ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมไทยสู่การจัดงานไมซ์ที่เป็นเอกลักษณ์ Soft Power's Creative Spark for Success

Author : MICE Intelligence Team
Views 3720 | 12 Mar 2024
ปัจจุบัน หลากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นด้วยพลังของ “Soft Power” ให้มาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ด้านบวกที่น่าสนใจในสายตานานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมไมซ์ใช้โอกาสนี้ผลักดันการจัดงาน โดยนำเอาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)  ของไทยเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมให้ทันสมัย แต่ยังทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ที่น่าสนใจ

MICE Outlook สัปดาห์นี้ จะขอพาทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของอำนาจละมุนหรือ “Soft Power” ในบริบทของธุรกิจไมซ์ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์และขับเคลื่อนการจัดงานไมซ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมไมซ์และเศรษฐกิจของประเทศได้มหาศาล


Key takeaways
- การจัดงานไมซ์เป็นกิจกรรมในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ที่ผู้จัดงานต้องคำนึงถึงการสร้างประสบการณ์น่าประทับใจ โดยผสมผสานอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่แสดงออกถึงพลัง "Soft Power" เพื่อให้นักเดินทางได้สัมผัสความพิเศษ มีคุณค่าและมีความหมาย
- การส่งเสริม Soft Power ผ่านกิจกรรมไมซ์ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศทั้งยังสามารถใช้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งนำไปสู่โอกาสทางการค้าใหม่ ๆ ให้แก่ประเทศ


“Soft Power นิยามใหม่แห่งโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก”

Soft Power หรือ “อำนาจละมุน” คือ “พลังโน้มน้าวใจ” โดยใช้เสน่ห์ดึงดูดเพื่อโน้มน้าว ผูกมิตรและสร้างความเข้าใจอันดี ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนผ่านการสนับสนุนทางด้านวัฒนธรรม ค่านิยม บุคคลที่มีอิทธิพล ซึ่งการใช้ Soft Power อย่างชาญฉลาด จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ

“Soft Power” ได้กลายมาเป็นคำยอดฮิตในช่วงปีที่ผ่านมา หลายคนอาจคุ้นเคยกับปรากฏการณ์ “ลิซ่า BLACKPINK” ยืนกินลูกชิ้นจิ้มน้ำจิ้มสูตรเด็ดในจังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้เพียงชั่วข้ามคืนลูกชิ้นในร้านมียอดสั่งซื้อจากทั่วประเทศถาโถมเข้ามาจนขายหมดเกลี้ยง หรือการโชว์กินข้าวเหนียวมะม่วงของนักร้องแร็ปเปอร์ชาวไทยอย่าง “มิลลิ” บนเวทีคอนเสิร์ตระดับโลก จนทำให้สินค้าไม่เพียงพอขายต่อความต้องการของตลาดเหล่านี้เป็นกระแสสังคมที่ชักชวนให้เกิดพฤติกรรมคล้อยตาม และเข้าไปส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของผู้คนจำนวนมากอย่างแนบเนียนจากการชูจุดเด่นทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม และความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ หน่วยงาน Korea Creative Content Agency หรือ KOCCA ภายใต้สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์และความคิดสร้างสรรค์ของเกาหลีใต้ เผยว่า อุตสาหกรรมด้านความบันเทิง เช่น เพลงเกาหลี ละคร ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์และเกม สามารถสร้างรายได้กว่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้มีแผนที่จะผลักดันSoft Power ให้มีมูลค่าถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2027


ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจและทรงอิทธิพลอย่างสหรัฐอเมริกากับการจัดงานเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Coachella ณ เมือง Indio รัฐ California ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 20 ปี สามารถดึงดูดให้นักเดินทางทั่วโลกมาร่วมงาน และพบปะสังสรรค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยในปี 2022 Coachella Valley Economic Partnership ได้เผยถึงตัวเลขมูลค่าจากการจัดงานว่า “สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับรัฐแคลิฟอร์เนียราว 704 ล้านเหรียญ หรือ 2.4 หมื่นล้านบาท โดยสร้างเม็ดเงิน
ในเมือง Indio แห่งเดียวมูลค่า 106 ล้านเหรียญหรือราว 3.6 พันล้านบาท จากการที่มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 750,000 คน” จะเห็นได้ว่าการจัดงานเทศกาลดนตรี ซึ่งมีการผสมผสานพลังของอิทธิพลวัฒนธรรมเข้ามาเป็นจุดขาย สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้จำนวนมาก

https://www.kcrw.com/music/articles/coachella-2023-lineup-frank-ocean-blackpink-bad-bunny

เช่นเดียวกับประเทศไทยซึ่งมีทุนทางวัฒนธรรมจำนวนมากที่สามารถขับเคลื่อนให้เป็น Soft Power อย่างเช่น “เทศกาลสงกรานต์ไทย” ที่ได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยในปี 2023 สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้ามาในประเทศกว่า 4.1 ล้านคน และสามารถสร้างรายได้กว่า 18,030 ล้านบาท

ซึ่งทางสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยจากพลังของ Soft Power จึงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ปี พ.ศ. 2567 ผ่านการดึงทุนวัฒนธรรมและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มคุณค่าไมซ์ผ่าน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. งานเทศกาลนานาชาติ (Festival) 2. การแสดงสินค้านานาชาติ 3. ตลาดไมซ์ในประเทศ โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการจัดงานไมซ์มูลค่าสูง (High Value-Added Destination)

ขับเคลื่อนการจัดงานไมซ์สู่สากล ด้วยพลัง Soft Power
   
การจัดงานไมซ์ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงงานที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอเนื้อหาที่มีประโยชน์ของงานเท่านั้นแต่ยังเป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันชูจุดขายของประเทศโดยการผสมผสานการนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยที่บ่งบอกถึงพลังแห่ง “Soft Power” ที่คำนึงถึงการมอบประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสถึงความพิเศษ ทำให้การจัดงานไมซ์มีความหมายและมีคุณค่า ทั้งยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของการจัดงานไมซ์ไทยที่ไม่เหมือนกับที่ใดในโลก

ดังตัวอย่าง การจัดประชุม “The 62nd ICCA Congress 2023” ของสมาคมการประชุมนานาชาติ (International Congress and Convention Association) ซึ่งประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน โดยมีสมาชิกกว่า 1,000 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมงาน  โดยคาดว่าสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้กว่า 105 ล้านบาท และเพิ่มมูลค่า GPD องค์รวมกว่า 59 ล้านบาท ตลอดจนสร้างมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 300 ล้านบาท


https://www.facebook.com/miceinthailand

การประชุมฯ ดังกล่าวได้มีการนำเอกลักษณ์อันมีเสน่ห์ของไทย และเป็นที่น่าจดจำเข้ามาสร้างจุดเชื่อมโยงประสบการณ์ที่ดี ภายใต้กิจกรรม “Cultural Immersion” โดยแบ่งออกเป็น "TRY, TASTE, TRAIN" เช่น การนั่งรถตุ๊กตุ๊ก การรับชมแสดงหุ่นกระบอก และมวยไทย ตลอดจนการร้อยมาลัย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเดินทางไม่สามารถสัมผัสได้จากที่อื่นนอกจากประเทศไทยเท่านั้น ทั้งยังมีการเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นจากแหล่งชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านอาหารเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้นักเดินทางไมซ์ได้ลิ้มลองอาหารคาวหวานจากภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย เป็นการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ ยกระดับวัตถุดิบสินค้าเกษตรเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอาหารไทย นำมาสู่การสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นภายในการจัดงานไมซ์ อย่างไรก็ตาม การจะนำ Soft Power เข้ามานำเสนอประสบการณ์ใหม่ ๆ ผู้ประกอบการไมซ์อาจจะพิจารณาถึงแนวทางในการนำเสนออย่างสร้างสรรค์ โดยควรเน้นไปที่การให้ผู้เข้าร่วมงานมีส่วนร่วมกับกิจกรรม เพื่อนำไปสู่การพิจารณาและไว้วางใจให้ประเทศไทยเป็นสถานที่การจัดงานไมซ์ได้ในอนาคต

การส่งเสริม Soft Power ผ่านกิจกรรมไมซ์เปรียบเสมือน "แพลตฟอร์ม" ที่เปิดโอกาสให้คนไทยและชาวต่างชาติได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมกันในรูปแบบของงานที่จัดขึ้น เพื่อดึงดูดผู้เข้าร่วมงานจากทุกเพศทุกวัย ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่โอกาสทางการค้าใหม่ ๆ ให้แก่ประเทศ อย่างการจัดงาน "THAI FESTIVAL TOKYO 2023 (ครั้งที่ 23)" หรือ เทศกาลไทย ณ กรุงโตเกียว ที่จะอบอวลไปด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมอันโดดเด่นของประเทศไทย ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมงานทั้งคนไทย คนญี่ปุ่น และต่างชาติอื่น ๆ กว่า 300,000 คน ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2567 ผู้จัดงานอย่าง บริษัท จี-ยู ครีเอทีฟ จำกัด ร่วมกับภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมกันจัดงานเทศกาลไทยครั้งที่ 24 ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม โดยตั้งเป้าว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานเพิ่มมากขึ้นถึง 400,000 คน


https://tokyocheapo.com/events/thai-festival/#pid=3
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=195665520076040&set=pb.100088977806658.-2207520000&type=3

กล่าวได้ว่ากิจกรรมไมซ์ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน และนำเสนอ "อัตลักษณ์ความเป็นไทย" ให้แก่นักเดินทางไมซ์ โดยอาศัยทุนที่มีของประเทศไทยทั้งทุนด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และทุนทางวัฒนธรรม ในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Low-Cost High Growth) อีกทั้ง ยังมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะยาว ตลอดจนสามารถสร้างโอกาสใหม่ ๆ และดึงความสนใจได้ทั้งนักเดินทางไทยและต่างชาติให้เข้ามาร่วมกิจกรรมไมซ์ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการสามารถวางกลยุทธ์ในการผนวก Soft power ให้กลมกลืนกับกิจกรรมไมซ์ ผ่านการสร้างสรรค์กิจกรรมที่สามารถสร้างการรับรู้ มอบประสบการณ์และโอกาสที่ดีในการเข้าถึงความเป็นไทยมากขึ้น

https://www.facebook.com/thaiexpojapan

นอกจากนี้ คุณค่าของ Soft Power ยังสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ทุกคนในประเทศ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ผ่านการจัดทำนโยบาย One Family One Soft Power หรือ OFOS เพิ่มศักยภาพและทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง เช่น ทักษะด้านการทำอาหาร, ร้องเพลง, ออกแบบ, ศิลปะ, กีฬา และอื่นๆ โดยตั้งเป้าว่าจะสร้างรายได้ต่อครัวเรือนอย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี เป็นการผลักดันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อนำอุตสาหกรรม Soft Power ไทยรุกสู่เวทีโลก จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่อุตสาหกรรมไมซ์จะใช้โอกาสนี้ในการประสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อยกระดับการจัดงานไมซ์ไทยให้มีความโดดเด่น และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนโยบายภาครัฐให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม


    MICE Outlook สัปดาห์หน้า เรายังคงพาผู้อ่านเจาะลึกในประเด็นของ Soft Power กลยุทธ์สำคัญ ในการขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ยุคใหม่ เพื่อช่วยผู้ประกอบการไมซ์ได้ไอเดียที่เป็นประโยชน์ไปปรับใช้ และไม่พลาดที่จะพบกับเนื้อหาเข้มข้นที่ครอบคลุมทุกแง่มุม


แหล่งอ้างอิง

- Global Soft Power Index 2023: https://www.matichonweekly.com/column/article_657338
- กรณีศึกษา Soft Power ของเกาหลี: https://www.ditp.go.th/post/126705
- กรณีศึกษา Thai Festival Tokyo 2023: https://www.nationtv.tv/lifestyle/travel/378900920


Rating :