การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลในปัจจุบันได้เปลี่ยนบริบทด้านเศรษฐกิจ สังคม และส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการที่ต้องเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการใช้ประโยชน์จาก “ข้อมูล” ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญต่อการนำมาเพิ่มมูลค่าธุรกิจ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญนี้ จึงได้มีการกำหนดนโยบาย และจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้าง Data-Driven Ecosystems ให้ประเทศไทยมีข้อมูลที่ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐ และเอกชน สามารถนำไปใช้พัฒนาออกแบบการบริการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
MICE Outlook สัปดาห์นี้ ได้สรุปประเด็นสำคัญจากงาน MICE Techno Mart 2023 ในหัวข้อ Data-Driven Ecosystems in Thailand: How Government can Unleash the Value Creation โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มาร่วมเสวนา แบ่งปันเกี่ยวกับการดำเนินการด้านข้อมูลเปิดภาครัฐที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไมซ์ได้เป็นอย่างดี
Data Driven Ecosystem และ Data Governance Policy ในประเทศไทย
“ข้อมูล” ถือเป็นทรัพย์สินเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลที่มีประโยชน์ ช่วยให้ธุรกิจวางแผนประกอบการบริหารจัดการได้อย่างแม่นยำ โดยหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ได้ออกมาส่งเสริม และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล รวมทั้งให้ความสำคัญในการสร้างระบบนิเวศในการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Ecosystem) ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐจำเป็นต้องมีการจัดทำนโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance Policy) เพื่อกำกับดูแลข้อมูลให้มั่นคงปลอดภัย มีความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน รักษาความเป็นส่วนบุคคล และสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์ และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Promotion Agency) หรือ depa ได้กล่าวถึงการดำเนินการของภาครัฐว่า "ทางเราได้จัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data Institute ด้วยเป้าหมายเพื่อสร้างการตระหนักรู้ และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจหันมาใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจด้านการบริหารและวางแผนต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งยังเป็นการดึงผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลมาไว้ในระบบนิเวศการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของข้อมูลมากขึ้น"
ในขณะเดียวกันทาง ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เปิดเผยว่า ข้อมูลจากภาครัฐอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องมีการร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อกำหนดทิศทาง และสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลที่จะทำให้เกิดการผนวกข้อมูลเข้าด้วยกัน เพื่อให้ข้อมูลเปิดภาครัฐนั้นมีความครบถ้วนมากขึ้น
- 1. จัดทำนโยบายส่งเสริมให้ภาครัฐ และเอกชนใช้ข้อมูล โดยการดึงข้อมูลจากภาครัฐ และเอกชนมาใช้วางแผนนโยบายให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้ดียิ่งขึ้น
- 2. ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพให้ใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐ เช่น กรณีของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เพื่อใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในการจัดทำแอปพลิเคชันพัฒนาระบบ และซอฟต์แวร์ให้เป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และประชาชน
- 3. เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ Ecosystem เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานที่ภาครัฐ และเอกชนสามารถนำไปประกอบในการวิเคราะห์ข้อมูลได้
การที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายในการสร้างระบบนิเวศการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเปิดของภาครัฐ ผ่านนโยบายส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลให้แข็งแกร่งเพื่อให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ และคาดการณ์ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในอนาคต รวมถึงต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงชุดข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
เดินหน้าสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลเปิดภาครัฐให้แข็งแกร่ง
การได้มาซึ่งข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ (Data Acquisition) นับว่าเป็นความท้าทาย และมีความซับซ้อนพอสมควร เพราะต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจว่าจะต้องดึงชุดข้อมูลอะไรมาเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนมากที่สุด รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการจัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานภาครัฐ โดยกระทรวงดิจิทัลฯ และ depa จึงมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการค้นหากลไกใหม่ ๆ เพื่อปลดล็อคข้อจำกัดต่าง ๆ โดยเร่งจัดทำบัญชีบริการดิจิทัลที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานระหว่างภาครัฐ และเอกชนให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างผู้ให้บริการเทคโนโลยีได้อย่างมั่นใจ ทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไมซ์ได้แสดงความสามารถผ่านการพัฒนาสินค้าหรือบริการดิจิทัลที่มีคุณภาพ
https://www.depa.or.th/th/article-view/202303031_03
“ก่อนที่จะนำข้อมูลมาใช้ เราจำเป็นต้องศึกษาว่ามี Business Model อะไรที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการไมซ์เข้าด้วยกันได้” ดร.ชินาวุธ มองว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และไมซ์ไทยจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลร่วมกันในการพัฒนาบริการต่าง ๆ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งของการจัดทำแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวแห่งชาติที่ชื่อว่า ThailandCONNEX ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับบริษัท ทราวิซโก เทคโนโลยี จำกัด (TRAViZGO TECHNOLOGY Co., Ltd.) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายเล็กให้สามารถเติบโตได้ในตลาดที่ใหญ่ขึ้น
www.thailandconnex.com
ThailandCONNEX เปรียบเสมือนตัวกลางที่รวบรวมผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม การขนส่ง สถานที่ท่องเที่ยว การดูแลสุขภาพ ฯลฯ ทั้งไทย และต่างชาติเข้ามาไว้ด้วยกัน โดยนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลมาเสริมศักยภาพการแข่งขัน ช่วยให้ผู้ประกอบการภาครัฐ และเอกชนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งแพลตฟอร์มจะมี 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่
- 1. แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก (National Digital Tourism Platform) ในลักษณะการซื้อขาย Business to Business (B2B) โดยผู้ใช้งานจะทำการขายสินค้า
และบริการในรูปแบบบัตรของขวัญ บัตรกำนัล หรือคูปองเงินสด ซึ่งจะมีการนำข้อมูลมาช่วยให้ผู้ใช้งานได้ออกแบบสินค้า และบริการได้อย่างเหมาะสม - 2. โทเคนดิจิทัลด้านการท่องเที่ยว (National Digital Tourism Token) เครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้บริการ กระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำ (Repeat Purchase) และสร้างความภักดี (Loyalty) ต่อธุรกิจ
- 3. ธนาคารข้อมูลดิจิทัลด้านการท่องเที่ยว (National Digital Tourism Data Bank) ศูนย์กลางรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลสินค้า การบริการ การเดินทาง ที่พัก และการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบถึงพฤติกรรม ความชอบ สัญญาณการเปลี่ยนแปลง และแนวโน้มในอนาคต
https://www.facebook.com/ThailandCONNEX/photos/pcb.166038172993641/166036789660446
“Data Connectivity” เชื่อมโยงข้อมูล ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และไมซ์ไทย
ThailandCONNEX ได้กลายมาเป็นแพลตฟอร์มที่มีข้อมูลจำนวนมากหมุนเวียนในระบบอย่างต่อเนื่องซึ่งข้อมูลเหล่านั้นสามารถต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าให้กับทุกภาคส่วน โดยทาง รศ.ดร.ธีรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า “การบริหารจัดการโดยไม่ใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ก็เหมือนการขับเครื่องบินโดยไม่ใช้เซนเซอร์ การจะบินด้วยตาเปล่าอาจจะไม่เหมาะกับเรื่องใหญ่ ๆ อย่างการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ถือเป็นความพยายามสำคัญที่จะสร้างให้เกิดการบูรณาการ และใช้ประโยชน์ข้อมูลจากรัฐ และเอกชนอย่างเต็มที่" จึงเป็นที่มาของอีกหนึ่งศูนย์กลางการเชื่อมโยง และพัฒนาบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวที่มีชื่อว่า “Travel Link” ซึ่งเข้ามามีบทบาทช่วยขยายขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
https://www.depa.or.th/th/article-view/202303031_03
แพลตฟอร์ม Travel Link เกิดจากการร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชนมากกว่า 20 หน่วยงานที่ต้องการสนับสนุน และฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยได้นำข้อมูลเปิดภาครัฐที่มีมาสกัดรวมกันและออกแบบข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบอินโฟกราฟิก และแดชบอร์ดที่ง่ายต่อการอ่าน และทำความเข้าใจให้ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างเสรี
https://www.travellink.go.th/
ในการดำเนินงานจะมีเป้าหมาย 2 ส่วนสำคัญด้วยกันคือ “ส่วนที่หนึ่ง เก็บข้อมูลพื้นฐานของนักเดินทางที่เข้ามายังประเทศ เช่น สัญชาติ อายุ สถานที่ที่พัก พฤติกรรมการเดินทาง และเชื่อมโยงข้อมูลการท่องเที่ยว และส่วนที่สอง เชื่อมต่อกับระบบเราเที่ยวด้วยกันของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้เห็นพฤติกรรมการเดินทาง การเข้าเช็กอินที่โรงแรม และกิจกรรมต่าง ๆ ของนักเดินทางได้โดยไม่ต้องดำเนินการเก็บข้อมูลเอง” โดยสามารถดึงแดชบอร์ดข้อมูลได้กว่า 80 แดชบอร์ด และยังมีระบบบัญชีข้อมูล (Data Catalog) ที่มีชุดข้อมูลสำคัญด้านการท่องเที่ยวของไทยทั้งหมดรวบรวมไว้ด้วยกัน
ซึ่งการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมของภาครัฐในการทำให้ “ข้อมูล” ถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบบนแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ และสะดวกต่อการเรียกใช้งาน ถือเป็นการลงทุนที่สร้างประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจในระยะยาว และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เมื่อข้อมูลที่มีสามารถเป็นจุดตั้งต้นในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับทุก ๆ ธุรกิจ เพื่อร่วมกับขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และมั่นคง
แหล่งอ้างอิง
ThailandCONNEX: www.thailandconnex.com
ThailandCONNEX: https://www.youtube.com/watch?v=O8avyFN-7hY
Travel Link: https://www.travellink.go.th/about-us#vision