่องภาษีจะเป็นเรื่องไกลตัวของอุตสาหกรรมไมซ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าระดับประเทศส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศของไมซ์ไทย ที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการ นักลงทุน และพันธมิตรทางการค้าจากทั่วโลก โดยงานไมซ์ทำหน้าที่เป็นเวทีเจรจาธุรกิจ ทดลองตลาด และสร้างโอกาสทางการค้า การเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าระดับประเทศ เช่น ภาษีนำเข้า-ส่งออก หรือสิทธิประโยชน์ทางการค้า ส่งผลโดยตรงต่อทิศทางของการจัดงาน ความเชื่อมั่นของผู้เข้าร่วม และการเคลื่อนย้ายสินค้า ซึ่งจากมุมมองของ MICE Intelligence Center การเจรจาเรื่องภาษีครั้งนี้อาจมีผลลัพธ์ได้ 2 แนวทางที่ผู้ประกอบการไมซ์ไทยควรติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1. ผลเจรจา “เป็นบวก” (โดนน้อยกว่า 36%) และ 2. ผลเจรจา “เป็นลบ” (โดนภาษี 36%)  


ในกรณีที่ 1 ผลเจรจา “เป็นบวก” (โดนน้อยกว่า 36%) หากผลเจรจาระหว่างไทยและสหรัฐฯ ดำเนินไปในทิศทางที่เป็นบวก ผลลัพธ์จะไม่เพียงลดแรงกดดันด้านต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการส่งออก และประเทศไทยยังคงต้องช่วงชิง “โอกาสเชิงกลยุทธ์” และ “ฉวยโอกาส” โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ เช่น  

• ตลาดท่องเที่ยวเชิงแพทย์และสุขภาพของไทย: ตลาดท่องเที่ยวเชิงแพทย์และสุขภาพของไทยมีมูลค่า 31.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ประมาณ 13% เพื่อขยายตัวสู่มูลค่า 110.1 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2034 (ข้อมูลจาก Global Market Insights)
• เศรษฐกิจสร้างสรรค์: ประเทศไทยมีสัดส่วนประมาณ 8–10% ของ GDP ในปี 2566-2568 รายได้จาก Soft power และการส่งออก Creative รวมกว่า 3.3 แสนล้านบาท รัฐสนับสนุนผ่านนโยบายทรัพย์สินทางปัญญา (IP), เมืองสร้างสรรค์ และงานอีเวนต์หลากหลาย การลดภาษีสินค้าพลังงาน อุปกรณ์เทคโนโลยี และเครื่องมือขั้นสูงจากสหรัฐฯ ช่วยให้ผู้จัดงานเข้าถึงทรัพยากรคุณภาพสูงในราคาที่แข่งขันได้มากขึ้น
• การเกษตรและเทคโนโลยีสีเขียว: การส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ส่วนหนึ่งของตลาดสีเขียวไทย มีมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี โดยส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ซึ่งแสดงถึงการเติบโตของสินค้าและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภาคเกษตร ขณะเดียวกัน ไทยยังขยายการลงทุนในผลิตภัณฑ์ฉลากเขียว เช่น การใช้เศษขวดรีไซเคิลในอุตสาหกรรมฉนวนกันความร้อน และตลาดพลังงานสีเขียวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังมีมูลค่า 4.15 พันล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน และคาดว่าจะขยายตัวเป็น 97.08 พันล้านดอลลาร์ในปี 2577 โดยไทยมีการเริ่มลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สะท้อนถึงการเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์และการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียวในภาคอุตสาหกรรมและพลังงาน  และขยายโอกาสในตลาดโลกควบคู่ไปกับการปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน

     ขณะเดียวกัน การลดภาษีด้านสินค้าพลังงาน อุปกรณ์เทคโนโลยี และเครื่องมือบริการขั้นสูงจากสหรัฐฯ ยังช่วยให้ผู้จัดงานเข้าถึงทรัพยากรคุณภาพสูงในราคาที่แข่งขันได้มากขึ้น MICE Intelligence Center วิเคราะห์ว่า หากไทยเดินหน้ากับข้อตกลงทางภาษีอย่างมีทิศทาง และใช้ข้อมูลเศรษฐกิจเป็นฐานในการเจรจา อุตสาหกรรมไมซ์จะไม่เพียงปรับตัวได้ในภาวะกดดัน แต่สามารถใช้จังหวะนี้สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ (Cross-border Collaboration) ผ่าน Roadmap การปรับตัวของผู้ประกอบการไมซ์ วางแผนจาก Data & Statistics ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และใช้ Big Data วิเคราะห์ Demand ของงานไมซ์ตามกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น FoodTech, GreenTech, หรือ BioInnovation


    กรณีที่ 2: ผลเจรจา “เป็นลบ” (โดนภาษี 36%) หากไทยต้องเผชิญกับอัตราภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ สูงถึง 36% ซึ่งมากกว่าคู่แข่งโดยตรงอย่างเวียดนาม (20%) และอินโดนีเซีย (19%) ผลกระทบจะลามเป็นลูกโซ่ตลอดทั้งระบบเศรษฐกิจ เช่น การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจะถูกลดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในหมวดที่ผู้ซื้อสหรัฐฯ มีตัวเลือกจากหลายประเทศ โดยคาดว่าความเสียหายรวมในอุตสาหกรรมอาจสูงถึง 497,000 ล้านบาท และความเสียหายในตลาดแรงงานจะรุนแรง โดยอาจมีแรงงานตกงานเกินกว่า 1 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2028 โดยส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในภาคการผลิต ทำให้การบริโภคภายในประเทศหดตัวและส่งผลต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวม

    อย่างไรก็ตาม MICE Intelligence Center มองเห็นโอกาสใหม่ในความท้าทายนี้ผ่านแนวทาง “5 กลยุทธ์ปรับเกมไมซ์ไทย ฝ่าวิกฤต สู่โอกาสใหม่” ที่จะช่วยผู้ประกอบการปรับตัวตั้งแต่ประเมินความเสี่ยงจนถึงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรและนวัตกรรม โดยใน กลยุทธ์ที่ 1 SCAN & STRATEGIZE ต้อง “รู้เขารู้เรา” วิเคราะห์ลูกค้าหลักและอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกที่อาจปรับลดงบประมาณจัดงาน ปรับกลยุทธ์ไมซ์ใหม่จากการขายแบบ One-size-fits-all สู่ “แพ็กเกจที่ยืดหยุ่น + วัดผลได้”รวมถึงติดตามนโยบายการค้าโลกอย่างใกล้ชิดเพื่อวางแผนเชิงรุก “เปลี่ยนจากการนำเสนอสิ่งที่เรามี สู่การนำเสนอสิ่งที่นักเดินทางไมซ์พร้อมจ่าย



    กลยุทธ์ที่ 2 EXPAND & DIVERSIFY เมื่อตลาดผันผวน ประเทศไทยสามารถ Go Borderless ได้ ผ่านการบุกตลาดดาวรุ่งอย่างประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศแถบตะวันออกกลาง และประเทศแอฟริกา จากศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความต้องการจัดกิจกรรมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ช่วยกระจายความเสี่ยง เปิดช่องทางสร้างรายได้ใหม่ในระยะยาว ในขณะเดียวกัน กลับมาปลุกตลาดในประเทศด้วยงานไมซ์แบบ “มีเรื่องราว และ แต่งเติมประสบการณ์ส่วนบุคคล (Personalized Experience)” กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างรายได้หมุนเวียน การผสมผสานกลยุทธ์ทั้งสองมิติจะเป็นกุญแจสำคัญในการวางรากฐานให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทยแข่งขันได้ในระดับสากล

    กลยุทธ์ที่ 3 INNOVATE TO WIN เปิดโหมดเร่งเทคโนโลยี เสริมสปีดอุตสาหกรรมไมซ์ ใช้ AI และ Data Analytics วิเคราะห์พฤติกรรมผู้ร่วมงานแบบเรียลไทม์, ทำ Personalization เช่น แนะนำ Session/Booth ตามความสนใจ, พัฒนา Virtual Events หรือ Metaverse Experience เพื่อเจาะกลุ่มที่ไม่สามารถเดินทางได้, กลยุทธ์ที่ 4 COLLAB IS POWER “รวมพลังพันธมิตร สร้างเครือข่ายแข็งแกร่ง” ไมซ์ยุคใหม่ต้อง "Collab" ให้เป็น เพื่อจับมือกับอุตสาหกรรมที่เด่น เช่น Health Tech, Wellness Tourism, EdTech, รวมกลุ่มทำ Regional MICE Cluster กลยุทธ์ที่ 5 REDEFINE VALUE “สร้างคุณค่าแบบ Next Gen โดยสร้างประสบการณ์ จากงาน “ที่มานั่งฟัง” เป็นงาน “ที่อยากแชร์ต่อ และอยากกลับมาร่วมงานอีกครั้ง” พร้อมเปลี่ยนบทบาทเป็น Strategic Partner ให้คำปรึกษา และเสนอแผนที่วัด ROX (Return of Experience) ได้, ตั้ง Niche Experience MICE เช่น Wellness MICE สำหรับสายสุขภาพ, LGBTQ+ MICE ที่เข้าใจความหลากหลาย เป็นต้น

    ไม่ว่าผลการเจรจาทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะออกมาในทิศทางใด อุตสาหกรรมไมซ์ไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงอย่างมีแผนและมีข้อมูลรองรับ และพร้อมเปลี่ยนบทบาทจากผู้จัดงานเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูล ความเข้าใจนักเดินทางไมซ์ และเครือข่ายระหว่างประเทศ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้แข็งแกร่งในทุกสถานการณ์



    ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ถือเป็นแรงสั่นสะเทือนที่ส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ และทิศทางของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย การเตรียม “รับมือ” และ “ปรับตัว” จึงเป็นหัวใจสำคัญ ผู้ประกอบการควรมองทั้งสองด้านของสถานการณ์ หากการเจรจาออกมาดี ไทยอาจได้โอกาสใหม่จากการเปิดตลาดสินค้านำเข้า-ส่งออก และการจับคู่ธุรกิจใหม่กับพันธมิตรต่างประเทศ  

    แต่หากเจรจาไม่เป็นผลดีต้องเสริมฐานธุรกิจในประเทศดึงจุดแข็งของไทย เช่น soft power, ความเป็นท้องถิ่น (localism) และคุณค่าที่เลียนแบบไม่ได้ มาเป็นตัวสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่ม โดยอุตสาหกรรมไมซ์จะยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะผ่านการจัดงานที่ส่งเสริมการลงทุน เทคโนโลยีใหม่ หรือการเปิดตลาดสินค้าและบริการของไทยสู่สายตาชาวโลก ขอเพียงผู้ประกอบการ “มองให้ขาด ปรับให้ไว และเดินเกมให้กล้า” ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจโลกเช่นนี้

    MICE Outlook ฉบับหน้า ห้ามพลาด! เตรียมพบกับบทความวิเคราะห์ “หลังการเจรจาภาษี” ที่จะพลิกเกมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไมซ์ พร้อมแนะแนวทางใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ผ่าน Partnership Platform เครื่องมือสำคัญในการสร้างพันธมิตร และต่อยอดโอกาสธุรกิจภายใต้กรอบเศรษฐกิจใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


แหล่งอ้างอิง :

• ภาษีทรัมป์ 36% หายนะ ‘ศก.ไทย’ 3 แบงก์ห่วง เกมการค้าสหรัฐ กระทบ 1.2 ล้านล้าน: https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1190012
• หายนะภาษี 36% บีบแรงงาน 20 ล้านคนตกงาน: https://www.youtube.com/watch?v=sqgvlYnFFUI
•‘BOI’ เจาะ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย งัดยุทธศาสตร์ผูกซัพพลายเชนกับสหรัฐฯ ชูแต้มต่อเหนือแรงกดดันภาษี: https://thestandard.co/boi-5-industries-us-supply-chain/?fbclid=IwQ0xDSwLkEOpleHRuA2FlbQIxMQABHoUhhLwC5s3eyPC2mUgew2R2ON6e96lJ83i4MQbpkHpUsirZall9JHqnQG42_aem_4tbfQsyVDdNfCwDFFf1g9Q
• Dr. Suvit Maesincee's: https://www.facebook.com/share/p/16tcze4V52/?mibextid=wwXIfr
• Thailand Medical and Wellness Tourism Market Size: https://www.gminsights.com/industry-analysis/thailand-medical-and-wellness-tourism-market
• Creative Industry: https://www.usasean.org/article/thailands-soft-power-creative-economy, https://www.thailand-business-news.com/marketing/206499-government-enhances-soft-power-through-creative-industry-initiative
• Green Technology: https://www.eppo.go.th/index.php/th/petroleum/item/21500-articles-energy-2025-03-31-03, https://phitsanulok.moc.go.th/th/content/category/detail/id/112/iid/85476, https://www.khaosod.co.th/technologychaoban/featured/article_300056,  

 

Rating :