Soul of Local เข้าถึงชุมชนอย่างลึกซึ้ง สไตล์ “คุณกอล์ฟ เทยเที่ยวไทย”

Author :
Views 6127 | 02 Aug 2022

การท่องเที่ยวชุมชน เป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน พร้อมกับสร้างรายได้ให้ประเทศจากนักเดินทางไมซ์ ผ่านการจัดงานประชุมสัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ รวมถึงอีเว้นท์ในท้องถิ่นนั้น ๆ

เพื่อต้อนรับการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง MICE Outlook สัปดาห์นี้ ชวนไปพูดคุยกับ “คุณกิตติพัทธ์ ชลารักษ์” หรือ “คุณกอล์ฟ เทยเที่ยวไทย” ผู้มีบทบาทในการเผยแพร่วัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นให้สังคมได้รู้จักมากขึ้น ผ่านรายการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่พาไปเจาะลึกถึงวิถีชีวิตของชุมชนทั่วประเทศไทย ซึ่งคุณกอล์ฟจะมีแนวทางใดที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไมซ์สามารถนำเสนอท้องถิ่นของตนสู่สายตาชาวโลกให้มากขึ้นกว่าเดิม มาร่วมพูดคุยไปพร้อม ๆ กัน


ประสบการณ์ตรง คือสิ่งสำคัญที่ดึงดูดนักเดินทางให้เข้าถึงชุมชนอย่างลึกซึ้ง

จากประสบการณ์การทำรายการท่องเที่ยวชุมชนที่ผ่านมา ทำให้คุณกอล์ฟสัมผัสถึงเอกลักษณ์อันแตกต่างในแต่ละท้องถิ่น แต่สิ่งที่ทุกชุมชนมีเหมือนกันคือ “ความน่ารักของผู้คน” ซึ่งเมื่อใดที่มีนักท่องเที่ยวต่างถิ่นเข้าไป คนในชุมชนก็พร้อมที่จะต้อนรับ และรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่นและวิถีชีวิตชุมชนให้คนภายนอกฟัง

“สิ่งสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักชุมชนนั้นอย่างแท้จริง และได้อะไรกลับมามากที่สุด คือประสบการณ์ แปลว่า เขาต้องได้สัมผัสและลงมือทำมากกว่าแค่ไปเห็น ซึ่งจะประทับอยู่ในความทรงจำของเขามากกว่า และอยากจะเล่าต่อ ทำให้คนฟังรู้สึกอยากลองไปสัมผัสเองบ้าง เพราะประสบการณ์ตรงคือการมาสัมผัสด้วยตัวเอง ไม่สามารถอวดเป็นภาพถ่ายได้ การท่องเที่ยวชุมชน
จึงจะมีมูลค่าเมื่อนักเดินทางได้สัมผัสประสบการณ์นั้นด้วยตัวเอง”

คุณกอล์ฟยกตัวอย่างชุมชนที่เคยได้ไปสัมผัส เช่น หมู่บ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่มีปริมาณโอโซนดีที่สุดในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้มีเพียงสถานที่ให้มาสัมผัสอากาศบริสุทธิ์เท่านั้น แต่ที่นี่มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถทำร่วมกับคนในชุมชนได้ อาทิ การไปเก็บมังคุดที่ปลูกบนภูเขาสูง โดยใช้มอเตอร์ไซค์ขับขึ้นไปบนภูเขาเพื่อเก็บมังคุด นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้มังคุดแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ดึงดูดนักเดินทางสายผจญภัยด้วย หรือการทำหัตถกรรมท้องถิ่นโดยใช้กะลามะพร้าวนำมาทำเครื่องประดับหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เหมาะสำหรับนักเดินทางที่ชอบกิจกรรม D.I.Y

cbtthailand.dasta.or.th

wegophatthalung.com

นอกจากนี้ คุณกอล์ฟยังได้ยกตัวอย่าง ชุมชนบ้านเกาะกลาง จังหวัดกระบี่ ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเล ล้อมด้วยป่าชายเลน ที่นั่นมีกิจกรรมทำผ้ามัดย้อมที่ใช้วัสดุท้องถิ่นอย่างเปลือกไม้โกงกาง หรือใบไม้ท้องถิ่น นักเดินทางสามารถทดลองทำโดยใช้จินตนาการแต่งแต้มสีสันหรือลวดลายต่าง ๆ ด้วยตัวเอง รวมถึงมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้ได้สัมผัสวิถีชุมชนชาวบ้านเกาะกลางอย่างแท้จริง

thailandtourismdirectory.go.th

thailandtourismdirectory.go.th

thailandtourismdirectory.go.th

ชุมชนมีทรัพยากร แต่จะบริหารจัดการอย่างไรในวันที่ชุมชนของเรากลายเป็นจุดหมายนักเดินทาง

คุณกอล์ฟเล่าถึงการจัดการด้านการท่องเที่ยวของชุมชนว่า ทุกชุมชนมีทรัพยากรและวัฒนธรรมที่น่าสนใจ แต่หลาย ๆ ชุมชนไม่รู้ว่าจะหยิบขึ้นมานำเสนออย่างไร ซึ่งหากมีหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจเข้าไปช่วยให้ความรู้ สอนวิธีการบริหารจัดการก็จะช่วยชุมชนได้มาก

“เรื่องยากที่สุดของชาวบ้านคือการบริหารจัดการ โดยเฉพาะในวันที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้น ซึ่งในระยะแรก ๆ อาจมีนักท่องเที่ยวเข้าไปในชุมชนไม่เยอะมากนัก ชาวบ้านเขาสามารถจัดการได้ เปรียบเสมือนต้อนรับเพื่อนมาบ้าน แต่เมื่อไรที่สถานที่นั้นเริ่มเป็นที่นิยม ได้รับความสนใจมากขึ้น กลายเป็นอุตสาหกรรมขึ้นมา การจัดการนักท่องเที่ยวจำนวนมากจะเป็นเรื่องยากสำหรับ
ชาวบ้านทันที”

จากประสบการณ์การเข้าไปสัมผัสชุมชนผ่านการทำรายการท่องเที่ยว คุณกอล์ฟมองว่า ควรมีองค์กรหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการเข้ามาช่วยชุมชนในด้านการให้องค์ความรู้ของวิธีการจัดการ เพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง อาทิ สอนให้เข้าใจวิธีการลงทะเบียน เพื่อจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว โดยมองจากศักยภาพของชุมชนว่าสามารถรองรับได้ขนาดไหนเป็นต้น

หาไฮไลต์ของชุมชนให้เจอ เพื่อดึงดูดนักเดินทางยุคใหม่ 

คุณกอล์ฟให้คำแนะนำในฐานะผู้ที่ทำงานด้านสื่อว่า หากผู้ประกอบการไมซ์ต้องการนำเสนอชุมชนท้องถิ่นของตัวเองให้เป็นที่รู้จัก ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจธรรมชาติของนักเดินทางก่อนว่าความสนใจของเขาอยู่ที่ใด เช่น นักเดินทางชาวไทย ส่วนใหญ่จะชอบถ่ายรูป และอยากมีรูปสวย ๆ เพื่อทำคอนเทนต์หรือแชร์ให้เพื่อน ๆ ได้เห็น ฉะนั้น “ภาพ” คือจุดดึงดูดแรกที่ทำให้คนสะดุดตาเพื่ออยากมาตามรอยสถานที่นั้น ๆ

www.thairath.co.th

เมื่อนักเดินทางเข้าไปสัมผัสประสบการณ์นั้นแล้ว สิ่งสำคัญต่อมาคือ ผู้ประกอบการต้องหาให้เจอว่า “ไฮไลต์ของชุมชน” คืออะไร เพราะในหลายชุมชนท้องถิ่น จะมีวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมที่คล้ายกัน เช่น การทำผ้ามัดย้อม ผู้ประกอบการต้องหาให้เจอว่าการทำผ้ามัดย้อมของชุมชนตนเองมีความแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร อาทิ จังหวัดอุดรธานี มีหัตถกรรมผ้ามัดย้อมด้วยกลีบบัว ซึ่งไม่เหมือนที่อื่น เมื่อนักเดินทางได้ไปเห็นก็จะรู้สึกพิเศษเพราะไม่เคยเจอที่ไหน และอยากลองสัมผัสด้วยตัวเอง ดังนั้น ถ้าจะนำเสนอ ต้องหาไฮไลต์ให้เจอว่ากิจกรรมของชุมชนตัวเองมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากที่อื่นอย่างไร

www.nairobroo.com

www.nairobroo.com

www.nairobroo.com

อีกประเด็นหนึ่งที่คุณกอล์ฟเล็งเห็นคือ “การคมนาคม” ที่ยังเข้าถึงยากในหลาย ๆ พื้นที่ เพราะหากไม่มีรถยนต์ส่วนตัว โอกาสที่นักเดินทางจะเข้าถึงนั้นยากมาก ทำให้ท้องถิ่นนั้น ๆ ถูกตัดออกจากโปรแกรมท่องเที่ยว ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถนำเสนอวิธีการในการเข้าถึงชุมชนได้ รวมถึงภาครัฐเข้ามาสนับสนุนด้านการคมนาคม ก็น่าจะช่วยให้นักเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในชุมชนนั้นมากขึ้น

การประชาสัมพันธ์ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไมซ์ไม่ควรละเลย

ในมุมมองของคนทำงานด้านสื่อ คุณกอล์ฟมองว่า การท่องเที่ยวชุมชนนั้นยังไม่ได้รับความนิยมเท่ากับการท่องเที่ยวตามแลนด์มาร์กต่าง ๆ ฉะนั้นการนำชุมชนของตัวเองเข้าไปในสื่อเพื่อให้คนรู้จักมากขึ้นจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อดึงดูดนักเดินทางเข้าไปในชุมชนนั้นมากขึ้น

“การท่องเที่ยวชุมชน เป็นการไปรับประสบการณ์แล้วนำตัวเองออกมาเล่าสู่กันฟังว่ามีอะไรที่น่าไปสัมผัสบ้าง ซึ่งการประชาสัมพันธ์ควรเป็นตาม 3 แนวทางพร้อม ๆ กัน คือ เกิดจาก ‘นักเดินทาง’ ที่สร้าง Word of Mouth โดยเฉพาะยุคนี้ที่ Micro Influencer ยังจำเป็นอยู่ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ท่องเที่ยวสู่คนภายนอก ถัดมาคือ ‘ชุมชน’ เพราะผู้คนในชุมชนคือผู้ที่รู้ว่ามีทรัพยากรอะไรอยู่ที่นั่น เพียงแค่อาจขาดองค์ความรู้ว่าจะประชาสัมพันธ์อย่างไรให้คนอยากมา และสุดท้ายคือ ‘ภาครัฐ’ ที่จะเข้ามาสนับสนุนภาพรวมให้ชุมชนมีศักยภาพมากขึ้น พร้อมต้อนรับนักเดินทางได้อย่างสมบูรณ์”

การผลักดันชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อต้อบรับการกลับมาของนักเดินทางไมซ์ เป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ประกอบการไมซ์ต้องให้ความสำคัญ โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับชุมชนมากขึ้น พร้อมกับดึงอัตลักษณ์อันโดดเด่นของท้องถิ่นออกมาให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น



สัปดาห์หน้า MICE Outlook ชวนไปพบกับแนวทางการนำเสนอประสบการณ์แปลกใหม่ในกลุ่มของผู้จัดงานประชุมสัมมนาว่าพวกเขาสามารถสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ ของการจัดงานเพื่อดึงดูดนักเดินทางไมซ์อย่างไร พลาดไม่ได้เด็ดขาด

Rating :