Navigating the Path to Sustainable Festivals เส้นทางความยั่งยืนในการจัดงานเทศกาล

Author : MICE Intelligence Team
Views 4664 | 22 Apr 2024

เบื้องหลังความสนุกสนานที่เกิดขึ้นภายในงาน “เทศกาล” หรือ “Festival” ซึ่งเปรียบเสมือนพื้นที่สร้างประสบการณ์พิเศษให้กับผู้เข้าร่วมงาน ยังมีแง่มุมที่หลายคนอาจมองข้ามนั่นคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การจัดเทศกาลในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องพัฒนาบนพื้นฐานแนวคิดของ “ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อสร้าง อนาคตที่ยั่งยืน ให้กับชุมชน สังคม และมอบความสุขให้กับผู้เข้าร่วมงานในเวลาเดียวกัน


MICE Outlook สัปดาห์นี้ เราจะพาทุกท่านร่วมสำรวจรูปแบบการจัดงานเทศกาลในปัจจุบัน ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่ภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมไมซ์ต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับ ความยั่งยืน เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจัดเทศกาล และงานไมซ์ด้วยความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม



Key takeaways

• ผลสำรวจของ Inevent ชี้ให้เห็นว่าการจัดงานในแต่ละปีนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1.2 พันล้านตันต่อปี ซึ่งทำให้งานเทศกาลทั่วโลกได้หันมาตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ในขณะที่ดัชนีความยั่งยืนของสถานที่ท่องเที่ยวโลกประจำปี 2023 เผยว่ากว่า 85% ของสถานที่ท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับการดำเนินกลยุทธ์รับมือ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และงานเทศกาลเริ่มตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีความพยายามในการดำเนินงานอย่างยั่งยืน
• การท่องเที่ยว การจัดงานเทศกาล และกิจกรรมไมซ์ ล้วนมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ การดำเนินงานที่ควบคู่ไปกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นกุญแจสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคต เนื่องจากสามารถสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับทุกภาคส่วน

https://thatfestivallife.com/festival-sustainability-initiatives/


ความยั่งยืน” มาตรฐานการจัดงานเทศกาลแห่งอนาคต

ECONOMIST IMPACT คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเทศกาลจะมีมูลค่าสูงถึง 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี พ.ศ. 2571 และจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ “เศรษฐกิจเทศกาล” กลายเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างผลกระทบเชิงบวกในด้านสังคมและเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นแรงหนุนที่ดีให้ภาคการท่องเที่ยวเพิ่มการลงทุน ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างงานจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การจัดงานเทศกาลซึ่งสามารถดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกและรวบรวมผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดปริมาณการบริโภคที่เกินความจำเป็น ทั้งการใช้พลังงาน น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาขยะ ปัญหาการจราจร ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้นด้วย โดยจากผลสำรวจของ Inevent ชี้ให้เห็นว่า การจัดงานในแต่ละปีนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1.2 พันล้านตันต่อปี




Tomorrowland งานเทศกาลดนตรีระดับโลกที่จัดขึ้น ณ ประเทศเบลเยียม รองรับผู้เข้าร่วมงานที่ชื่นชอบเสียงเพลงได้มากกว่า 400,000 คน ภายในงานมีการตกแต่งเวทีอย่างยิ่งใหญ่ และใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน อย่างไรก็ตาม การจัดงานเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการปล่อยมลพิษจากการเดินทางและการสร้างขยะจากการบริโภคจำนวนมาก ทำให้การจัดงานแต่ละครั้งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมหาศาล ซึ่งทำให้งานเทศกาลใหญ่ ๆ ทั่วโลกได้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ผ่านการจัดทำนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เช่น การจัดการขยะอย่างถูกวิธี การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในงานให้สามารถเข้าถึงได้สะดวกขึ้น ตลอดจนมีการร่วมมือเป็นพาร์ทเนอร์กับผู้ประกอบการขนส่งในการเสนอตั๋วรถไฟราคาพิเศษ แทนการเดินทางด้วยอากาศยานในบางเส้นทางการเดินทาง เป็นต้น ซึ่งในกลุ่มประเทศยุโรปได้มีการจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจังในการออกแผนงานสำหรับการจัดเทศกาลยั่งยืน

โดย Animate Girls Festival และ Yourope The European Festival Association ได้ร่วมกันพัฒนา European Green Festival Roadmap 2030 ส่วนหนึ่งของโครงการระยะเวลา 3 ปี “Future-Fit Festivals” แผนงานนี้เป็นความพยายามที่จะทำให้ EU Green Deal เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 55% ภายในปี พ.ศ. 2573 ผ่านการจัดทำกลยุทธ์การจัดการการดำเนินการด้านความยั่งยืน รวมถึงการวัดผลและลดการใช้พลังงาน การจัดการวัสดุและของเสีย การจัดการอาหารและเครื่องดื่ม ส่งเสริมรูปแบบการเดินทางที่ยั่งยืน เสริมสร้างความสัมพันธ์ของชุมชนและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น การดำเนินการตามกลยุทธ์นี้จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมชุมชน ตลอดจนสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ความยั่งยืนได้

https://yourope.org/wp-content/uploads/2023/07/yourope-european-green-festival-roadmap-2030.pdf


กระแสการตื่นตัว ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในอุตสาหกรรมไมซ์เท่านั้น ยังได้ขยายวงกว้างไปยังเมืองท่องเที่ยวทั่วโลกที่ต่างมุ่งมั่นพัฒนา เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็น "จุดหมายปลายทางแห่งความยั่งยืน" สำหรับนักเดินทาง

จากดัชนีความยั่งยืนของสถานที่ท่องเที่ยวโลกประจำปี 2023 หรือ Global Destination Sustainability Index ที่จัดอันดับจุดหมายปลายทางทั่วโลกโดยพิจารณาจากความพยายามในการสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกิจกรรมอีเว้นต์ ในปี 2023 การที่เป็นจุดหมายปลายทางที่ยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจนปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้อให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเป้าหมายที่ยั่งยืนได้



ดัชนีชี้ดังกล่าวทำให้เห็นแนวโน้มที่น่าสนใจด้านความยั่งยืนของสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ได้มีการดำเนินกลยุทธ์ในด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลาย เพื่อสร้างโอกาสให้กับทุกคน การใช้เทคโนโลยีในการสร้างความตระหนักและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยการดำเนินการทั้งสามด้านนี้มีผลทำให้การท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคมในอนาคตได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในระดับนานาชาติ ดังนั้น อนาคตของการท่องเที่ยว การเดินทาง และการจัดงานไมซ์ จึงเป็นการแข่งขันบนพื้นฐานของความยั่งยืน เพื่อ "สร้างสมดุล" ระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ความท้าทายของการจัดงานเทศกาลอย่างยั่งยืน

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้หลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้เข้าร่วมงานและผู้จัดงานจำเป็นต้องหันมาสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมสร้าง “งานเทศกาลที่ยั่งยืน (Sustainable Event)”


https://www.shutterstock.com/th/image-photo/skanderborg-denmark-august-14-2017-field-697190467


ซึ่งจากรายงานของ Ovation Global เผยให้เห็นว่าผู้จัดงานยอมรับว่า การคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น"เป็นเรื่องที่ท้าทาย"แต่กำลังดำเนินการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องเพื่อประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยวางแผนที่จะคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนสำหรับปี2023” แม้ว่าทางฝั่งผู้จัดจะมองว่า การคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนจะมีความท้าทาย แต่ผู้จัดงานได้พยายามดำเนินการคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนทุกครั้งที่มีการจัดงาน แสดงให้เห็นถึงความพยายามของทางผู้จัดงานที่ต้องการยกระดับการจัดงานให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และจากความท้าทายที่ผู้จัดงานต้องเผชิญ ปัจจุบันได้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่งที่ให้การสนับสนุน และมีความพร้อมในการให้คำปรึกษาในด้านความยั่งยืน การร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจะทำให้สามารถพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างสังคมที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม

รวมทั้งทางผู้ประกอบการไมซ์ สามารถสร้างเครือข่ายผู้จัดงานเทศกาลที่มุ่งเน้นความยั่งยืน เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ และสร้างความร่วมมือ ดังนั้น "ความยั่งยืน" จึงไม่ได้เป็นเพียงคำแนวคิด แต่คือ "กุญแจสำคัญ" สู่ความสำเร็จของผู้ประกอบการไมซ์ยุคใหม่ การร่วมมือกับทุกภาคส่วนจะช่วย "เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสที่จะขับเคลื่อนงานไมซ์" สู่อนาคตที่ยั่งยืน

https://www.theguardian.com/travel/2023/mar/27/10-sustainable-festivals-in-the-uk-and-europe


Olympic Games Paris 2024 ยกระดับมาตรฐานการจัดงานสำหรับการแข่งขันกีฬาที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น

มหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่จะจัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2024 ไม่เพียงแค่เน้นที่การแสดงศักยภาพของนักกีฬา ความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังมุ่งสู่การเป็นตัวอย่างที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกที่กรุงปารีส ได้ตระหนักถึงความยั่งยืนจึงสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับมหกรรมกีฬาโลกด้วยการมุ่งมั่นที่จะเป็น"จุดหมายปลายทางการจัดมหกรรมกีฬาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด" โดยตั้งเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ไม่เกิน 1.5 ล้านตันเท่านั้น


https://www.sarakadeelite.com/lite/olympics-paris-2024/


โดยสิ่งที่ทำให้การดำเนินการด้านความยั่งยืนของการจัดงาน Olympic Games Paris 2024 แตกต่างออกไป คือ วิธีการคำนวณการปล่อยมลพิษ ที่เลือกประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากนโยบายต่าง ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการ ซึ่งจะช่วยให้สามารถวางแผน และควบคุมคาร์บอนฟุตพรินต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ออกนโยบายสำคัญ ได้แก่ การลดการใช้พลังงาน เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในทุกสถานที่จัดการแข่งขัน และลดการใช้พลังงานโดยรวมลง 10% เมื่อเทียบกับโอลิมปิกลอนดอน 2012 การจัดการขยะ มุ่งเป้าไปที่การรีไซเคิลขยะ 95% ของขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นการคมนาคมสนับสนุนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ จักรยาน และการเดินเท้า การจัดหาอาหารกว่า 13 ล้านมื้อ เน้นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น อาหารที่มาอย่างยั่งยืน และลดการสูญเสียอาหาร ตลอดจนการจัดการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก หรือการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน ดังนั้น โอลิมปิกปารีส 2024 จึงไม่ได้เป็นเพียงมหกรรมกีฬา แต่เป็นตัวอย่างของการจัดงานที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลกหันมาใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


https://www.gridmag.co


MICE Outlook สัปดาห์หน้า จะขอพาทุกท่านไปพบกับ "เทคโนโลยี AI กับบริบทของอุตสาหกรรมไมซ์" ที่จะเข้ามาสร้างโอกาสใหม่ ๆ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน อย่าพลาดที่จะติดตามเนื้อหาสาระ และร่วมเติมเต็มความรู้ในด้านเทคโนโลยี AI กับอุตสาหกรรมไมซ์ไปพร้อม ๆ กัน!


แหล่งที่มา

• ผลกระทบของ Tomorrowland: https://www.thebulletin.be/study-reveals-vast-environmental-impact-tomorrowland-music-festival#:~:text=Tapio%2C%20a%20Belgian%20company%20that,nearly%20150%2C000%20tonnes%20of%20CO2. , https://economictimes.indiatimes.com/small-biz/sustainability/music-festivals-try-to-save-the-planet-one-recycled-tent-at-a-time/articleshow/102710110.cms?from=mdr

• ผลกระทบการจากจัดงานเทศกาล https://impact.economist.com/sustainability/social-sustainability/festivals-sector-moves-to-make-events-greener , https://inevent.com/blog/tech-and-trends/sustainable-event-planning-2024.html

• New Destination Sustainability Ranking Announced: https://meetings.skift.com/new-destination-sustainability-ranking-announced/

• Greenest in history': How Paris aims to halve the Olympics' carbon footprint: https://www.france24.com/en/france/20230725-greenest-in-history-how-paris-aims-to-halve-the-olympics-carbon-footprint



Rating :