Next Era of Experience ก้าวสู่ประสบการณ์งานอิเวนต์แบบใหม่กับ คุณอริยะ พนมยงค์ แห่ง CMO Group

Author : MICE Intelligence Team
Views 4979 | 15 Nov 2022

ในยุคที่ธุรกิจต่างแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอด จุดสำคัญคือจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่โลกอนาคตได้อย่างไร หลายองค์กรขยายธุรกิจเพื่อรองรับตลาดใหม่ ๆ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดความสำเร็จ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับในยุคนี้คือ การร่วมมือกันของแต่ละฝ่ายด้วยการนำจุดแข็งมาส่งเสริมซึ่งกันและกัน



MICE Outlook สัปดาห์นี้ ชวนทุกท่านมาร่วมพูดคุยกับ คุณอริยะ พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Transformational ธุรกิจที่มุ่งทำ Digital Transformation ให้กับองค์กรไทย และเป็นผู้บริหารคนแรกของ Google ประเทศไทย มีประสบการณ์บริหาร Tech Company มากมายอย่าง LINE ประเทศไทย ปัจจุบัน คุณอริยะดำรงตำแหน่ง Co-CEO บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO ที่ประกาศยกเครื่ององค์กรครั้งใหญ่ ปรับโครงสร้างธุรกิจ Event Organizer มาเป็น Experience Tech Creator ก้าวสู่การสร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อในธุรกิจแห่งอนาคต


ปัจจุบัน CMO ทำอะไรบ้าง

 

“ตอนนี้เรากำลังสร้างธุรกิจใหม่ครับ หลัก ๆ คือ CMO มีธุรกิจที่เป็น Event Organizer ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของเรา ตอนนี้สถานการณ์เริ่มกลับมาดีแล้ว ทั้งในรูปแบบ Online และ Offline ถัดมาคือธุรกิจ Entertainment เราเปลี่ยนบทบาทจาก Organizer มาเป็น Promotor เต็มตัว โดยเน้นที่กลุ่ม K-POP, T-POP และ EDM Festival ต่าง ๆ ส่วนธุรกิจที่เพิ่มเข้ามาอีกหน่วยคือ Technology ซึ่งอยู่ในช่วงของการสร้างทิศทางของทีมและสร้างแพลตฟอร์ม ทั้งหมดนี้คือนิยามใหม่ของ CMO เราวางตัวเองเป็น Experience Tech Creator ที่เพิ่มธุรกิจ Entertainment และ Technology เข้ามาครับ”


จุดเปลี่ยนที่ทำให้ CMO ตัดสินใจปรับธุรกิจ


“ยุคนี้ธุรกิจไม่เปลี่ยนไม่ได้ CMO เองก็อยากพาตัวเองไปสู่โลกอนาคต ซึ่งก่อนหน้านี้ CMO ทำธุรกิจในส่วนของ Organizer ได้ดี แต่ถามว่าในอนาคตถ้าเราต้องการให้ธุรกิจเติบโต 2-3 เท่า หรือมากกว่านั้น คงไม่ได้มาจากอิเวนต์อย่างเดียว ฉะนั้นเราต้องสร้างธุรกิจใหม่ เราขยายตัวเองเข้าสู่วงการ Entertainment ซึ่งเป็นความชำนาญ (Expertise) ส่วนหนึ่งของเรา การที่เราเข้าไปสู่โลก Engagement ได้ เท่ากับเราเป็นเจ้าของงาน คนก็จะรู้จัก CMO ในฐานะ Promotor บทบาทก็จะแตกต่างกัน”


ประสบการณ์ใหม่ของการเข้าร่วมงานอิเวนต์ Online และ Offline

 

“ผมว่าวันนี้คนไม่ได้ติดใจว่าจะเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มไหน แต่เป็นเรื่องของความสะดวกสบายมากกว่า อย่างบางงานเหมาะกับ Online เช่น การจัดงาน Conference ระดับประเทศ คนทั้ง 77 จังหวัด ไม่จำเป็นต้องเดินทางมากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนของผู้จัดงานด้วย หรือบางงานเหมาะกับ Offline ที่นักลงทุนจะต้องมาเจอกัน เห็นหน้ากัน เพราะจะต้องทำธุรกิจร่วมกัน อย่าง Business Matching อันนี้ยังต้องเจอกัน วันนี้สถานการณ์กลับมาดีขึ้นแล้ว ถ้าเรายังทำอิเวนต์แบบเดิม ๆ มันก็ไม่สนุก คนที่จะมาเข้าร่วมงานเขาก็อยากได้ความเจ๋งกลับไป ซึ่งจุดนี้เทคโนโลยีจะเข้ามาเสริม สุดท้ายเมื่องานจบแล้ว ลูกค้าจดจำงานของเราได้ไหม จดจำด้วยอะไร คุณภาพ โปรดักชัน หรือคอนเทนต์ 
งานอิเวนต์คือการสร้างสรรค์ วันนี้เราพยายามใส่ความสร้างสรรค์ (Creativity) เข้าไป เพราะเรารู้สึกว่า Creativity คือสิ่งที่ทุกองค์กรอยากได้ และเป็นภาพลักษณ์ของงาน เป็นจุดที่เราไม่ต้องแข่งแค่ราคาเพียงอย่างเดียว”


ถ้าไม่แข่งด้วยราคา เทคโนโลยีจะมาสร้างความแตกต่างอย่างไร


“ยกตัวอย่างงาน Exhibition เราจะใช้เทคโนโลยีมาช่วยลูกค้า อย่างการเก็บ Data ของผู้เข้าร่วมงาน แล้วเมื่องานจบ เราสามารถ Engage กับเขาได้ อย่างที่สองคือ โมเดลที่เรากำลังคิดอยู่ Engage to Earn ทำอย่างไรให้ลูกค้าได้ประโยชน์กลับไป ไม่ใช่แค่มีผู้เข้าร่วมงานมาดูศิลปินร้องเพลงแล้วจบ แต่เราต้องช่วยลูกค้าสร้าง Engagement กับผู้เข้าร่วมงานอย่างต่อเนื่อง หรือการใช้ AR หรือ VR มาสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้เข้าร่วมงานเกิดแรงดึงดูดมากขึ้น เหล่านี้คือเทคโนโลยีที่จะช่วยสร้าง Engagement กับลูกค้าที่เป็น End Consumer นี่คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม คือนิยามของ Experience Tech Creator เพราะเราต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่”


จัดงานอิเวนต์ให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจประเทศ


“ผมมองว่าเราต้องจัดงานระดับ Regional และระดับ Global เพื่อรองรับคนทั่วโลก ซึ่งจะตอบโจทย์เศรษฐกิจประเทศไทยด้วย เพราะงานระดับนี้จะดึงคนได้มหาศาล และเป็นทางลัดที่จะดึงนักท่องเที่ยวทั่วไปเข้ามาด้วย ผมขอยกตัวอย่างงาน Conference ล่าสุดที่เพิ่งไปมาในเดือนสิงหาคม 2565 คืองาน Korea Blockchain Week 2022 ที่ประเทศเกาหลีใต้ คนทั่วโลกบินไปที่นั่น สามารถดึงนักท่องเที่ยวที่เป็น Business Travelers มาได้ เขาจัดงานหนึ่งอาทิตย์เต็ม แล้วไม่ใช่แค่งานเดียว ซึ่งในช่วงนั้นก็มีงาน Formura E World Championship และงาน World DJ Festival คือไปหนึ่งอาทิตย์คุณจะเห็นทุกงานเลย ซึ่งแต่ละงาน Promotor คือคนละบริษัท แต่สิ่งที่เขาทำคือ เขาจับมือกันแล้วไปคุยกับกรุงโซลที่เป็นเจ้าภาพ แล้วสัปดาห์นั้นกรุงโซลแทบแตก เพราะคนไปเยอะมาก ทั้ง Business Travelers และ Tourists”


ทักษะสำคัญที่ผู้จัดงานต้องมีในยุคนี้




“ผู้ประกอบการต้องศึกษาเทคโนโลยีที่จะนำมาสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า โดยการเพิ่ม Creativity เข้าไป ซึ่งจริง ๆ แล้วจุดเด่นของคนไทยคือ Creativity ผมอยากชวนให้ทุกท่านไม่แข่งกันที่ราคา แต่มาสร้างคุณค่าของงานไปด้วยกัน มาสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้เข้าร่วมงาน เพราะงานของเราคือการสร้างประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานประชุม คอนเสิร์ต หรืองานเทศกาล นอกจากนี้ ผมมองว่าการร่วมมือกันคือสิ่งสำคัญ เพราะบนโลกนี้เรายืนคนเดียวไม่ได้ ยิ่งในสถานการณ์ที่เราเพิ่งฟื้นตัวจาก COVID-19 การแข่งขันก็ยิ่งดุเดือด ทุกคนต้องการกลับมาได้เร็วที่สุด ดังนั้น เราจะเห็นในหลาย ๆ อุตสาหกรรมทั่วโลกเริ่มร่วมมือกัน (Consolidate) เพราะเมื่อมีผู้เล่นเยอะขึ้น การแข่งขันยิ่งดุเดือด เราต่างคนต่างตัดราคา แต่ถ้าเรา Consolidate จะทำให้ทุกคนแข็งแกร่งขึ้น”


เทรนด์ที่น่าจับตาในแวดวงอุตสาหกรรมไมซ์


“อย่างที่บอกเลยครับ ตอนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นการร่วมมือกัน เพราะเราไม่ได้ยืนคนเดียว ยุคนี้เราต้องร่วมมือกัน ต้องรู้ว่าเราถนัดอะไรและไม่ถนัดอะไร ซึ่งสิ่งที่ไม่ถนัดเราก็หาพาร์ตเนอร์มาช่วยกัน ถ้าต้องสร้างคนขึ้นมาให้ทำส่วนนี้ ผมมองว่ามันจะไม่ทัน แต่ถ้าเราสามารถร่วมทุนกัน ก็จะทำให้เราวิ่งเร็วขึ้น สิ่งที่ CMO กำลังทำอยู่คือ จับมือกับกลุ่มบริษัทต่าง ๆ มาเป็นพาร์ตเนอร์กัน ซึ่งต้องได้ประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายรู้สึก Win-Win ไปด้วยกัน ผมว่านี่เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นแล้ว และเป็นสิ่งที่ดี เพราะได้เสริมทักษะของแต่ละคน ทักษะไหนเราขาด เราก็หามาเติมเต็ม”

สิ่งสำคัญของการจัดงานอิเวนต์ในยุคนี้คือ จะทำอย่างไรให้ผู้เข้าร่วมงานจดจำงานแล้วนำกลับไปต่อยอดได้ ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามาสร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้า และสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้เข้าร่วมงาน ขณะเดียวกัน การร่วมมือกันเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ เพราะเมื่อต่างคนต่างนำจุดแข็งมาส่งเสริมกัน ก็จะทำให้ทุกคนแข็งแกร่งขึ้น งานก็จะประสบความสำเร็จ  และตอบโจทย์ได้ตามที่ต้องการ


สัปดาห์หน้า ชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับเทรนด์ Omnibility การจัดงานเพื่อคนทุกกลุ่ม ซึ่งจะมีแนวทางการจัดงานประชุมสัมมนาอย่างไรให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียม ติดตามได้เร็ว ๆ นี้

Rating :