Moving from Festive Pride Celebrations to Equality Achievements จากเทศกาลเฉลิมฉลองสู่การจัดงานที่ขับเคลื่อนความเท่าเทียม

Author : Mice Intelligence Team
Views 3562 | 17 Jun 2024

เทศกาลไพรด์ หรือเทศกาลแห่งความภาคภูมิใจ "Pride Month" ถูกจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนของทุกปี เปรียบเสมือนเดือนแห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลก งานเทศกาลเหล่านี้ดึงดูดผู้คนจากทั่วประเทศมารวมตัวกัน เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ ส่งเสริมความเข้าใจ และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

MICE Outlook สัปดาห์นี้ จะขอพาทุกคนมาร่วมเฉลิมฉลองกับ "Pride Month" กับบริบทของอุตสาหกรรมไมซ์ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนการจัดงานไพรด์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการจัดไพรด์แห่งเอเชียอย่างยั่งยืน



Key takeaways

• ผลสำรวจของ The Ipsos LGBT+ Pride 2023 พบว่ากว่า 60% ของนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ให้ความสำคัญกับ “จุดหมายปลายทางที่จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองให้แก่ชาว LGTBQ+” และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง รวมทั้งมีการเดินทางเฉลี่ยปีละ 3-4 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงตลาดเฉพาะกลุ่มที่เป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาและออกกิจกรรมไมซ์ที่สอดรับกับความต้องการของตลาดกลุ่มนี้
• ประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะเป็นจุดหมายปลายทางศูนย์กลางการจัดงานไพรด์ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการส่งเสริมและสนับสนุนข้อกฎหมายที่เลือกปฏิบัติ เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ สิทธิแรงงานเพศบริการ ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อทุกกลุ่มคนอย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย และพร้อมโอบรับนักเดินทาง LGBTQ+ จากทั่วโลกอย่างยั่งยืน


https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2790057


ประเทศไทยกับการเป็นหมุดหมาย Pride Friendly Destination”
เทศกาลไพรด์ เปรียบเสมือนพื้นที่ที่รวบรวมนักเดินทางทั่วโลกที่ต้องการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความเท่าเทียมและสิทธิเสรีภาพของ LGBTQ+ เทศกาลนี้ถูกจัดขึ้นทั่วโลกในเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยประเทศไทยเริ่มจัดงานไพรด์ครั้งแรกในปี 1999 ณ สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมงานเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น เนื่องจากสังคมไทยยังมีทัศนคติที่ไม่เปิดรับความหลากหลายทางเพศเท่าที่ควร การจัดงานไพรด์ในอดีตต้องเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคมากมาย จนทำให้การจัดงานในแต่ละครั้งไม่ประสบความสำเร็จ และจัดขึ้นครั้งสุดท้ายในปี 2006 โดยความล้มเหลวที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหามากมาย เช่น ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูล อคติ และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Stereotype ของกลุ่ม LGBTQ+


อย่างไรก็ตาม ในปี 2022 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ประเทศไทยได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชนในการขับเคลื่อนการจัดงานไพรด์อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รวมกำลังจัดงาน “Bangkok Naruemit Pride Parade” เป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี ภายใต้ธีม “เฉลิมฉลองความรัก ร่วมสร้างสังคมแห่งการยอมรับ” กิจกรรมภายในงานได้เปิดกว้าง และมีการพูดถึงประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ สถานศึกษาปลอดภัย สมรสเท่าเทียม พื้นที่ปลอดภัยของผู้ต้องขัง LGBTQ+ และ ยุติความรุนแรงทางเพศ เป็นต้น การจัดงานครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เริ่มเปิดกว้าง และยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนของภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจัดงานไพรด์นั้นสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกกับเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน


https://mgronline.com/entertainment/detail/9670000046983

https://thestandard.co/bangkok-naruemit-pride-2/


โดยการจัดงานไพรด์ถูกดำเนินการจัดงานมาอย่างต่อเนื่อง และในเดือนมิถุนายน 2024 หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ผสานกำลังร่วมจัดงาน “Bangkok Pride Festival 2024” อย่างยิ่งใหญ่ เพื่อเคานต์ดาวน์นับถอยหลังสู่การใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งคาดการณ์ว่าสามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมงานทั่วโลกได้กว่า 860,000 คน และสร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท แน่นอนว่าการจัดงานไพรด์ไม่ได้จำกัดเฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ได้ขยายไปยังทั่วภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และ ภาคตะวันออก ผ่านการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสประสบการณ์แห่งการเฉลิมฉลอง และยังได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมความเท่าเทียม สะท้อนให้เห็นว่าการจัดงานเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ในการสร้างสรรค์และต่อยอดนำไปสู่กิจกรรมไมซ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การร่วมเดินขบวนพาเหรดเท่านั้น เช่น การจัดงาน NationWide Pride Festival 2024, การจัดงาน Chiang Mai Gay Pride 2024 Press Conference เป็นต้น

https://theactive.net/news/gendersexuality-20240508/

https://theactive.net/news/gendersexuality-20240508/


ไม่เพียงเท่านี้ ทางภาครัฐได้มองเห็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านการจัดกิจกรรมไมซ์ที่เกี่ยวข้องกับไพร์ด จึงมุ่งมั่นขับเคลื่อนให้ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ InterPride World Conference 2025 และ Bangkok WorldPride 2030 รวมทั้งยังได้จัดแคมเปญ “Go Thai Be Free” ในตลาดต่างประเทศ เพื่อผลักดันและประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกได้เห็นศักยภาพของประเทศไทยในฐานะการเป็น Top LGBTQ+ Friendly Destination และ Tourism Hub โดยนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่เปิดกว้าง ปลอดภัย และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มจากทั่วโลกอย่างเท่าเทียม

รวมทั้งผลสำรวจของ The Ipsos LGBT+ Pride 2023 พบว่ากว่า 60% ของนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ให้ความสำคัญกับ “จุดหมายปลายทางที่จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองให้แก่ชาว LGTBQ+” และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง รวมทั้งมีการเดินทางเฉลี่ยปีละ 3-4 ครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่ม LGBTQ+ Gen Z ยังมีจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น มากกว่ากลุ่ม Millennial ถึง 2 เท่า และมากกว่า Gen X และ Baby Boomers ถึง 4 เท่า แสดงให้เห็นถึงตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีพลัง จึงเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาและออกกิจกรรมไมซ์ที่สอดรับกับความต้องการของตลาดกลุ่มนี้

https://www.chiangmaicitylife.com/citynow/social-life/live-events/chiang-mai-gay-pride-2024-press-conference/

https://www.centralpattana.co.th/en/shopping/shopping-update/lifestyle-activities/974/centralworld-announces-big-celebration-for-pride-month-creating-sensational-event-that-includes-more-than-500-lgbtqian



ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการจัดงานไพรด์ และพื้นที่ที่โอบรับนักเดินทางทั่วโลกที่มีความหลากหลาย ไม่ได้หมายความจะต้องจัดงานเฉลิมฉลองเพียงอย่างเดียว แต่ภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาชนจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนการปลดล็อกกฎหมายที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม เช่น การสมรสเท่าเทียม การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ สิทธิของผู้ประกอบอาชีพบริการทางเพศ และการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลทุกกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความเท่าเทียม และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรมไมซ์ที่เกี่ยวกับไพรด์อย่างยั่งยืน

MICE Outlook สัปดาห์หน้า จะพาขอพาทุกท่านไปติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองจากประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกชี้ชะตาเศรษฐกิจโลก เตรียมพบกับเนื้อหาครบถ้วนทุกแง่มุม ทั้งการวิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง คาดการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และโอกาสต่ออุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทย

แหล่งที่มา



Rating :