Road to Local เชื่อมโยงผู้คน ดำดิ่งสู่วัฒนธรรมกับคุณอัชฌา-คุณธรรศ ผู้จัดงาน “สกลจังซั่น l SAKON JUNCTION”

Author : MICE Intelligence Team
Views 3616 | 06 Sep 2022

“ท้องถิ่น” สัญญาณความหวังรูปแบบใหม่สำหรับภาคธุรกิจ เพราะไม่เพียงเป็นการนำเสนอประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้แก่นักเดินทางไมซ์เท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้กลับมาครึกครื้นอีกครั้ง



MICE Outlook สัปดาห์นี้ ชวนมาร่วมถอดบทเรียนกิจกรรมสุดสร้างสรรค์ ไปกับ “คุณอัชฌา สมพงษ์” และ “คุณธรรศ วัฒนาเมธี” สองผู้ร่วมจัดงาน “สกลจังซั่น l SAKON JUNCTION” ถึงแนวทางการนำเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่นผ่านงานเทศกาล พร้อมคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการไมซ์ ถึงวิธีการนำความเป็นท้องถิ่นมาเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปอย่างยั่งยืน


สกลจังซั่น” จากมือชาวสกล

เมื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ “การพัฒนาเมือง” งานเทศกาลสุดสร้างสรรค์จึงบังเกิดขึ้น ด้วยความร่วมมือของกลุ่มภาคีเครือข่ายในเมืองสกลนคร


readthecloud.co

คุณธรรศเล่าว่า งานสกลจังซั่นมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่กลางปี 2563 “จังหวัดสกลนคร” เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network: TCDN ดูรายละเอียดเพิ่มคลิก https://bit.ly/3AnhvBL) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) มอบหมายให้มาจัดงานเทศกาลเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองว่า ถ้าเรากระตุ้นเมืองด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะทำให้เมืองมีผลตอบรับอย่างไรบ้าง หลังจากการจัดงานผลที่ได้คือ ช่วยสร้างโอกาสให้เกิดการเรียนรู้และสามารถจัดงานได้เองต่อไปในอนาคต


www.cea.or.th

“ทั้งทางพวกเรา และคุณหมอสุขสมัย สมพงษ์ เจ้าของบ้านเสงี่ยมมณี ทำเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าอยู่แล้ว จึงกลายเป็นจุดศูนย์รวมของผู้คนที่มีจุดประสงค์เดียวกัน ชักจูงผู้คนจากหลากหลายกลุ่มเข้ามาสร้างสรรค์งานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทีมสถาปนิกจาก CEA ทีม Hug Town ทีมหอการค้าจังหวัดสกลนคร ทีมผู้จัดงานสกลเฮ็ด ทีมสถาปนิกฉมาโซเอ็น (Shma SoEn) ศิลปินในจังหวัดสกลนคร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และอีกมากมาย ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีงบประมาณและโครงการของตนเอง จึงหารือกันว่า หากจะนำทุกโครงการมาจัดเป็นอีเว้นท์เดียวที่ใหญ่ขึ้น จะสามารถสร้างประโยชน์ต่อเมืองได้มากยิ่งขึ้นหรือไม่”


citycracker.co

citycracker.co


สำหรับชื่อเทศกาล คุณธรรศเล่าว่าเป็นชื่อที่คิดได้ในช่วงที่ขอบเขตงานชัดเจนมากขึ้น ตอนแรกมีหลายชื่อ แต่สกลจังซั่นได้รับการโหวตจากทีมมากที่สุด เพราะเป็นคำที่ติดหู และพ้องเสียงทั้งภาษาอีสานและภาษาอังกฤษ คำว่า “จังซั่น” ในภาษาอีสานมีความหมายว่า อย่างนั้น อย่างนี้ ซึ่งพ้องเสียงกับคำภาษาอังกฤษ คำว่า “Junction” แปลว่า ทางแยก จุดตัด ทางร่วม ซึ่งสื่อถึงงานนี้ที่เกิดจากหลาย ๆ ทีมมารวมกันที่จุดหมายปลายทางเดียวกัน ก่อนจะแยกย้ายกันไปสร้างสรรค์งานของตนต่อหลังจากเทศกาลจบลง


ศิลปะวิถีใหม่ สะท้อนอัตลักษณ์อย่างสร้างสรรค์

เนื่องจากทาง CEA ได้กำหนดขอบเขตของงานที่ชัดเจน และมอบหมายให้ทีมสถาปนิกมาจัดเตรียมงานร่วมกับภาคประชาชน ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ทางทีมสถาปนิกได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ มาพูดคุยกับทีมงานต่าง ๆ เพื่อดีไซน์งานให้ตอบโจทย์ชุมชนมากที่สุด โดยมีทั้งหมด 7 กิจกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ จังซั่น Walk, จังซั่น GALLERY, จังซั่น DESIGN, จังซั่น EATS, จังซั่น MARKET, จังซั่น MUSIC และ จังซั่น ACTIVITY



readthecloud.co


คุณอัชฌายกตัวอย่างกิจกรรมภายในเทศกาลอย่าง “จังซั่น GALLERY” นิทรรศการภาพวาดย่านเมืองเก่าสกลนครจากศิลปินนอกพื้นที่ ซึ่งประกอบไปด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่ อาทิ เรือนใต้ถุนสูง เรือนคหบดีที่มีอายุกว่า 110 ปี จากนั้นนำภาพวาดไปจัดแสดงในสถานที่จริงทั่วเมือง เพื่อแสดงถึงวิถีชีวิตสไตล์ชาวสกล เคล้ากลิ่นอายประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน และ “จังซั่น EATS” ที่รังสรรค์โดย House No. 1712 บอกเล่าวัฒนธรรมการกินอาหารท้องถิ่นของคนสกลนคร ผ่านมื้ออาหารสุดพิเศษโดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการ Esan Gastronomy อาหารท้องถิ่นอีสานรูปแบบใหม่ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร


www.facebook.com/SAKONJunction

www.facebook.com/SAKONJunction


“กิจกรรมจังซั่น ACTIVITY ถูกแบ่งเป็น 7 ส่วนย่อย อาทิ Learn and Play เติมสีสันให้กับเมืองด้วยการทาสีถนนของกลุ่ม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม SAKON SOLE (สกลโสเหล่) จากกลุ่มฉมาโซเอ็น ที่ทำเรื่องการจัดการพื้นที่สาธารณะอย่างสร้างสรรค์ ร่วมมือกับชมรมส่งเสริมคนดีเมืองสกล จัดเสวนาร่วมวงพูดคุยกันเกี่ยวกับพัฒนาการของเมือง รวมไปถึงโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะในเมืองทั้งที่เกิดขึ้นจริง และไม่ได้เกิดขึ้นจริง บนเวทีกลางเมืองตามสโลแกน “โสเหล่” ที่แปลว่า ร่วมวงพูดคุยกัน และมีส่วนอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ตลาดศิลปะ สินค้าทำมือ ร้านตัดผมริมทาง กาแฟ Slow Bar เป็นต้น” คุณธรรศกล่าวเสริม


ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งต่อความหวังแก่คนรุ่นใหม่ 

คุณอัชฌามองว่า สิ่งที่ขับเคลื่อนชุมชน คือการทำให้ชุมชนได้เห็นคุณค่าสิ่งที่มีในชุมชนตนเอง “หลังจากเทศกาลจบลง สิ่งที่เห็นชัดเลยคือ คนในชุมชนพร้อมและอยากมีส่วนร่วมกับกิจกรรม อย่างในคุ้มกลางธงชัยที่เป็นชุมชนเก่าแก่ และมีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก ๆ และผู้สูงอายุ คนหนุ่มสาวออกไปทำงานต่างบ้านต่างเมืองกันหมด พอมีคนภายนอกเข้ามาตั้งบูธค้าขาย ทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่า จริง ๆ แล้วชุมชนเราก็ขายของได้ เพราะเขาเห็นนักท่องเที่ยวต่างถิ่น หรือคนสกลเองเข้ามามากขึ้น ก็ทำให้รู้สึกว่ามันก็มีอะไรนะ ไม่ใช่ไม่มีอะไร เพียงแต่ว่าเขาไม่รู้ว่าจุดไหนจะถูกหยิบยกขึ้นมาให้คนอื่น ๆ ได้เห็น


www.banyantree.com



www.facebook.com/อ้ายบอมบ์-รูปเด๋


ด้านคุณธรรศกล่าวเสริมว่า “สกลจังซั่นเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลัง สกลจังซั่นทำให้มองเห็นว่าสกลนครมีอะไรที่น่าสนใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะหยิบสิ่งใดมานำเสนอเพื่อพัฒนาต่อไป รวมถึงคนในพื้นที่เองที่ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ภาครัฐเองสนใจมากขึ้น ผมคิดว่าหากจังหวัดอื่น ๆ สามารถทำแบบนี้ได้ จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจให้เติบโตและแพร่กระจายไปยังเมืองต่าง ๆ โดยที่ไม่กระจุกตัวอยู่ที่เมืองใหญ่ ๆ อย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต โคราช หรือขอนแก่น ในตอนแรกผมว่าคนในพื้นที่ยังไม่ได้มีความมั่นใจเท่าไรว่ามันจะเวิร์ก เพราะเป็นครั้งแรกด้วย เราจึงอยากทดลอง เพราะทุกคนก็มีความตั้งใจเดียวกันว่าอยากพัฒนาเมือง ในแง่มุมหนึ่งก็ช่วยสร้างความหวังให้กับนักศึกษาหรือคนที่ทำงานไกลบ้าน ให้มีความคิดที่อยากจะกลับมาพัฒนาบ้านตัวเองมากยิ่งขึ้น”



กำหนดเป้าหมาย วางแผนระยะยาว จัดเตรียมทีมอย่างเป็นรูปธรรม

ในมุมมองของคุณธรรศและคุณอัชฌาเห็นว่า สกลจังซั่นเป็นการร่วมงานที่ใช้คนเยอะมาก จึงต้องหาเป้าหมายร่วมกัน หากต่างคนต่างมีเป้าหมาย อีกคนจะทำแบบนี้ อีกคนจะทำอีกแบบหนึ่ง งานเทศกาลจะไม่มีทางประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน



www.facebook.com/SAKONJunction


www.banyantree.com


“อันดับแรกเราต้องดึงกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน สิ่งที่อยากแนะนำคือ เรื่องระยะเวลาเตรียมตัว จะต้องมีการวางแผนระยะยาว จากนั้นให้กำหนดรูปแบบที่ชัดเจน เพื่อให้ครอบคลุมและตรงคีย์เวิร์ด ที่ต้องการจะสื่อสารแก่ผู้ร่วมงาน และส่วนสำคัญที่ต้องมีคือ ทีมเวิร์ก ทุกคนช่วยกันออกความคิดเห็น และมองเป้าหมายที่ตรงกัน แต่ถ้าจะจัดในปีต่อไป เราจะต้องเซ็ตทีมงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ใครจะทำส่วนไหน ใครจะไปประสานงานสถานที่ ใครจะไปประสานงานภาครัฐ ใครจะไปประสานงานผู้ร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ หรือเรื่องงบประมาณควรจะแบ่งชัดเจน ปีที่แล้วมีปัญหาตรงที่พอแบ่งหน้าที่ไม่ชัดเจน พอทุกคนมาคุยกันแค่ว่ามีเป้าหมายแบบนี้ กลายเป็นว่าคนทำงานทับซ้อนกัน”


“แม้เทศกาลสกลจังซั่นจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ก็ทำให้เห็นถึงความร่วมมือของกลุ่มคนหลายกลุ่ม ที่มีจุดประสงค์เดียวกัน ซึ่งสามารถช่วยเชื่อมโยงผู้คนให้ดำดิ่งสู่วัฒนธรรมได้อย่างแท้จริง และผมมองว่าในแต่ละจังหวัดเอง ย่อมมีศักยภาพซ่อนอยู่เช่นกัน เราต้องค้นหาและหยิบมันขึ้นมาชูให้คนอื่นเห็นอย่างถูกจุดเพียงเท่านั้น” คุณธรรศกล่าวปิดท้าย


สำหรับ MICE Outlook สัปดาห์หน้า ผู้อ่านจะได้พบกับไอเดียการนำ “อาหารท้องถิ่น” มาใช้ในแวดวงการจัดประชุมสัมมนาอย่างสร้างสรรค์ ห้ามพลาด!

Rating :