Adapting Strategies to Navigate Post-U.S. Election Uncertainty ปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ

Author : mice intelligence team
Views 2337 | 28 Oct 2024
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่อาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ทางการค้า ซึ่งอาจสร้างโอกาสและความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย รวมถึงอุตสาหกรรมการบริการและอุตสาหกรรมไมซ์

MICE Outlook สัปดาห์นี้ เรามีโอกาสได้สนทนากับ ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย เพื่อเจาะลึกถึงนโยบายของพรรคการเมืองสหรัฐฯ ที่อาจมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย พร้อมสำรวจว่าภาคอุตสาหกรรมบริการและไมซ์ควรเตรียมพร้อมรับมืออย่างไรกับความไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้งครั้งนี้



“สถานการณ์การเลือกตั้งที่เข้มข้นของสหรัฐอเมริกา”

เดือนพฤศจิกายนนี้ โลกกำลังจับตามองเหตุการณ์สำคัญคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2024 ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครจากสองพรรคการเมืองหลัก ได้แก่ พรรครีพับลิกันด้านอนุรักษ์นิยม (Conservatism)  และพรรคเดโมแครตที่มีแนวคิดด้านเสรีนิยม (Liberalism)  โดยทั้งสองพรรคมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องที่มองว่าประเทศจีนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง และการเมืองระหว่างประเทศ และพยายามที่จะสกัดกั้นจีนไม่ให้อิทธิพลมากขึ้น ผ่านการออกนโยบายเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศจีนอย่างน้อย 60% รวมทั้งกีดกันไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐฯ นโยบายดังกล่าวอาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโลก เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้นำด้านการผลิตและการค้า ขณะที่การกีดกันจีนจากเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในด้านเซมิคอนดักเตอร์และ AI อาจกระทบต่อการพัฒนานวัตกรรมของจีน แต่อาจสร้างโอกาสให้ประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย และสหภาพยุโรป ในการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดเทคโนโลยีระดับสูง

โดยทาง ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ได้แสดงมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า “นโยบายของพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต มีความคล้ายคลึงกันในมุมของการมุ่งเน้นที่แนวคิด 'อเมริกาเฟิร์ส' เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนอเมริกันและการสร้างงานภายในประเทศ โดยมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดสงครามการค้าและการแข่งขันด้านเทคโนโลยีกับประเทศจีน ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้ประเทศไทยเข้ามาแทนที่จีนในระยะสั้น” นโยบายดังกล่าวสะท้อนถึงความตึงเครียดระหว่างสองประเทศมหาอำนาจที่กำลังแข่งขันกันทั้งในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และจะมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน หรือการพัฒนาเทคโนโลยี ในขณะประเทศไทยอาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต การลงทุนใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และบทบาทที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก



“ความไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้งและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย”

การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดจากนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ โดยเฉพาะหากพรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้ง อาจมีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและทำให้การลงทุนจากสหรัฐฯ ลดลง ในทางกลับกันสถานการณ์นี้อาจเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติที่ต้องการหลีกเลี่ยงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนไปยังสหรัฐฯ ที่อาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนและสร้างงานในประเทศได้มากขึ้น นอกจากนี้ การเพิ่มฐานการผลิตในไทยยังสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่การผลิตและช่วยให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการจัดงานไมซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานแสดงสินค้า (Exhibition)ในภูมิภาค

ในทางกลับกัน หากพรรคเดโมแครตเข้ามามีบทบาท และชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ผศ.ดร.ประพีร์ ได้คาดว่านโยบายของพรรคนี้จะมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนการค้า การสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต การสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน อาจนำมาซึ่งอานิสงส์สำหรับประเทศไทยในด้านการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในเทคโนโลยีสะอาดและนวัตกรรม และประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนานโยบายที่สนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด โดยการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการพัฒนากฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนที่ยั่งยืน



อย่างไรก็ตาม นโยบายที่สนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคเดโมแครต หากถูกนำมาใช้ในระดับระหว่างประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าทั่วโลก โดยผู้ผลิตต้องคำนึงถึงมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มต้นทุนในการผลิตและสร้างความท้าทายใหม่ให้กับธุรกิจในอนาคต ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงควรเตรียมความพร้อมในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง เพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสในการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด ในขณะเดียวกันก็ควรพิจารณาความท้าทายที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามมาตรฐานที่เข้มงวด เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว



นอกจากนี้ แม้ว่าทั้งสองพรรคการเมืองสหรัฐฯ จะได้นำเสนอนโยบายต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ แต่ไม่สามารถรับประกันได้ว่านโยบายเหล่านี้จะถูกนำไปใช้อย่างแน่นอน เนื่องจากนโยบายต่าง ๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามามีบทบาท เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก หรือปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจทางนโยบาย เป็นต้น

ซึ่งทาง ผศ.ดร.ประพีร์ ได้แชร์มุมมองต่อเรื่องนี้ว่า “ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับสหรัฐฯ ผ่านความร่วมมือทางการทูตและการค้าที่ยั่งยืน การรักษาความสัมพันธ์ในระดับนี้จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกันความสำคัญของการที่ประเทศไทยเข้าร่วมในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เช่น ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) หรือ เขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) กับกลุ่มประเทศต่าง ๆ จะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ได้" การศึกษาวิเคราะห์แนวโน้ม และนำมาวางแผนเชิงรุกเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ



“การเลือกตั้งสหรัฐฯ และอนาคตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมภาคบริการไทย”

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจนำมาซึ่งความไม่แน่นอนและความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจในระดับโลก แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยปัจจัยหลายประการสนับสนุนการเติบโต เช่น การลงทุนจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ความต้องการตลาดภายในที่ยังคงแข็งแกร่ง และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

โดย ผศ.ดร.ประพีร์ ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยว่า “นโยบายของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันในปัจจุบันไม่มีสัญญาณใดที่บ่งชี้ถึงการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศหรือส่งเสริมนโยบายที่ขัดต่อการท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยว แต่ผู้ประกอบการควรจับตามองความผันผวนของตลาดหุ้นโลกและค่าเงินดอลลาร์ที่อาจเกิดขึ้นจากผลการเลือกตั้ง เพราะสิ่งเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมของนักเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อ ต้นทุนการเดินทาง หรือการเลือกจุดหมายปลายทาง” ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ที่อาจเกิดจากผลการเลือกตั้งจึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการเดินทางและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทยในระยะยาว ซึ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะต้องมีการเตรียมความพร้อมและปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ



อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ประพีร์ ได้แนะนำผู้ประกอบการถึงความสำคัญของการกระจายความเสี่ยงลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป และการเตรียมความพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการมุ่งเน้นดึงดูดกลุ่มเป้าหมายจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งมีศักยภาพในการขยายตัวด้านเศรษฐกิจและการลงทุน การใช้กลยุทธ์นี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมไมซ์สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว พร้อมกับการปรับตัวและพัฒนาบริการให้ตรงตามความต้องการของนักเดินทางในตลาดเกิดใหม่
Rating :