เส้นทางไมซ์สู่อนาคตกับ 7 TRENDS ผ่านมุมมองจาก Thought Leaders

Author : MICE Intelligence Team
Views 3820 | 03 Jan 2024
อุตสาหกรรมไมซ์ไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของ MICE Intelligence Center ระบุว่าตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า กิจกรรมไมซ์สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศกว่า 109,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานทั่วประเทศถึง 145,000 อัตรา อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไมซ์ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากหลากหลายปัจจัย อาทิ ภาวะสงครามการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน และการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้พฤติกรรม และความต้องการของนักเดินทางไมซ์ รวมถึงส่งผลต่อรูปแบบของกิจกรรมไมซ์ที่ต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้น

MICE Outlook สัปดาห์นี้ เราจะขอสรุป 7 เทรนด์ จากบริษัทที่ปรึกษาด้านเทรนด์ผู้บริโภคชั้นนำของโลกอย่าง “TrendWatching” ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจของเราในปี 2024 รวมถึงนำเสนอแนวทางให้ผู้ประกอบการไมซ์สามารถปรับตัว และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วยเทรนด์ต่าง ๆ ได้แก่ Slow Route, Personalization, Virtual Experience, Ambient Wellness, Sustainability on Display, Synced Services, Community Care โดยมีบุคคลแห่งแรงบันดาลใจ (Thought Leaders) ในแวดวงธุรกิจจากหลากหลายอุตสาหกรรมที่จะมาร่วมแบ่งปันมุมมอง และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมไมซ์




“Slow Route” เดินทางท่องเที่ยวแบบยั่งยืนและมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม

การท่องเที่ยวและการเดินทางเชิงอนุรักษ์ หรือ “Slow Route” เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มนักเดินทางไมซ์ เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้นักเดินทางได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจากผลสำรวจ Booking.com's full 2022 Sustainable Travel Research Report เผยให้เห็นว่า “นักเดินทางทั่วโลกกว่า 80% ให้ความสำคัญกับการเดินทางเชิงอนุรักษ์” เป็นรูปแบบการเดินทางที่ตอบโจทย์ความต้องการนักเดินทางยุคใหม่



โดยคุณจักรพงษ์ ชินกระโทก CEO & Founder บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด ที่ปรึกษาและผู้ออกแบบการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้มองเห็นโอกาสจากพฤติกรรมของนักเดินทางที่ชื่นชอบการเดินทางเชิงอนุรักษ์ โดยได้แชร์ว่า “เทรนด์การท่องเที่ยว และการเดินทางเชิงอนุรักษ์ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต รวมทั้งจะช่วยเพิ่มเสน่ห์และเป็นพลังเสริมให้ดึงดูดนักเดินทางมากขึ้น จากกิจกรรมโครงการ Low Carbon Tourism เปิดเส้นทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง Find Folk และ Thai MICE Connect สนับสนุนให้นักเดินทางได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางโดยใช้วิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่คุณจันทร์มณี พลภักดี ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Co Van Kessel Bangkok Tour จำกัด ที่คุกคลีกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวมาเป็นระยะเวลายาวนาน มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า “นักเดินทางต่างอยากได้ประสบการณ์ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสิ่งแวดล้อมได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยังคงสามารถดำเนินการต่อได้” ซึ่งสามารถนำสิ่งที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี เช่น การปั่นจักรยาน มาจัดกิจกรรมให้นักเดินทางได้ปั่นจักรยานรอบ ๆ สถานที่ท่องเที่ยวแทนการใช้รถยนต์ ถือเป็นการสร้างคุณค่าทางจิตใจให้กับนักเดินทาง และทำให้เห็นว่าเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการเดินทางแบบ “Slow Route” จะช่วยให้กิจกรรมไมซ์มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น

“Community Care” กลไกสำคัญในการส่งเสริมและกระจายรายได้ให้กับชุมชน
การจัดงานไมซ์นิยมเลือกสถานที่จัดในเมืองหลัก เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น โรงแรม การคมนาคมขนส่ง สนามบิน ฯลฯ ซึ่งการกระจุกตัวสถานที่จัดงานไมซ์ในเมืองหลัก อาจก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อพื้นที่ชุมชนจากการบริโภคที่มากเกินความจำเป็น รวมทั้งขาดการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ ในขณะที่นักเดินทางไมซ์รุ่นใหม่เองได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่เข้าถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน และยินดีที่จะจ่ายเงินมากขึ้นหากสามารถช่วยเหลือชุมชนนั้นได้ ฉะนั้น การกระจายการจัดงานไมซ์ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ รวมทั้งให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมจะช่วยให้สามารถลดผลกระทบเชิงลบต่อชุมชน และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน




โดย คุณเอซ ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery ภายใต้บริษัท ครีเอทีฟ มูฟ จำกัด แพลตฟอร์มเจ้าของเนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อม ได้แชร์มุมมองการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งชุมชน ซึ่งเป็นต้นน้ำของสายพานการผลิตสินค้า ผ่านการจัดงาน “Greenery Market” พื้นที่จำหน่ายสินค้าจากเหล่าเกษตรกร โดยไม่มีพ่อค้าคนกลาง และไม่เสียค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่ โดยคุณเอซได้แนะนำต่อผู้ประกอบการไมซ์ว่า “การจัดงานไมซ์ ผู้จัดงานสามารถแบ่งพื้นที่เล็ก ๆ ภายในงานให้คนในชุมชนเข้ามาจำหน่ายสินค้า เพื่อเป็นช่องทางการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้อุดหนุนสินค้าที่แปลกใหม่ ในขณะเดียวกันก็ได้ร่วมสนับสนุนชุมชน และผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้มีรายได้ด้วย” การจัดงานไมซ์โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน นอกจากจะเป็นโอกาสสำคัญในการกระจายรายได้สู่ชุมชนแล้ว ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการไมซ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานราก

“Ambient Wellness” พัฒนากิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมงานไมซ์มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน
การเข้าร่วมกิจกรรมไมซ์แต่ละครั้ง ผู้เข้าร่วมงานจะต้องเจอความกดดัน และความเหนื่อยล้าหลากหลายรูปแบบตั้งแต่การเดินทางตลอดจนขณะร่วมงาน ดังนั้น การพัฒนากิจกรรมไมซ์ที่นำไปสู่ประสบการณ์ที่มีคุณค่า ส่งเสริมให้มีสุขภาวะที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จึงเป็นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเดินทางไมซ์ในยุคที่ผู้คนต่างมองหาความปลอดภัยและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม หรือ "Ambient Wellness" ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นปัจจัยที่ดึงดูดให้นักเดินทางไมซ์ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ  




โดยนายแพทย์พลวัฒน์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู BDMS Wellness Clinic ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า “ในอนาคตอันใกล้ การเป็น Medical Hub ของไทยจะก้าวไปสู่ Wellness Hub นักเดินทางที่มาท่องเที่ยวหรือพักผ่อนสามารถดูแลสุขภาพไปพร้อม ๆ กันได้” เช่นเดียวกับคุณวลี พิริยะพงศ์ศักดิ์ ผู้ก่อตั้ง myTHERAS Wellness มีมุมมองถึงพฤติกรรมนักเดินทางไมซ์ว่า “อีก 10 ปีข้างหน้า นักเดินทางไมซ์ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Millennials ที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพองค์รวม” ซึ่งจะกลายเป็นโอกาสใหม่ในอนาคตของอุตสาหกรรมไมซ์ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไมซ์สามารถนำกิจกรรมเพื่อสุขภาพเข้ามาผนวกได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดพื้นที่ภายในงานไมซ์ ให้มีมุมสุขภาพผ่อนคลายความเหนื่อยล้า การออกแบบสภาพแวดล้อมในงานไมซ์ให้เอื้อต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ตลอดจนการจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งจะช่วยให้นักเดินทางไมซ์ผ่อนคลาย และสามารถร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

“Sustainability on Display” อุตสาหกรรมไมซ์ขับเคลื่อนการจัดงานอย่างยั่งยืน

ภาครัฐและภาคเอกชนได้ให้ความสำคัญกับการจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง จากการร่วมมือในหลายภาคส่วน ตลอดจนการผลักดันจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ผ่านการจัดกิจกรรม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ รวมถึงเผยแพร่แนวทางการจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืนสู่สาธารณะ ทำให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าเข้าสู่การจัดงานอย่างยั่งยืนมากขึ้น


อย่างไรก็ตาม หัวใจหลักของความยั่งยืน คือ การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ซึ่งคุณท็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ผู้ก่อตั้งบริษัท คิด คิด จำกัด และแพลตฟอร์ม ECOLIFE ได้แชร์มุมมองต่อประเด็นความยั่งยืนว่า “การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเดินทางไมซ์มีส่วนร่วมในการกระทำที่เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยกระตุ้นให้นักเดินทางไมซ์ตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนมากขึ้น และเกิดพฤติกรรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในอนาคต เช่น ผู้จัดงานไมซ์มีการนำพลังงานหมุนเวียนเข้ามาปรับใช้ ส่งเสริมซัพพลายเออร์ที่มีการดำเนินงานแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำเสนอแรงจูงใจให้แก่ผู้เข้าร่วมได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องความยั่งยืน” ในขณะที่ ผศ. ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) มองว่า “เรื่องสิ่งแวดล้อม Climate Change สามารถผลกระทบทางลบให้แก่คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม ยกตัวอย่าง ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างและอุตสาหกรรม การขนส่ง ส่งผลให้คนไม่กล้าที่ออกมาทำกิจกรรมด้านนอก เนื่องจากกังวลสุขภาพ” ดังนั้น สิ่งที่ทำควรทำตอนนี้ คือ การร่วมมือกันกับทุกภาคส่วนวางแผน และกำหนดนโยบายต่าง ๆ รวมทั้งต้องมีการติดตามและประเมินผลความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต 

“Personalization” ออกแบบกิจกรรมไมซ์ แบบรู้ใจผู้เข้าร่วมงาน

ปัจจุบัน “ข้อมูล” ได้กลายเป็นทรัพย์สินสำคัญของธุรกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไมซ์ที่มีฐานข้อมูลมหาศาลจากนักเดินทาง อาทิ ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลการเข้าร่วมงานประชุม ข้อมูลการจองที่พักและการเดินทาง รวมถึงข้อมูลความสนใจเฉพาะต่าง ๆ ซึ่งผู้ประกอบการไมซ์สามารถนำข้อมูลมาพัฒนาและต่อยอดรูปแบบกิจกรรมไมซ์ รวมทั้งวิเคราะห์ความสนใจ พฤติกรรม และความคาดหวัง เพื่อให้สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีแบบเฉพาะบุคคล หรือ “Personalization” ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ และสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้



ปัจจุบันพฤติกรรมของนักเดินทางไมซ์จะไม่ตอบสนองต่อกลยุทธ์หว่าน หรือ “One Size Fit All” อีกต่อไป นักเดินทางไมซ์ที่ต้องการประสบการณ์ที่แท้จริงและเฉพาะบุคคลมากขึ้น โดย คุณจิรายุ ลิ่มจินดา ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม TripNiceDay แหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรม อาหารการกิน และที่พักอาศัยจากทั่วประเทศไทย เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาและวางแผนการเดินทางได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว พร้อมทั้งแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรม และบริการที่ตรงกับความสนใจของนักท่องเที่ยวแต่ละคน ได้มีมุมมองต่อการสร้างประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคลว่า “ธุรกิจที่สามารถนำเสนอสิ่งที่ตรงใจลูกค้าได้มากที่สุด คือ ผู้อยู่รอดในการทำธุรกิจ ฉะนั้น การทำ Personalization โดยการนำข้อมูลที่มีมาออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ และนำเสนอนักเดินทางอย่างถูกที่ ถูกเวลา จะช่วยให้ธุรกิจเราโดดเด่น และเป็นที่จดจำ” 

“Synced Services” เชื่อมโยงกิจกรรมไมซ์แบบไร้รอยต่อ 

การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการและสร้างสรรค์กิจกรรมไมซ์แบบไร้รอยต่อในรูปแบบของ “Synced Services” จะช่วยยกระดับประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรมของนักเดินทางให้ดีขึ้น เนื่องจากนักเดินทางไมซ์มีความต้องการในการได้รับประสบการณ์ที่สะดวกสบาย รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก และที่สำคัญ คือ ประหยัดเวลา ซึ่งการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศ



ซึ่งทาง คุณจุ๋ม เสาวนีย์ วงษ์สมพิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท KLOOK TECHNOLOGY (Thailand) จำกัด แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวที่นักเดินทางสามารถค้นหาประสบการณ์ที่สนุกสนานได้ทุกที่ทุกเวลา ครอบคลุมตั้งแต่การจองตั๋วเครื่องบิน รถไฟ รถทัวร์ เรือ โรงแรม กิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ อย่างครบครัน โดยคุณเสาวนีย์เชื่อว่า “ความสะดวกเป็นประสบการณ์ที่ทุกคนอยากได้ ฉะนั้น การนำเอาบริการต่าง ๆ มารวมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการที่หลากหลายในแพลตฟอร์มเดียวอย่างไร้รอยต่อ ช่วยให้นักเดินทางได้รับประสบกาณ์ที่ดีและประทับใจ” โดยการบริการที่ไร้รอยต่อในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สามารถตั้งต้นพัฒนาจากจุดแข็ง เช่น ความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยว แล้วขยายต่อยอดไปสู่การพัฒนารูปแบบการเดินทางและการขนส่ง อาทิ ตั๋ว Rail Pass บริการรับส่งสนามบิน รถเช่า จองเที่ยวบิน และจองโรงแรมในพื้นที่นั้น ๆ เป็นการต่อยอดจากธุรกิจหลักไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถนำเสนอกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับนักเดินทางไมซ์ได้อย่างไร้รอยต่อ จะช่วยให้นักเดินทางสามารถวางแผนการเดินทางและเข้าร่วมกิจกรรมได้ง่ายมากขึ้น

“Virtual Experience” เติมเต็มประสบการณ์ดิจิทัลบนโลกเสมือนที่สมจริงให้กับนักเดินทางไมซ์

เทคโนโลยีสร้างสรรค์ประสบการณ์เสมือนจริงได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการจัดงานไมซ์ เนื่องจากสามารถนำเสนอประสบการณ์ดิจิทัล “Virtual Experience” ที่แปลกใหม่และน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุม การจัดงานแสดงสินค้าหรือกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มนักเดินทางไมซ์ได้มากขึ้น


ทั้งนี้ เทคโนโลยีเสมือนจริงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานไมซ์ได้ในหลายรูปแบบ เช่น True Digital Park ได้ใช้ Virtual Reality นำเสนอพื้นที่ภายโครงการเพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาสำรวจพื้นที่ภายใน โดยทาง ดร. ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ ผู้จัดการทั่วไป แห่ง True Digital Park ได้แชร์มุมมองที่สะท้อนให้เห็นถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไปและประโยชน์ของเทคโนโลยีว่า “ในยุคสมัยที่ความสนใจของผู้บริโภค (Attention World) เป็นสิ่งสำคัญ ทุกคนยอมที่จะลงทุน ยอมใช้จ่ายเงินเพื่อดึงความสนใจ ฉะนั้น ถ้ามีทรัพยากร หรือเทคโนโลยีที่สามารถดึงความสนใจของนักเดินทางไมซ์ได้ ควรจะนำมาผนวกในการทำธุรกิจ เพื่อไม่ให้ตามหลังใคร” สอดคล้องกับความเห็นของคุณพันธบัตร สันติมากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจ ทรานสลูเซีย บริษัทในเครือ ที แอนด์ บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด ที่มองว่า “หัวใจสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาผนวกกับกิจกรรมไมซ์ คือ จะต้องมอบประสบการณ์แห่งความสุขและความสนุก ให้แก่นักเดินทางไมซ์ได้” ซึ่งเทคโนโลยีเสมือนจริงสามารถช่วยดึงความสนใจของนักเดินทางไมซ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมที่แตกต่าง ควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสให้นักเดินทางไมซ์ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงานได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีเสมือนจริงเข้ามาผนวกในการจัดงาน ยังช่วยลดข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่การจัดงาน ลดความแออัดของจำนวนผู้เข้าร่วมงาน
ลดปัญหาการเดินทาง และลดการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

สำหรับ MICE Outlook ฉบับหน้า เราได้เตรียมเนื้อหาที่น่าสนใจต้อนรับปี 2567 พร้อมเจาะลึกทุกมุมมองของอุตสาหกรรมไมซ์ ให้ผู้ประกอบการและผู้อ่านทุกท่านรู้ทันทุกข่าวสาร ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้น อัดแน่นด้วยสาระ รับรองว่าไม่ควรพลาด! ติดตามได้ที่นี่!


Rating :