จากปัญหาทางเศรษฐกิจและวิกฤตค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่าอาหาร รวมถึงการอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ส่งผลให้ต้นทุนการใช้ชีวิตของผู้คนสูงขึ้นในทุกมิติ และกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ กลยุทธ์การจัดงานไมซ์ในวันนี้จึงไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนธุรกิจบนการบริหารจัดการความเสี่ยง และต้นทุนของการจัดงาน แต่จำเป็นต้องพิจารณารูปแบบการจัดงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เข้าร่วมงานให้ได้มากที่สุด ในวันที่การเดินทางระยะไกล และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอาจจะส่งผลการตัดสินใจเข้าร่วมงานของนักเดินทางไมซ์ในปัจจุบัน
MICE Outlook สัปดาห์นี้ จะพาทุกท่านร่วมกันศึกษาบทบาทของไมซ์ซิตี้ และการยกระดับเมืองรองโดยรอบเพื่อกระตุ้นการจัดงานไมซ์ในภูมิภาค โดยอาศัยความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของเมืองที่แตกต่างกันสู่การผลักดันเสน่ห์ของพื้นที่ให้กลายเป็น Soft power ที่จะดึงดูดนักเดินทางไมซ์ให้มาร่วมงานในพื้นที่ของตนเอง เพื่อมุ่งเป้าสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยและเป็นกลไกสำคัญในการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
Key takeaways
- จากผลสำรวจของ LendingTree และ Traveldailynews แสดงให้เห็นถึงปัจจัยการเงินและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจส่งผลให้ 78% ของนักเดินทางเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ใกล้กว่าเพื่อลดค่าใช้จ่าย และ 71% นักเดินทางยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อแผนการเดินทาง- กลยุทธ์ในการดึงกลุ่มนักเดินทางไมซ์ต่างชาติเข้ามา จึงต้องมีการผลักดันให้ต้นทุนการเดินทางเข้าประเทศไทยลดลงรวมทั้งพยายามอำนวยความสะดวกให้แก่นักเดินทางในหลาย ๆ ด้าน เช่น การออกมาตรการฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวการเชื่อมโยงเส้นทางสัญจรและกิจกรรมท่องเที่ยวในช่วงระยะเวลาของการจัดงานไมซ์ ตลอดจนการวางแผนกลยุทธ์เพิ่มโอกาสให้นักเดินทางมีระยะเวลาพักอาศัย และมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น
- ขับเคลื่อนไมซ์ซิตี้ และเมืองรองโดยรอบเพื่อกระตุ้นการจัดงานไมซ์ในภูมิภาค ซึ่งสามารถต่อยอดอัตลักษณ์ท้องถิ่นและผลักดัน Soft Power ของแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยมายกระดับศักยภาพการจัดงานไมซ์ให้มีมูลค่าและดึงดูดความสนใจจากนักเดินทางได้ดียิ่งขึ้น
แนวโน้มการตัดสินใจของนักเดินทางและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมซ์
รายได้หลักจากอุตสาหกรรมไมซ์มาจาก 2 ส่วนสำคัญ คือ รายได้จากนักเดินทางไมซ์ในประเทศและนักเดินทางไมซ์ต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย โดยในปี พ.ศ. 2567 ทาง สสปน. คาดการณ์ว่าจะมีนักเดินทางไมซ์รวมทั้งสิ้นกว่า 23.2 ล้านคน และสามารถสร้างรายได้รวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการปรับตัวของนักเดินทางไมซ์ในปีนี้ให้ความสำคัญกับการวางแผนการเดินทางมากขึ้น เพื่อให้คุ้มค่าเงินและเวลา ซึ่งอาจกระทบต่อจำนวนนักเดินทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเดินทางไมซ์ที่ต้องเดินทางระยะไกลข้ามภูมิภาค เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าร่วมงานไมซ์แต่ละครั้งเพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัว
การพึ่งพาและคาดหวังกับนักเดินทางไมซ์ต่างชาติเป็นหลัก จึงอาจไม่ใช่ทิศทางที่ดีนักของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ไทย โดยจากสถิติจำนวนนักเดินทางไมซ์ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยสูงสุด 3 อันดับแรกมาจากประเทศอินเดีย จีน และมาเลเซีย ซึ่งต่างก็มีความพยายามในการส่งเสริมการเดินทาง และการจัดกิจกรรมไมซ์ภายในประเทศของตนเอง โดยพิจารณาได้จากมาตรการการกำหนดราคาตั๋วเครื่องบินภายในประเทศที่มีสัดส่วนถูกลง ในขณะที่ราคาตั๋วเครื่องบินขาออกต่างประเทศแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงเกิดเป็นแรงจูงใจให้การเดินทางภายในประเทศกลายมาเป็นทางเลือกหลักของนักเดินทาง
สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย กลยุทธ์ในการดึง
กลุ่มนักเดินทางไมซ์ต่างชาติเข้ามาจึงต้องมีการผลักดันให้ต้นทุนการเดินทางเข้าประเทศไทยลดลง รวมทั้งพยายามอำนวยความสะดวกให้แก่นักเดินทางในหลาย ๆ ด้าน เช่น การออกมาตรการฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยว การเชื่อมโยงเส้นทางสัญจรและกิจกรรมท่องเที่ยวในช่วงระยะเวลาของการจัดงานไมซ์ ตลอดจนการวางแผนกลยุทธ์เพิ่มโอกาสให้นักเดินทางมีระยะเวลาพักอาศัย และมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันได้พยายามขับเคลื่อนไมซ์ซิตี้ และเมืองรองโดยรอบเพื่อกระตุ้นการจัดงานไมซ์ในภูมิภาค ซึ่งสามารถต่อยอดอัตลักษณ์ท้องถิ่นและผลักดันSoft Power ของแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยมายกระดับศักยภาพการจัดงานไมซ์ให้มีมูลค่าและดึงดูดความสนใจจากนักเดินทางได้ดียิ่งขึ้น
ขับเคลื่อนไมซ์ซิตี้ และเศรษฐกิจภูมิภาคด้วยพลังของ “Soft Power”
ไมซ์ซิตี้ ถือเป็นเมืองหลักสำคัญที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจด้านการจัดกิจกรรมไมซ์ และการท่องเที่ยวซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของเมืองที่ดี มีความสะดวกในการเดินทาง มีความพร้อมด้านที่พักอาศัยและสถานที่จัดงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนการจัดงานไมซ์จากทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนและผู้ให้บริการร่วมต่าง ๆ ที่มีคุณภาพ มีเครือข่ายในการติดต่อทางธุรกิจไมซ์ มีกิจกรรมเพิ่มเติมนอกเหนือจากการประชุมและการจัดงานไมซ์ เช่น ความหลากหลายของสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งชอปปิ้ง สถานที่สังสรรค์ทางสังคม ตลอดจนมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีการบริหารจัดการความเสี่ยงและแนวทางการรับมือของพื้นที่ทั้งในเชิงสาธารณะภัย สุขอนามัย และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและนักเดินทางไมซ์
https://freshairfestival.co.th/wp-content/uploads/2022/01/9U3A7137-Edit-2-1024x683.jpg
โดยในปีพ.ศ. 2566 ไมซ์ซิตี้ภูมิภาคทั้ง 9 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ สงขลา พัทยา ขอนแก่น อุดรธานี ภูเก็ตนครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และพิษณุโลก ซึ่งไม่รวมถึงงานไมซ์ที่จัดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถกระตุ้นให้เกิดรายได้ในพื้นที่จากการดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลการจัดประชุมการจัดแสดงสินค้าและนิทรรศการทั่วประเทศ มากกว่า 6,000 ล้านบาท และช่วยกระจายรายได้ไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไมซ์ซิตี้ ยังเป็นกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์การกระจายผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวและการจัดงานไมซ์ไปสู่เมืองรองโดยรอบ ส่งเสริมความสัมพันธ์ในรูปแบบเมืองพี่เมืองน้องด้านการท่องเที่ยว และกระตุ้นการท่องเที่ยวนอกฤดูกาลได้ตลอดทั้งปี ช่วยลบภาพจำการเที่ยวภาคเหนือเฉพาะช่วงฤดูหนาวหรือข้อกังวลกับ Low Season ในการมาเที่ยวชายหาดหรือทะเลภาคใต้ในช่วงหน้าฝน เนื่องจากสามารถหยิบยกจุดเด่นของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ความหลากหลายเชิงภูมิศาสตร์ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยว Unseenในเมืองรองที่ยังไม่เป็นที่นิยมของคนหมู่มาก รวมถึงเทศกาล การแสดงพื้นบ้าน การละเล่น งานประเพณี อาหารท้องถิ่น และวัฒนธรรมจำเพาะของแต่ละสถานที่มาเป็นจุดขายนอกเหนือจากความสวยงามด้านทัศนียภาพและภูมิทัศน์ของพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นหมุดหมายสำคัญของนักเดินทางรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบ และต้องการสัมผัสกับประสบการณ์แปลกใหม่ที่มีเอกลักษณ์ เอื้อต่อพฤติกรรมทำงานในขณะท่องเที่ยว (workcation)ซึ่งเมืองรองสามารถรองรับความต้องการของนักเดินทางกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะมีต้นทุนการเดินทางและที่พักย่อมเยากว่า ทำให้นักเดินทางรู้สึกถึงความคุ้มค่า และยินดีที่จะใช้จ่ายเพื่อแลกมาซึ่งประสบการณ์ที่น่าประทับใจ
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคต้องมุ่งเน้นการชูอัตลักษณ์ของไมซ์ซิตี้และเมืองรองโดยรอบในการสร้างสรรค์สินค้า และสร้างประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่แตกต่าง เพื่อดึงดูดใจนักเดินทาง ตลอดจนควรออกแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยว และยกระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการรองรับการมาเยี่ยมเยือนของนักเดินทาง เพื่อเปลี่ยนนักเดินทางขาจรซึ่งแค่มาเที่ยวแบบ One Day Trip ให้หันมาพักค้างคืนและกลายเป็นนักเดินทางมีโอกาสสูงในการกลับมาเยือนอีกครั้งในอนาคต
วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย , อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
โดยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2566 ได้มีการจัดทำโครงการ “365 วัน มหัศจรรย์เที่ยวเมืองรอง” ผ่านการดึง Soft Power ของแต่ละภูมิภาคมาเป็นจุดขาย ขานรับตามแนวนโยบายของรัฐบาล โดยสามารถกระตุ้นให้มีการเดินทางสูงถึง 73.32 ล้านครั้งเพิ่มขึ้น 34.47% สร้างรายได้กว่า 169,608 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.86% และในปีพ.ศ. 2567 รัฐบาลไทยยังคงดำเนินโครงการฯ นี้อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่าเมืองรองจะสามารถสร้างรายได้เติบโตขึ้น 10 – 15% จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ได้เตรียมพร้อมเดินหน้าเต็มกำลังที่จะผลักดันเมืองรองที่กระจายอยู่ 5 ภูมิภาคของไทย ผ่าน 3 กลยุทธ์ Unlock Potential เมืองรอง สร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี และช่วยเหลือเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยแรงผลักดันจากภาครัฐ และภาคส่วนต่าง ๆ ในการช่วยกระตุ้นนักเดินทาง และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก
ดังตัวอย่างของการจัดงาน “ประเพณีออกพรรษาบั้งไฟพญานาค” ณ จังหวัดหนองคาย เมืองรองในพื้นที่ใกล้เคียงไมซ์ซิตี้ที่มีการชูจุดเด่นวัฒนธรรมท้องถิ่น ดึงดูดนักเดินทางที่มีความสนใจในเรื่องความเชื่อมารวมตัวกัน และทำการผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่น และประเพณีเข้ากับกิจกรรมของงาน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นนำสินค้าพื้นบ้าน และสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของจังหวัดหนองคายมาจัดจำหน่าย โดยจากสถิติมูลค่าการใช้จ่ายภายในงานของคนในพื้นที่เฉลี่ยต่อคนโดยรวมอยู่ที่ 2,160 บาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนของนักเดินทางที่มาจากจังหวัดอื่น ๆ อยู่ที่ 3,150 บาท และมีนักเดินทางหมุนเวียนเข้ามากว่า 200,000 คน สามารถสร้างรายได้ภายในจังหวัดปีละหลายร้อยล้านบาท ซึ่งถือเป็นจุดท่องเที่ยวของชาวอีสาน รวมถึงนักเดินทางประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคใกล้เคียงจากประเทศลาว เวียดนาม และจีน ซึ่งการจัดงานมาอย่างต่อเนื่องช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงส่งเสริมนโยบาย Soft Power ที่ต้องการเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณีของคนไทยเพื่อเปิดเผยสู่สายตาชาวโลก
อิทธิพลทางวัฒนธรรมดังกล่าวสามารถโน้มน้าวใจและสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนจำนวนมากทำให้ผู้คนรู้สึกปรารถนาเข้าร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของงาน ซึ่งช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการจัดงานและอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคที่มีเอกลักษณ์และมีคุณค่าสูง จากการรวบรวมอัตลักษณ์ความเป็นไทย นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อเปิดโอกาสให้นักเดินทางไมซ์ทั่วโลกได้มาเยี่ยมชม
MICE Outlook สัปดาห์หน้า เตรียมพบกับการเจาะลึกกลยุทธ์ Soft Power ผ่านมุมมองของ "มวยไทย" กีฬาที่เป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทย กับบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ พร้อมกรณีศึกษา ตลอดจนแนวทางการนำมาต่อยอดธุรกิจไมซ์ ที่จะช่วยปลุกไอเดียและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการไมซ์ ต้องไม่พลาดที่จะพบกับเนื้อหาเข้มข้นที่ครอบคลุมทุกแง่มุม
แหล่งอ้างอิง
- มูลค่าตลาดไมซ์ทั่วโลก: https://www.globenewswire.com/news-release/2024/01/02/2802877/0/en/MICE-Industry-Market-Size-Worth-1237-96-Billion-by-2032-High-Infrastructural-Investments-Shifting-Demographics-Geopolitical-Volatilities-Growth-Contributors.html- ผลสำรวจแนวโน้มของนักเดินทาง lendingtree, traveldailynews https://www.lendingtree.com/credit-cards/study/travelers-inflation/ , https://www.traveldailynews.com/statistics-trends/american-travel-trends-2024-increased-spending-and-adjustments-amid-inflation/
- ทิศทางอุตสาหกรรมไมซ์ 2567: https://www.businesseventsthailand.com/th/press-media/news-press-release/
- ปลุกอุตสาหกรรม MICE เสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทยสร้างรายได้กระตุ้นศรษฐกิจ: https://www.posttoday.com/smart-sme/705673
- เมืองรอง: https://www.thansettakij.com/business/tourism/584514 , https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1105575
- เทรนด์ท่องเที่ยวดุสิต: https://www.thansettakij.com/business/tourism/585886
- นายกฯ วางนโยบาย เสริมแกร่ง SMEs ดันอุตฯ MICE กระตุ้น ศก.: https://www.mitihoon.com/2024/02/15/436855/
- เมืองรอง: https://social.nia.or.th/2023/article0034/
- How Rising Inflation Impacts Events & Conferences: https://dryfta.com/how-rising-inflation-impacts-events-conferences/
- พรรษา-บั้งไฟพญานาค จ.หนองคาย: https://www.thaipbs.or.th/news/content/333246