ปรับกลยุทธ์ร้านชาบูให้อยู่รอด พร้อมต่อยอดสู่เพจให้ความรู้ด้านร้านอาหาร กับ “คุณต่อ-ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี”

Author : MICE Intelligence Team
Views 4853 | 15 Mar 2022

หลายคนรู้จัก “คุณต่อ-ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี” ในฐานะเจ้าของธุรกิจ Penguin Eat Shabu ร้านบุพเฟ่ต์ชาบูสัญชาติไทยที่เปิดให้บริการมานานกว่า 6 ปี หรือหลายคนอาจจะรู้จักผ่านเพจ “Torpenguin – ผู้ชายขายบริการ” เพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจร้านอาหารในแง่มุมต่าง ๆ ที่มีผู้ติดตามกว่า 3 แสนคน ซึ่ง MICE Outlook EP นี้ ขอพาทุกคนมาร่วมเปิดมุมมองถึงวิธีการปรับกลยุทธ์ธุรกิจร้านชาบู เพื่อรับมือกับวิกฤตของโรคระบาดและความผันผวนทางเศรษฐกิจ และการต่อยอดสู่การทำเพจให้ความรู้ในแวดวงธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงมุมมองในมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ไปติดตามพร้อม ๆ กัน

www.facebook.com/penguineatshabu


จากชาบูสู่เดลิเวอรี พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส พร้อมเจาะตลาดออนไลน์

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร เพราะลูกค้าไม่สามารถเข้ามาใช้บริการที่ร้านได้ เนื่องจากมาตรการของภาครัฐและความกังวลของผู้บริโภคในเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย สำหรับร้าน Penguin Eat Shabu เองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เรียกว่ายอดขายแทบจะเป็นศูนย์ทันทีที่มาตรการของรัฐประกาศออกมาในช่วงการแพร่ระบาดระลอกแรก แต่คุณต่อได้มองหาช่องทางใหม่ ๆ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส พร้อมปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจในรูปแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยเข้าสู่บริการเดลิเวอรีผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคโควิด-19 ที่มีพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อยอดขายเราลดลง เราต้องเพิ่มศักยภาพของสิ่งที่เรามีให้มากขึ้นคือ เรื่องของการจัดการวัตถุดิบ มีการตรวจเช็กสต็อกอย่างละเอียด บางวัตถุดิบไม่สต็อกเยอะจนเกินไป ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และมีการเพิ่มช่องทางเดลิเวอรีมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ผมมองว่าหลายร้านเริ่มปรับเช่นกัน เพราะว่าพฤติกรรมของลูกค้านั้นเปลี่ยนไปแล้ว ฉะนั้นเราต้องไปอยู่ในที่ที่ลูกค้าอยู่ เมื่อเขาเข้าไปในออนไลน์ เราก็ต้องปรับตัวไปหาในออนไลน์แทน แล้วก็ต้องมีการปรับรูปแบบเมนูให้เหมาะสมกับออนไลน์มากยิ่งขึ้น”



นอกจากการกระโดดเข้าสู่แพลตฟอร์มเดลิเวอรีแล้ว การทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ ตลอดช่วงสถานการณ์โควิด-19 ร้าน Penguin Eat Shabu ได้ออกโปรโมชันและแคมเปญใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญ Mystery Box ชาบูแถมหม้อ และชาบูตัวคนเดียว เป็นต้น ซึ่งแต่ละแคมเปญนั้น จะมีการวิเคราะห์ Pain Point ของลูกค้า และการนำมาเชื่อมโยงกับเหตุการณ์วันสำคัญหรือการร่วมมือกับธุรกิจอื่น ๆ เช่น ช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ ร้าน Penguin Eat Shabu ร่วมมือกับเพจ ICY by icediry ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์การดูดวงไพ่ยิปซี สำหรับใครที่มารับประทานอาหารที่ร้าน สามารถลุ้นรับวอลเปเปอร์เสริมดวงความรักได้ เป็นต้น


“โปรโมชันที่เราทำช่วงแรก ๆ เลยคือ ชาบูแถมหม้อครับ ที่ทำให้ร้านเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเราวิเคราะห์จาก Pain Point ของลูกค้าว่า หลายคนอยากกินชาบูแต่ว่าเขาไม่มีอุปกรณ์อยู่ที่บ้าน แถมมาที่ร้านก็ไม่ได้ การรับประทานชาบูจึงเป็นเรื่องที่ยาก เราเลยแก้โจทย์ตรงนั้น โดยทำแคมเปญชาบูแถมหม้อ สั่งชาบูปุ๊บก็ได้หม้อไปทานที่บ้านเลย เราคิดโปรโมชันออกมาเยอะมาก เพราะต้องการคิดอะไรที่ตอบโจทย์ลูกค้า ด้วยพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนค่อนข้างเร็ว แคมเปญ ๆ หนึ่งจะใช้ได้ไม่นานมาก เราจึงต้องมีอะไรใหม่ ๆ ออกมาให้ลูกค้าตลอดครับ”


www.facebook.com/penguineatshabu

www.facebook.com/penguineatshabu

คุณต่อ กล่าวเสริมว่า 

“การสื่อสารทางการตลาดต้องทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำแบบนาน ๆ ทีคงไม่ได้แล้วครับ สมัยก่อนอาจจะไม่ต้องโพสต์ออนไลน์บ่อย คนก็มารับประทานที่ร้านเราตลอด แต่ปัจจุบัน เมื่อไหร่ที่เราไม่โพสต์ออนไลน์ ลูกค้าไม่เห็นเรา ปรากฏว่าเขาไปเห็นโพสต์ของร้านอื่น ซึ่งอาจจะน่าสนใจ เขาก็หันไปซื้อร้านอื่น เพราะฉะนั้นการพูดคุยกับลูกค้าตลอดเวลาอย่างสม่ำเสมอ น่าจะเป็นเรื่องจำเป็นในยุคนี้ครับ” 


ต่อยอดให้ความรู้เรื่องธุรกิจร้านอาหาร ผ่านเพจ Torpenguin - ผู้ชายขายบริการ

www.facebook.com/TORPENGUIN

“ช่วงแรกที่เริ่มทำเพจ ผมไม่ได้มีโมเดลทางธุรกิจอะไรเป็นพิเศษครับ แค่รู้สึกว่าตอนที่ทำร้านชาบู ทำไมถึงไม่มีสื่อไหนที่รวบรวมข้อมูลหรือทำเพจเกี่ยวกับธุรกิจการทำร้านอาหารเลย ส่วนหนึ่งผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดี ในวันที่เราพอมีความรู้ เราก็เลยแยกออกมาทำ และโดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ยิ่งทำให้คนรู้จักเพจเรามากขึ้น ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สร้างรายได้ให้เราตอนนี้ครับ เพราะเราเริ่มเห็น Business Model ที่สามารถทำรายได้จากตรงนี้ ตอนนี้เพจของเราเริ่มมีโฆษณาเข้ามา อาจจะบอกได้ว่าเป็นเพจคนทำร้านอาหารที่มีคนติดตามเยอะที่สุดในตลาดขณะนี้เลยครับ”

นอกจากการทำธุรกิจร้าน Penguin Eat Shabu คุณต่อได้มองเห็นโอกาสในการต่อยอดทำเพจ Torpenguin – ผู้ชายขายบริการ บนสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กขึ้นมา เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้ที่สนใจทำธุรกิจในแวดวงนี้ จนกลายเป็นชุมชนหรือ Community ขนาดใหญ่ที่ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่สามารถเข้ามาแชร์ประสบการณ์ร่วมกันได้ ทั้งนี้ ยังมีการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอีกด้วย


www.facebook.com/TORPENGUIN/photos/1054399961823582


“สำหรับเพจ Torpenguin นอกจากเราจะให้ความรู้ผ่านเพจ เราได้มีการจัดสัมมนามาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ปัจจุบันพฤติกรรมของคนสัมมนาเปลี่ยนไปครับ ระยะเวลาการสัมมนาจะสั้นลง การโฟกัสจะน้อยลง แล้วถ้าเลือกได้ก็อยากจะออนไลน์มากกว่า หลัง ๆ เรามีการจัดสัมมนาออนไลน์ทุกเดือนครับ รูปแบบเนื้อหาก็จะต้องเปลี่ยนไปหมดเลยครับ ส่วนเป้าหมายในระยะยาว ผมอยากจะเป็น Media Food Business ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จัดงานอีเว้นท์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่เกี่ยวกับร้านอาหารทั้งหมดครับ”


ธุรกิจร้านอาหารรับมืออย่างไรเมื่อนักเดินทางไมซ์ลดลง


“เมื่อนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์หายไป ร้านอาหารที่ปกติจับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ผมมองว่าต้องลดสเกลลงครับ อย่างธุรกิจสัมมนาจะมีผู้เข้าร่วมงานกันประมาณ 100-200 คน ในยุคโควิด-19 อาจจะหาสเกลแบบนี้ได้ค่อนข้างยาก อาจจะต้องมีการ Downsizing ร้านลง แล้วต้องจับลูกค้ากลุ่มใหม่มากขึ้น เริ่มไปจับนักท่องเที่ยวที่เป็น Local มากขึ้น มีการปรับรูปแบบเมนูอาหารให้มีคาแรกเตอร์เฉพาะตัวมากขึ้น เพราะถ้าร้านอาหารที่รองรับกลุ่มไมซ์ไม่มีความเฉพาะตัว การที่จะดึงดูดนักเดินทางคนไทยหรือต่างชาติก็จะยากหน่อย ต้องมีการปรับตัวครับผม”

 

สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารที่รองรับนักเดินทางไมซ์ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ ล้วนแต่ต้องเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค เนื่องจากไม่สามารถเปิดให้บริการเพื่อรองรับคนจำนวนมากได้ หรือจำนวนนักเดินทางไมซ์ลดลงอย่างมาก คุณต่อมองว่า ทางออกคือการปรับธุรกิจร้านอาหารให้มีขนาดเล็กลง พร้อมทั้งจับกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวท้องถิ่น รวมถึงต้องปรับรูปแบบเมนูและร้านให้มีความเฉพาะตัว เพื่อดึงดูดความสนใจจากนักเดินทาง และให้ความสำคัญกับการขายออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า




“พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป ทุกคนเรียนรู้การสั่งอาหารออนไลน์ ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องปรับตัวตาม เริ่มโฟกัสการขายออนไลน์มากขึ้นต่อให้กำไรจะน้อยลงก็ตาม แต่เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้เราได้กระแสเงินสดมาหมุนเวียนในธุรกิจ สิ่งที่เห็นชัดต่อมาคือ สเกลร้านอาหารจะเล็กลงครับ ที่เล็กลงเพราะอะไร เพราะว่าสัดส่วนส่วนหนึ่งถูกไปขายออนไลน์ เงินในกระเป๋าลูกค้ามีเท่าเดิมเขาก็แบ่งไปจ่ายออนไลน์ ร้านอาหารจึงต้องมีลักษณะพิเศษหรือเฉพาะที่จะมีพลังดึงดูด ต้องหาคาแรกเตอร์หรือจุดเด่นของตัวเองให้เจอ” คุณต่อ กล่าวปิดท้าย


เมื่อสถานการณ์ที่ไม่ทันคาดคิดต่าง ๆ ถาโถมเข้ามาเป็นบทเรียนให้ภาคธุรกิจต้องรับมือ สิ่งหนึ่งที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญคือ การปรับตัวอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นการปรับแผนธุรกิจใหม่ หรือการต่อยอดธุรกิจเดิมให้สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าที่แปรเปลี่ยนไป หรือการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้ คือการมองหาโอกาสจากวิกฤตเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้

สำหรับ MICE Outlook สัปดาห์หน้า ชวนผู้อ่านติดตามตัวอย่างของบริษัทจัดงานประชุมสัมมนาที่ได้นำข้อมูลของผู้เข้าร่วมงานประชุมมาวิเคราะห์ เพื่อวางกลยุทธ์ใหม่ ๆ พร้อมกับพัฒนารูปแบบการจัดงานให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับประสบการณ์ที่ตรงใจ


อ้างอิง

• สารพัดกลยุทธ์ธุรกิจ ของ ต่อ-ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของ Penguin Eat Shabu ในวันที่ต้องงัดออกมาสู้วิกฤต. https://www.youtube.com/watch?v=ViYHNhAjc8s
• Torpenguin - ผู้ชายขายบริการ “ปัญหาใหญ่ของร้านอาหาร คือเจ้าของร้านคิดว่าต้องทำเองทั้งหมด”. https://www.brandage.com/article/25697/Torpenguin

Rating :