ปัจจุบันภาครัฐ และเอกชนได้มีการส่งเสริมให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบเชิงลบให้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมไมซ์ที่มีการผลักดันให้ผู้ประกอบการไมซ์บริหารจัดการ และออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด “ความยั่งยืน” ซึ่งได้กลายมาเป็นบรรทัดฐานที่ผู้ประกอบการไมซ์ต้องตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติจริงที่สามารถวัดผลของความยั่งยืนได้อย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม
โดยวันนี้จะพาทุกท่านมาร่วมพูดคุยไปกับ คุณท็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ผู้ก่อตั้งบริษัท คิด คิด จำกัด และแพลตฟอร์ม ECOLIFE ที่มาร่วมแชร์มุมมองวิธีการจัดงานไมซ์ที่ยั่งยืน และเผยเคล็ดลับการกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมงานสนุกสนาน และเต็มใจที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อม
เมื่อ “ความยั่งยืน” กลายเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าความยั่งยืนกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำธุรกิจ และมีบทบาทต่อการดำเนินงานของธุรกิจเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ หลาย ๆ หน่วยงานได้มีการเคลื่อนไหว และให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การกำหนดเป้าหมายของหน่วยงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็น Carbon Neutrality ในปี 2050 หรือเป้าหมายการเป็น Net Zero ในปี 2060 เป็นต้น
หัวใจหลักของความยั่งยืน คือ การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวซึ่งครอบคลุมมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดย คุณท็อป พิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งบริษัท คิด คิด จำกัด และแพลตฟอร์ม ECOLIFE มองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ศึกษา และพัฒนาเครื่องมือสำหรับวัดผลความยั่งยืนโดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมผู้ประกอบการ และผู้บริโภค พร้อมทั้งจัดเก็บบันทึกข้อมูลรายบุคคลให้สามารถวัดผลกิจกรรมได้
สร้าง Ecoculture ในองค์กรด้วยการกำหนดนโยบาย
แนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดความยั่งยืน จำเป็นต้องยึดโยงกับรูปแบบของแต่ละธุรกิจ ซึ่งมีบริบทที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหากผู้ประกอบการเลือกแนวทางผิด อาจทำให้หลงทาง และไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ บริษัทหรือหน่วยงานต่าง ๆ จึงควรมีข้อกำหนดหรือนโยบายที่ชัดเจน และเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของตน โดยคุณท็อปได้แนะนำกับเราว่า “การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารระดับสูงไปจนถึงระดับปฏิบัติการ ต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย วางเป้าหมาย 3-5 ปี และแผนการทำงานควรมีความชัดเจน โดยต้องนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อสร้าง Ecoculture ในองค์กร”
https://www.facebook.com/photo?fbid=698471238303639&set=pcb.698471704970259
ทั้งนี้ ในการกำหนดนโยบาย ผู้ประกอบการสามารถใช้จุดแข็ง ความเชี่ยวชาญ และพิจารณาบริบทขององค์กรเพื่อให้ได้นโยบายที่เหมาะสม และมีความเป็นไปได้มากที่สุดในการสร้าง DNA ด้านความยั่งยืนในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน จนสามารถนำไปถ่ายทอดสู่ผู้บริโภค หรือผู้มาใช้บริการได้ เช่น ผู้ประกอบการโรงแรมที่ตั้งอยู่ในชุมชม สามารถส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ สนับสนุนสินค้าจากเกษตรในท้องถิ่น หรือการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ธรรมชาติอย่างถ้วยที่มาจากใบตองกลัด หลอดกระดาษ ซึ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และส่งเสริมให้เกิดห่วงโซ่ความยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง คือ แหล่งที่มา จนถึงปลายทาง คือ การบริการได้
ECOLIFE ผลักดันให้ทุกคนมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แท้จริง
ทุกคนรู้ดีว่าหากยังคงเพิกเฉยต่อผลกระทบเชิงลบต่อธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานจะทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวที่อาจไม่สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับความยั่งยืนนั้นจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยคุณท็อปได้แชร์แนวคิดที่ว่า “ความยั่งยืนจะต้องไม่เป็นการผลักภาระความรับผิดชอบไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค”
https://www.youtube.com/watch?v=fz1JmibxHlc
วิธีการที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้ จำเป็นต้องมีตัวกลางเข้ามาช่วยเชื่อมโยง จึงเป็นเป้าหมายของแอปพลิเคชัน ECOLIFE ที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วม และทำให้ผู้ใช้งานเพลิดเพลินไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดกิจกรรมสนุก ๆ ผ่านทางแอปพลิเคชัน กับฟีเจอร์ ECOMAP แผนที่เชื่อมต่อเครือข่ายสีเขียวทั่วประเทศ ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านอาหาร คาเฟ่ ซุปเปอร์มาเก็ต เป็นต้น โดยการร่วมสนุกผู้ใช้งานจะต้องเดินทางไปทำกิจกรรมสีเขียวกับผู้ประกอบการที่อยู่ในแพลตฟอร์ม เพื่อได้รับคะแนนสะสม (Point) และนำไปรับสิทธิประโยชน์ หรือแลกของรางวัลต่าง ๆ ได้
https://ecolifeapp.com/#qa
ทำให้ในปัจจุบันผลการดำเนินงานจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ลดการใช้พลาสติก ลดอาหารขยะ รีไซเคิลขยะ ปลูกต้นไม้ ของ ECOLIFE สามารถช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1,638,161 กิโลกรัม จากการร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมถึงผู้ใช้งานแอพลิเคชันกว่า 80,000 คน ข้อมูลตัวเลขที่เผยแพร่ออกมาในลักษณะเรียลไทม์ แสดงให้เห็นว่าผู้คนในปัจจุบันมีความสนใจ และตั้งใจที่จะดำเนินชีวิตบนแนวคิดความยั่งยืน
https://ecolifeapp.com/#qa
นอกเหนือจากผู้ใช้บริการแบบรายบุคคล บริษัท และองค์กรยังสามารถนำแอปพลิเคชันนี้ไปใช้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในบริษัท ตลอดจนการติดตามผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสะท้อนออกมาในรูปแบบของข้อมูลที่ได้รับการจัดเก็บ อันจะนำไปสู่การรายงานผลประจำปี และต่อยอดไปถึงการสร้างกลยุทธ์ความจงรักภักดี (Royalty Program) ให้แก่ธุรกิจได้อีกด้วย
สร้างจุดแข็งให้อุตสาหกรรมไมซ์ด้วยการจัดงานอย่างยั่งยืน
ในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความยั่งยืน ผู้ประกอบการไมซ์หลายคนอาจมองว่ามีความท้าทาย และต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก รวมทั้งอาจต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญช่วยออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ในทางกลับกัน คุณท็อป ได้พูดถึงประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า “การทำกิจกรรม เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องลงทุนเยอะ ลองเริ่มต้นทำกันทีละเล็กละน้อย แต่ทำอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายธุรกิจก็สามารถเติบโตได้ สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้น และความยั่งยืนในระบบก็สามารถดันต่อไปได้เรื่อย ๆ”
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=785288889621873&set=pb.100044223076835.-2207520000.&type=3
ความยั่งยืนสามารถทำได้ตั้งแต่ต้นทางจนไปถึงปลายทาง โดยเริ่มจากจุดที่ใกล้ตัว เช่น รณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติก (Single-use plastic) การแยกขยะ (Waste separation) การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Product) ทั้งผู้ประกอบการไมซ์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และนักเดินทางไมซ์จะเป็นผู้ได้ผลประโยชน์ ในเรื่องของการลดต้นทุน สร้างรายได้ และสิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้น โดยคุณท็อป ได้เสนอแนวทางสำหรับการจัดงานอย่างยั่งยืนไว้ 3 ส่วน ได้แก่
“ส่วนที่ 1 ผู้จัดงานอาจมีการปรับระบบต่าง ๆ เช่น ระบบไฟฟ้า การนำพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) มาใช้ ตลอดจนการนำตู้ EV Station มาใช้สำหรับผู้เดินทางมางานโดยรถพลังงานไฟฟ้า ส่วนที่ 2 ซัพพลายเออร์ (Supplier) การส่งเสริมซัพพลายเออร์ที่มีการดำเนินงานแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้กระแสเรื่องความยั่งยืนได้รับการตระหนักขึ้นอีกเป็นวงกว้าง ส่วนที่ 3 ผู้เดินทางเข้ามาร่วมงาน การเสนอแรงจูงใจให้แก่ผู้เข้าร่วม การทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกสนุก และเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเหล่านั้น ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น”
ความยั่งยืนสอดแทรกได้ในทุกกระบวนการ
ในวันที่ทั่วโลกตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แน่นอนว่าความยั่งยืนก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่เสมอ และการดำเนินงานเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณท็อป ได้แชร์มุมมองเรื่องความยั่งยืนในปัจจุบันว่า “เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องที่่ทำแล้วแค่ Nice to have แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องทำ” โดยไม่ใช่เพียงแค่การแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมเหล่านั้นเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมแต่ผู้ประกอบการไมซ์จะต้องนำเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปผนวกรวมลงในขั้นตอนของการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถติดตามผล และนำไปสู่การพัฒนากิจกรรมความยั่งยืนในอนาคต