Exploring MICE Travelers' Post-Pandemic Behavior and Expectations สำรวจพฤติกรรมและความคาดหวังของนักเดินทางไมซ์ทั่วโลกในช่วง Post Covid

Author : MICE Intelligence Team
Views 6833 | 03 Oct 2023
อุตสาหกรรมไมซ์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในปี 2565 การจัดประชุมและนิทรรศการได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศรวมกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคตและถึงแม้ว่าสถานการณ์การจัดงานไมซ์ในประเทศไทยจะมีทิศทางที่ดี แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการและนักจัดงานไมซ์ควรให้ความสำคัญ คือ ความเข้าใจพฤติกรรมของนักเดินทางไมซ์ เพื่อให้สามารถออกแบบกิจกรรมและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างตรงจุด MICE Intelligence Center โดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ จึงได้จัดทำแบบสำรวจนักเดินทางไมซ์ทั้งจากทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย กว่า 600 ตัวอย่าง เพื่อศึกษาพฤติกรรม ความคาดหวัง และมุมมองของนักเดินทางไมซ์ทั่วโลกที่มีต่อประเทศไทยในฐานะ MICE Destination ด้วยความมุ่งหวังที่จะยกระดับและพัฒนาให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการจัดการประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลและการจัดนิทรรศการระดับโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย

MICE Outlook ฉบับเดือน ตุลาคม นี้ จะพาทุกท่านมาเจาะลึกและค้นหาคำตอบพฤติกรรมของนักเดินทางไมซ์และมุมมองที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการไมซ์ไทยมีความพร้อมในการจัดงานไมซ์ให้ประสบความสำเร็จและส่งมอบประสบการณ์ที่ดีและน่าประทับใจให้กับนักเดินทางไมซ์ได้

Keytakeaway

•  ประเทศไทยถูกเลือกเป็นอันดับ 1 ประเทศที่มีศักยภาพในการจัดงานไมซ์ ด้วยความพร้อมทางด้านสถานที่จัดงานด้านความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง ตลอดจนมีความคุ้มค่าของที่พักที่และการบริการเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน ต้องช่วยกันพัฒนาและขับเคลื่อนให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานไมซ์ระดับโลก
•  ในอีก 7 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่ากลุ่มนักเดินทางไมซ์ที่จะมีอิทธิพลสูงสุดจะเป็นกลุ่ม Generation Z  ที่จะมีสัดส่วนคิดเป็น 26-30% ของประชากรโลก ซึ่งมีความคาดหวังและพฤติกรรมที่แตกต่างออกไป เช่น คาดหวังกิจกรรมไมซ์ที่มีคุณค่าและมองหาโอกาสในการเติบโตอย่างมืออาชีพ ไม่ตอบสนองต่อกลยุทธ์แบบหว่าน หรือ One-size-fit-all ต้องการประสบการณ์ที่แท้จริงและเฉพาะบุคคลมากขึ้น
•  รูปแบบการจัดงานจะเปลี่ยนไปเป็นงานที่ผสมผสานกันมากขึ้นตามพฤติกรรมของนักเดินทางไมซ์ เช่น งานสัมมนาด้านเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ (Convention) จะเสริมส่วนงานแสดงสินค้า (Exhibition) ผสมการประชุม (Conference) เพิ่มเติมเข้าไป และออกแบบงานให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น


ตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงด้วยการศึกษาพฤติกรรมนักเดินทางไมซ์

ในการดำเนินธุรกิจผู้ประกอบการต่างพยายามนำกลยุทธ์และวิธีการใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อดึงดูดลูกค้า เช่นเดียวกับธุรกิจในอุตสาหกรรมไมซ์ ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย การวางแผนการตลาดรูปแบบใหม่ หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อสนับสนุนการบริการ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง คือ วิธีการต่าง ๆ นั้นจะต้องสนับสนุนให้เกิดเส้นทางของนักเดินทาง หรือ Customer Journey ที่ดีตลอดเส้นทาง ซึ่งต้องเกิดจากความเข้าใจที่แท้จริงว่านักเดินทางหรือผู้ร่วมงานไมซ์ต้องการอะไร และปรารถนาที่จะได้รับประสบการณ์อย่างไร เพื่อให้สามารถสร้างความพึงพอใจได้ในระยะยาว

การศึกษาพฤติกรรมของนักเดินทางไมซ์จึงถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างการรับรู้ และให้ได้มาซึ่งข้อมูลเจาะลึกที่ผู้ประกอบการไมซ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอดไปสู่การออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ที่ตรงใจนักเดินทางไมซ์ได้ ซึ่งทีเส็บได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านแบบสำรวจและการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ โดยบริษัทผู้จัดงานประชุม และจัดแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดจากประเทศเยอรมนี หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์ได้กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาพฤติกรรมของนักเดินทางไมซ์ว่า “ในปี 2023 เป็นปีที่สามารถดูแนวโน้มต่าง ๆ และพฤติกรรมของคนช่วง Post Covid ซึ่งปี 2024 จะเป็นปีสำหรับการตัดสินใจเลือกทิศทางของธุรกิจ ดังนั้น สิ่งที่จําเป็น คือ ต้องสํารวจพฤติกรรมนักเดินทางไมซ์แต่ละประเทศ เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมและสามารถรับมือกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงได้” 


โดยผลสำรวจ ฯ ฉบับนี้เผยให้เห็นถึงลักษณะของนักเดินทางไมซ์ในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นวัยทํางาน มีอายุเฉลี่ย 35 ปีหรือน้อยกว่านั้น ทั้งนี้ ในอีก 7 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่ากลุ่มนักเดินทางไมซ์ที่จะมีอิทธิพลสูงสุดจะเป็นกลุ่ม Generation Z ที่จะมีสัดส่วนคิดเป็น 26-30% ของประชากรโลก ซึ่งมีความคาดหวังและพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปในอนาคตอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น คาดหวังกิจกรรมไมซ์ที่มีคุณค่ามากกว่ารูปแบบการจัดงาน และมองหาโอกาสในการเติบโตอย่างมืออาชีพ ไม่ตอบสนองต่อกลยุทธ์แบบหว่าน หรือ One-size-fit-all แต่ต้องการประสบการณ์ที่แท้จริงและเฉพาะบุคคล (Personalization) มากขึ้น รวมทั้งมีพฤติกรรมที่ชื่นชอบการเข้าร่วมงานแบบออฟไลน์ แต่ก็พร้อมที่จะเข้าร่วมงานออนไลน์หากรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร และยังคำนึงถึงงบประมาณที่จำกัด รวมทั้งนักเดินทางไมซ์รุ่นใหม่คาดหวังระยะเวลาการจัดงานที่สั้นลง แต่มีความถี่ในการจัดงานมากขึ้น เพื่อลดความเหนื่อยล้า ช่วยให้บริหารเวลาได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถรักษาความสัมพันธ์กับเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้จัดงานไมซ์จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการนำเสนอตัวเลือกที่คุ้มค่าและมีความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถดึงดูดและสร้างประสบการณ์ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มนักเดินทางรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ระยะเวลาการเข้าร่วมงานของนักเดินทางไมซ์ต่างชาติที่เดินทางไปยังประเทศจุดหมายปลายทางก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไป เช่น นักเดินทางไมซ์ในกลุ่ม Conventions, Exhibition: Exhibitor และ Exhibition: Visitor ต้องการเข้าร่วมงานในระยะเวลาที่ไม่นานมาก ในทางกลับกันนักเดินทางไมซ์กลุ่ม Meeting & Incentive ต้องการเข้าร่วมงานในระยะเวลาที่ยาวนานมากขึ้น ดังนั้น หากผู้ประกอบการไมซ์สามารถนำเสนอระยะเวลาการจัดงานที่สอดคล้องกับความต้องการของนักเดินทางไมซ์ก็จะสามารถสร้างความน่าสนใจให้กับงานนั้น ๆ ได้


ไม่เพียงเท่านี้จากผลสำรวจ ฯ ทำให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า ความถี่ในการเดินทางของนักเดินทางไมซ์ต่างชาติในภาพรวมลดลง โดยนักเดินทางไมซ์ 52.8% คาดว่าจะมีความถี่ในการเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมไมซ์  1-5 ครั้งต่อปี และ 30.2% มีการเดินทางสูงถึง 6-11 ครั้งต่อปี ซึ่ง โดยมีการแจกแจงช่วงเดือนที่นิยมเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมไมซ์ดังนี้


จากข้อมูลข้างต้น ทำให้ผู้ประกอบการไมซ์ได้รู้ว่าเมื่อนักเดินทางไมซ์มีการเดินทางลดลงจากก่อนเกิดโควิด-19 พวกเขาจะมองหาความสะดวกสบายและต้องการที่จะประหยัดเวลามากขึ้น ผู้ประกอบการไมซ์จึงควรพิจารณาถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง เช่น บริการรับส่งจากสนามบิน ที่พักใกล้สถานที่จัดงาน เป็นต้น รวมทั้งยังสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ในการวางแผนกิจกรรมไมซ์ เพื่อดึงนักเดินทางไมซ์ต่างชาติให้มีความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมไมซ์ในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้อีกด้วย



การจัดงานไมซ์แบบผสมผสานจะตอบโจทย์นักเดินทางไมซ์

เมื่อการจัดงานในรูปแบบเดิม ๆ อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของนักเดินทางไมซ์อีกต่อไป อุตสาหกรรมไมซ์จึงต้องปรับตัว รวมทั้งปรับรูปแบบการจัดงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักเดินทางไมซ์ โดย ผู้นำในธุรกิจการประชุม แสดงสินค้า และนิทรรศการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แชร์มุมมองในส่วนนี้ว่า “งานอีเวนต์จะเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน จะมีการผสมผสานรูปแบบการจัดงานกันมากขึ้น เช่น Techsauce เป็นงานแสดงสินค้า (Exhibition) ก็จะผสมการประชุม (Conference) และงานสัมมนา (Convention) เข้าไป และออกแบบงานให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น” เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้เข้าร่วมงาน และสำหรับงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ (Mega Event) จะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์จะเป็นกลุ่มนักเดินทางไมซ์ เนื่องจากจะมีทางเลือกในการเข้าร่วมงานที่หลากหลายมากขึ้น

https://capitalread.co/techsauce-global-summit-2023/
https://techsauce.co/

ในด้านความท้าทายที่น่าจับมองสำหรับการจัดงานไมซ์จาก เว็บไซต์ข่าวอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และให้บริการด้านการวิจัยตลาดและการตลาดแก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยมุมมองต่อรูปแบบการจัดงานว่า “งานขนาดใหญ่ที่สามารถสร้าง Connection และดึงผู้คนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน รวมถึงงานเล็กที่ทำเรามีปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานท่านอื่นได้อย่างใกล้ชิดจะมีแนวโน้มที่เติบโตมากขึ้น ดังนั้น จะเห็นว่างานที่เติบโตจะเป็นงานที่ใหญ่มาก ๆ และงานขนาดเล็กที่มีความยืนหยุ่น ทำให้เกิดความท้าทายสำหรับการจัดงานขนาดกลางที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานตั้งแต่ 100-300 คน” ในการจัดการทรัพยากร สร้างประสบการณ์ที่ดี ตลอดจนเรื่องการแข่งขันและควบคุมคุณภาพของงาน



สิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเดินทางท่องเที่ยวของนักเดินทางไมซ์

การเดินทางเพื่อเข้าร่วมงานหรือกิจกรรมของนักเดินทางไมซ์ยังเป็นโอกาสในการเดินทางเพื่อพักผ่อนหรือการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลสำหรับสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับนักเดินทางไมซ์อีกด้วย ซึ่งจากผลสำรวจ ฯ พบว่านักเดินทางไมซ์ต่างมองหาโอกาสในการท่องเที่ยวหลังจากเสร็จสิ้นงาน เพื่อผ่อนคลายและเติมเต็มความสุข โดยนักเดินทางไมซ์กลุ่ม Meeting & Incentive และ Exhibition Visitor สนใจที่จะท่องเที่ยวต่อในเมืองที่เป็น Tourist Attraction เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น เนื่องจากต้องการสัมผัสกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ อีกทั้งยังต้องการเปิดประสบการณ์ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในขณะที่กลุ่ม Conventions สนใจการท่องเที่ยวในเมืองเดียวกับที่จัดงานมากกว่า เนื่องจากต้องการใช้เวลาร่วมกับเพื่อนร่วมงานหรือผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง


ทางด้านผู้บริหารของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ มีมุมมองที่สอดคล้องกับผลสำรวจของนักเดินทางไมซ์ต่างชาติว่า “จุดแข็งและศักยภาพของประเทศไทยที่สามารถชักจูงใจนักเดินทางไมซ์ให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศได้ คือ การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ที่ดี การมีศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ การเดินทางที่สะดวก โลเคชันของประเทศไทยเองก็มีความได้เปรียบเพราะเป็นศูนย์กลาง ASEAN มี Local Support ซึ่งมีทีเส็บเป็นตัวกลาง รวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันในการรองรับการจัดงานไมซ์” ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบคู่แข่งขันจากต่างชาติและประเทศเพื่อนบ้าน


การศึกษาพฤติกรรมและความคาดหวังของนักเดินทางไมซ์ยังได้ระบุถึงความสนใจที่เฉพาะเจาะจงของนักเดินทางไมซ์ต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่จะไม่เดินทางตามการประชาสัมพันธ์ (Public Relations) จากหน่วยงานหรือองค์กร แต่เลือกที่จะสนใจตามอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) มากกว่า เพราะสามารถนำเสนอประสบการณ์ การท่องเที่ยวได้อย่างน่าเชื่อถือ รวมทั้งนักเดินทางรุ่นใหม่ต้องการการเดินทางเชิงประสบการณ์ (Experiential Travel) ที่ต้องการสิ่งใหม่ ๆ อยากสัมผัสประสบการณ์ที่แท้จริง (Authentic & Immersive) ได้สัมผัสใกล้ชิดกับชุมชน ชื่นชอบกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ และเริ่มให้ความสำคัญกับการเป็นผู้ให้ พฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของนักเดินทางรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป ซึ่งผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและไมซ์ ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสบการณ์การท่องเที่ยวที่เน้นไปที่การนำเสนอประสบการณ์ที่แปลกใหม่ น่าตื่นเต้น และมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่น


อีกหนึ่งประเด็นของผลสำรวจ ฯ ได้เผยให้เห็นถึงสิ่งที่กระตุ้นความสนใจของนักเดินทางไมซ์ คือ ธีมท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นความสนใจของนักเดินทางไมซ์ และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดประสบการณ์ท่องเที่ยว การออกแบบ ธีมท่องเที่ยวที่เหมาะสมเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความน่าสนใจในสถานที่นั้น ๆ และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาร่วมสนุกกับประสบการณ์ที่ตรงกับธีมที่ชื่นชอบ โดยนักเดินทางไมซ์มองว่าการเลือกธีมท่องเที่ยวมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางมายังประเทศและสถานที่นั้น ๆ เนื่องจากการเลือกธีมที่เหมาะสมจะช่วยให้ได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวที่คุ้มค่าและน่าประทับใจยิ่งขึ้น


โดยการสำรวจได้แบ่งหมวดหมู่ธีมท่องเที่ยวออกเป็น 7 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ธีมท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม, ธีมเพลินเพลินกับกิจกรรมบนชายหาด, ธีมท่องเที่ยวผจญภัย, ธีมท่องเที่ยวเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility) และการจัดประชุมสีเขียว (Green Meetings), ธีมท่องเที่ยวสุดหรู, ธีมท่องเที่ยวสร้างทีมสัมพันธ์ และธีมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร โดยแต่ละธีมจะมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป ซึ่ง 3 ธีมท่องเที่ยวที่นักเดินทางไมซ์ต่างชาติให้ความสนใจมากที่สุด ได้แก่

1. ธีมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (Fascinating History and Culture) เช่น การเยี่ยมชมสถานที่ที่มีคุณค่า
ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคม เช่น โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ แหล่งท่องเที่ยว
2. ธีมเพลินเพลินกับกิจกรรมบนชายหาด (Beach Bliss) เช่น การจัดกีฬาบนชายหาด การจัดปาร์ตี้บนชายหาด
3.การท่องเที่ยวในธีมการผจญภัย (Exhilarating Adventures) เช่น การปีนเขา ดำน้ำลึก ล่องแก่ง เป็นต้น


การที่นักเดินทางไมซ์ให้ความสำคัญกับการเลือกธีมท่องเที่ยวจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อผู้ประกอบการไมซ์ ทั้งด้านการแข่งขัน และทางด้านการตลาด กล่าวคือ ในปัจจุบันการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ประกอบการไมซ์ จึงต้องพยายามสร้างความแตกต่างของบริการ และใช้ธีมการท่องเที่ยวเป็นจุดขายในการโปรโมท ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงนักเดินทางไมซ์ทั่วโลกที่เดินทางมาท่องเที่ยวและเข้าร่วมกิจกรรมไมซ์ที่ประเทศไทยได้มากขึ้น



เอกลักษณ์ของประเทศไทยที่แข็งแกร่งสามารถดึงนักเดินทางไมซ์จากทั่วโลก

ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมของโลกมาอย่างยาวนาน ด้วยเอกลักษณ์และวัฒนธรรมเฉพาะตัวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการลิ้มลองอาหารไทยรสเลิศ สถานที่ท่องเที่ยวที่แตกต่างทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นทั้ง 4 ภาคที่มีอัตลักษณ์น่าหลงใหล ความเป็นสยามเมืองยิ้มและมิตรไมตรีของคนไทย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจุดเด่นที่นักเดินทางโดยเฉพาะกลุ่มไมซ์ต่างมองว่าไม่เหมือนกับที่ไหนในโลก รวมทั้งประเทศไทยยังมีศักยภาพในการจัดงานไมซ์ ด้วยความพร้อมทางด้านสถานที่จัดงานที่หลากหลาย ด้านความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง ด้านสุขภาวะที่ดี รวมถึงมีแนวโน้มปัญหาอาชญากรรมอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้นักเดินทางไมซ์รู้สึกมั่นใจและสบายใจเมื่อเดินทางมายังประเทศไทย ตลอดจนมีความคุ้มค่าของที่พักที่และการบริการเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นจุดแข็งที่ประเทศไทยควรรักษาและส่งเสริมต่อไป


อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากจุดเด่นทั้งหมดที่กล่าวมา ประเทศไทยยังมีการพัฒนาในหลาย ๆ ด้านมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศและต่อยอดโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ แต่ยังไม่ถูกรับรู้มากนักในกลุ่มผู้จัดงานและนักเดินทางไมซ์ ทั้งการส่งเสริมและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถสนับสนุนการจัดงานไมซ์ และสร้างให้เกิดประสบการณ์แห่งอนาคตได้ ตลอดจนความสามารถของบุคลากรภายในประเทศไทย ทั้งงานฝีมือเฉพาะ งานบริการ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในสาขาต่าง ๆ เป็นต้น การสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยที่สอดรับกับแนวคิดของประชาคมโลกจึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน ต้องช่วยกันพัฒนาและขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางและตัวเลือกที่ดีที่สุด ให้ทุกการจัดงานไมซ์และพร้อมต้นรับนักเดินทางไมซ์จากทั่วโลก
Rating :