Challenges, Adaptations, and Opportunities: Global Economy and MICE ความท้าทาย การปรับตัว และโอกาส เศรษฐกิจระดับโลกและการจัดงานไมซ์

Author : mice intelligence team
Views 4474 | 25 Jun 2024

ในยุคโลกาภิวัตน์ของการค้าระหว่างประเทศ (Trade Globalization) ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจ และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเด็นของสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนที่ยืดเยื้อมาหลายปี กลับส่งผลกระทบหนักต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดความผันผวนของค่าเงิน ราคาสินค้าที่สูงขึ้น เกิดภาวะขาดแคลนสินค้า ตลอดจนทำให้ต้นทุนการจัดงานไมซ์เพิ่มสูงขึ้น

MICE Outlook สัปดาห์นี้ เราจะพาทุกท่านมาร่วมติดตามการสัมภาษณ์ คุณบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ที่จะมาเผยถึงสถานการณ์ประเด็นเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศไทย พร้อมกับการแนะนำแนวทางกลยุทธ์ที่สำคัญให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น


การแบ่งฝ่ายและความขัดแย้งทางการค้า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

ในปัจจุบันเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการแบ่งขั้ว (Decoupling) และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างประเทศสหรัฐฯ และประเทศจีน ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวลสำหรับการค้าโลกที่กำลังถูกกีดกันและแบ่งฝ่าย นอกจากนี้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่อความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยประเทศจีนนำเสนอสินค้าและเทคโนโลยีที่ช่วยให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุเป้าหมาย Net-zero ได้ แต่ในขณะเดียวกันทางฝั่งสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกกลับเริ่มตั้งกำแพงภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้ากับประเทศจีนมากขึ้น ทำให้เป้าหมายที่ต้องการบรรลุนั้นมีทีท่าว่าจะไกลออกไปทุกที ความแตกแยกและการแบ่งฝ่ายทางการค้าอาจจะส่งผลต่ออนาคตในด้านเศรษฐกิจโลก และการค้าในระดับนานาชาติ รวมทั้งกระทบกับการเดินทางเชิงธุรกิจ


คุณบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้แชร์ถึงเรื่องนี้ว่า ในอดีตแนวคิดเรื่องโลกาภิวัตน์ (Globalization) ช่วยขับเคลื่อนการค้าขาย และการเดินทางทั่วโลก โดยเน้นการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดในการผลิต ทำให้สินค้ามีราคาถูกและมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ในปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป เราเลือกค้าขายกับประเทศที่เป็นมิตรและอยู่ฝ่ายเดียวกัน ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานถูกแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้สินค้ามีราคาสูงกว่าปกติ โดยความกังวลในการแบ่งฝ่าย และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และประเทศจีน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมซ์อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านของร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดงานไมซ์ ค่าใช้จ่ายในการจัดงานไมซ์เพิ่มสูงขึ้น นักเดินทางไมซ์จากต่างประเทศลดลง รวมทั้งอุตสาหกรรมไมซ์อาจสูญเสียโอกาสทางธุรกิจจากการแบ่งขั้วทางการค้า




แรงกดดันเศรษฐกิจไทยในปี 2567 กับการส่งออกชะลอตัวและปัญหาโครงสร้างที่ต้องเร่งแก้
สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2567 ต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยฯ ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3% แต่ตัวเลขล่าสุดได้ปรับลดลงเหลือเพียง 2.6% และมีแนวโน้มลดต่ำกว่า 2.5% อีกด้วย ซึ่งปัจจัยหลักมาจากปัญหาการส่งออกชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ เนื่องจากไทยเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการของธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจดิจิทัล เทคโนโลยี และ AI รวมทั้งความท้าทายด้านกฎหมายและระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่น ๆ และจากรายงาน Travel & Tourism Development Index 2024 ของ World Economic Forum เผยให้เห็นถึงดัชชีอันดับการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยที่ลงมาอยู่ที่อันดับ 47 จากอันดับ 41 เมื่อปี 2023 โดยได้คะแนน 4.12 เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน นโยบายภาครัฐ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ที่ควรได้รับการแก้ไขพัฒนาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว


อย่างไรก็ตามทางคุณบุรินทร์ได้มองว่าศักยภาพของประเทศไทยที่สามารถพัฒนาและแข่งขันได้ในตลาดโลกยังคงเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวที่สามารถต่อยอดให้เป็นการท่องเที่ยวแบบเชิง High Value พัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลาย ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมุ่งเน้นประสบการณ์ที่เหนือระดับและสร้างคุณค่าและผลักดันให้ประเทศไทยได้กลายเป็นศูนย์กลาง Healthcare & Wellness และ Medical Tourism ด้วยการสนับสนุนมาตรฐานบริการทางการแพทย์ การนำเสนอทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และภูมิปัญญาด้านสุขภาพของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับจากนักเดินทางทั่วโลก


นอกเหนือจากการท่องเที่ยว ประเทศไทยยังมีศักยภาพในด้านการจัดตั้ง Data Center และการส่งออกพลังงานสะอาด โดยการขับเคลื่อนนี้จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันเดินหน้าพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่ประเทศไทยโดดเด่นให้กลายเป็นจุดแข็ง เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ผ่านการลงทุนพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐาน สร้างเครือข่ายและพันธมิตร ตลอดจนการใช้กิจกรรมไมซ์เป็นเครื่องมือในการยกระดับอุตสาหกรรมหลักของประเทศ พร้อมกับการทำประชาสัมพันธ์ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ



ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ อาเซียนต้องผนึกกำลังสร้างความร่วมมือกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคที่เศรษฐกิจโลกเผชิญความผันผวนและความไม่แน่นอน ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างต้องพบกับความท้าทายที่คล้ายคลึงกันจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เช่น สงครามการค้า และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ล้วนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ เศรษฐกิจ และความมั่นคงของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยและอาเซียนสามารถผนึกกำลังและสร้างความร่วมมือ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงของภูมิภาคและโอกาสใหม่ ๆ ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้คาดการณ์ว่าในปี 2567 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวสูงถึง 4.6% สถานการณ์นี้จึงเปิดโอกาสสำคัญให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงไทย ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่

คุณบุรินทร์ ได้แนะนำในส่วนนี้ว่า หากประเทศไทยและอาเซียนสามารถร่วมมือกัน สร้างมาตรฐาน กฎระเบียบ และระบบอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่เป็นหนึ่งเดียว จะส่งผลดีด้วยกัน ประการ ได้แก่ ประการแรก ช่วยเสริมสร้างจุดแข็งของอาเซียน ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในภูมิภาค (Short-Haul) และจากทั่วโลก (Long-Haul) ประการที่สอง กระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค ส่งเสริมธุรกิจ การค้า การลงทุน และสร้างงานใหม่ ประการที่สาม ยกระดับภาพลักษณ์ของอาเซียน ซึ่งการรวมพลังของอาเซียนในครั้งนี้ เปรียบเสมือนการปลดล็อกเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย



อุตสาหกรรมไมซ์ไทยปรับตัวรับผลกระทบทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจโลก

จากการผันผวนและการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการไมซ์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยคุณบุรินทร์ ได้แชร์ว่า จากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มว่าจะถดถอย ทำให้เหล่านักเดินทางไมซ์มีแนวโน้มที่จะระมัดระวังการใช้จ่ายในเรื่องของการเดินทาง การจัดงานไมซ์จึงต้องมุ่งเน้นไปที่การจัดงานแบบ Regional กระจายการจัดงานไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศมากขึ้น พร้อมกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาผนวกในการจัดงานเพื่อนำเสนองานในรูปแบบออนไลน์ ช่วยลดต้นทุนการเดินทางของผู้เข้าร่วมงาน ตลอดจนการผสมผสานรูปแบบงานทั้งแบบ On-site, Hybrid และ Online เข้าด้วยกัน การปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทยสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกได้ แต่ยังสร้างโอกาสและความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้อีกด้วย




แม้ว่าการปรับรูปแบบการจัดงานไมซ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่จำเป็นต้องมีการดำเนินการด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยคุณบุรินทร์ ได้แชร์ถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า สำหรับปัจจัยเสริมอื่น ๆ ที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมใช้งาน นโยบายและมาตรฐานที่สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงความมั่นคงทางด้านการเมืองของประเทศ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์การบูรณาการความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันส่งเสริมนวัตกรรมนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับงานไมซ์ สร้างเอกลักษณ์และจุดแข็งของไมซ์ไทย ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐาน จะส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางไมซ์ระดับภูมิภาค และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน


แหล่งที่มา

ความผันแปรของโลก คือโอกาสของไทยและอาเซียน: https://forbesthailand.com/commentaries/thought-leaders/the-world-fluctuations-opportunity-for-thailand-and-asean

https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2787198


Rating :