โดยวันนี้จะพาทุกท่านมาร่วมพูดคุยกับ คุณวลี พิริยะพงศ์ศักดิ์ ผู้ก่อตั้ง myTHERAS Wellness ที่จะมาเผยแนวคิดการสร้างสุขภาพดีแบบองค์รวมให้กับผู้เข้าร่วมงานไมซ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการสำหรับการออกแบบกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีให้กับผู้เข้าร่วมงานไมซ์
ค้นหาแรงบันดาลใจจากประสบการณ์จริง
นักเดินทางไมซ์ต่างประสบกับปัญหาด้านสุขภาพ โดยส่วนใหญ่มาจากการดำเนินกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งภายในงาน และระหว่างการเดินทางมาเข้าร่วมงาน เช่น การนั่งฟังประชุมนาน ๆ โดยไม่มีการเคลื่อนไหว การเดินทางระยะไกลติดต่อกันเป็นเวลานาน และที่สำคัญ สถานการณ์เหล่านี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของนักเดินทางไมซ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยคุณวลี พิริยะพงศ์ศักดิ์ ผู้ก่อตั้ง myTHERAS Wellness ซึ่งเคยเผชิญกับปัญหาสุขภาพดังกล่าว จึงได้พยายามหาวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันปัญหาสุขภาพระยะยาว โดยได้เล่าให้เราฟังว่า “ก่อนหน้านี้มีปัญหาด้านสุขภาพทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจจากการทำงานหนัก จนได้ตัดสินใจลาพัก และออกเดินทางเพื่อค้นหาวิธีที่จะช่วยเยียวยาสุขภาพให้ดีขึ้น แต่ในขณะนั้นเองเราก็ตระหนักได้ว่าถ้ามีธุรกิจที่สามารถซับพอร์ตให้ทุกคนได้มีสุขภาพองค์รวมที่ดีได้ จะถือเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ จึงทำให้เราตั้งใจก่อตั้ง myTHERAS Wellness ขึ้นมา” สิ่งที่คุณวลีได้เล่าให้เราฟังนั้น สะท้อนมาจากความเข้าใจปัญหาที่ผู้คนกำลังเผชิญอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถร่วมกันป้องกันได้ ก่อนที่จะนำไอเดียนี้ไปสู่การพัฒนา ต่อยอดออกมาในรูปแบบธุรกิจที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับผู้คนในสังคมได้
โดยบริการของ myTHERAS Wellness จะครอบคลุมตั้งแต่การให้บริการนวดผ่อนคลายโดยเทราพีส นวดบำบัดรักษาโดยแพทย์แผนไทย บริการโภชนาการ บริการการออกกำลังกาย ตลอดจนการบริการด้านจิตวิทยา จากทีมงานผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์ นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ อย่างเท่าเทียมกัน โดยนำเสนอการให้บริการลูกค้านอกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน งานอีเวนต์ และงานประชุม เป็นต้น โดยแนวทางการดำเนินธุรกิจของ myTHERAS Wellness สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Care) ที่ต้องการส่งเสริมให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยแล้วจึงไปโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
จุดเปลี่ยนของธุรกิจ สู่การเรียนรู้และเติบโต
หากย้อนไปเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้ ธุรกิจ myTHERAS Wellness เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีกลุ่มลูกค้ามาใช้บริการจากหลากหลายแห่ง ทั้งกลุ่มลูกค้าองค์กร ลูกค้าทั่วไป กลุ่มงานอีเวนต์ และงานประชุม แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจที่ให้บริการแบบตัวต่อตัวได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่นเดียวกับ myTHERAS Wellness ที่ได้รับผลกระทบจนต้องหยุดให้บริการในช่วงนั้น “จริง ๆ แล้วธุรกิจของเราเป็นตัวต่อตัว ฉะนั้นแทบจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพึงพาเทคโนโลยีแต่ด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้เราต้องมองมุมใหม่ และรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น เราจึงให้ทีมงานเริ่มเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีออนไลน์ เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านทาง Zoom, Microsoft teams และอื่น ๆ รวมถึงการทำ Live workshop หรือ Online consultation เพื่อให้เข้าสู่ระบบออนไลน์ทั้งหมด” ความพยายามในการปรับตัว ไม่ยึดติดกับวิธีการเดิม ๆ และความยืนหยุ่นต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทำให้การปรับตัวสู่ระบบออนไลน์ในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีในการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ ๆ และช่วยให้สามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าได้ทั่วประเทศ
https://www.facebook.com/mytheras.bkk/photos/
หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ธุรกิจ Wellness เป็นตัวเลือกของงานไมซ์
เนื่องจาก myTHERAS Wellness เป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่ชูความโดดเด่นของการนวดแผนไทยอย่างเป็นเอกลักษณ์ และเข้าไปมีส่วนร่วมในงานอีเวนต์และงานประชุมอยู่เสมอ จึงทำให้มีความคุ้นเคยกับอุตสาหกรรมไมซ์เป็นอย่างดี จึงได้เห็นถึงผลกระทบของโควิด-19 ที่ไม่เพียงแค่กระทบกับกลุ่มผู้ประกอบการเท่านั้น เพราะยังส่งผลให้พฤติกรรมของผู้เข้าร่วมงานไมซ์เปลี่ยนไปในเรื่องของความต้องการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย รวมทั้งต้องการความสะดวกสบายและผ่อนคลายมากขึ้นจากการที่ต้องเผชิญกับความเครียดและความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง และในขณะที่เข้าร่วมกิจกรรมโดยคุณวลีได้เล่าถึงประเด็นนี้ว่า “เดิมทีการจัดงานอีเวนต์ และการประชุมที่มีการนำกิจกรรมเพื่อสุขภาพอย่างการนวดเข้าไปให้บริการแก่ผู้เข้าร่วมงานนั้นเป็นเพียงแค่ลูกเล่นของงาน เพื่อสร้างความแปลกใหม่และส่งเสริมความเป็นไทย แต่หลังจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้จัดงานเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องสุขภาพ และเลือกที่จะนำการนวดเข้ามาผนวกในกิจกรรมไมซ์มากขึ้น เนื่องจากเป็นการให้บริการในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานได้ผ่อนคลาย รวมทั้งยังเป็นการมอบประโยชน์ต่อสุขภาพและสามารถมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้เข้าร่วมงานทุกคนได้” เห็นได้ว่าการให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพที่เปลี่ยนไปจากทั้งฝั่งผู้จัดงาน และผู้เข้าร่วมงานเองมีความสอดคล้องกัน ฉะนั้น หากผู้จัดงานสามารถใช้พื้นที่แห่งนี้ในการส่งมอบความสุข และการมีสุขภาพดี รวมถึงตอบสนองความต้องการให้แก่ผู้เข้าร่วมงานได้ ย่อมส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของงาน รวมทั้งยังเพิ่มโอกาสการจดจำที่แตกต่างกับการจัดงานอีเวนต์และงานประชุมอื่น ๆ ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ทางคุณวลียังได้ให้ไอเดียพร้อมแนะนำกับผู้ประกอบการไมซ์ ในการสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในงานไมซ์ได้อย่างน่าสนใจว่า การสร้างประสบการณ์แห่งการมีสุขภาพดีให้แก่ผู้เข้าร่วมงานไมซ์ สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ โดยควรเลือกที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้เข้าร่วมงาน งบประมาณ รวมทั้งบริบทของงาน เช่น หากเป็นงานแสดงสินค้าที่ผู้เข้าร่วมงานต้องเดินนาน ๆ หรืองานสัมมนาที่ต้องทำการจดบันทึกข้อมูล การเจรจาและจับคู่ธุรกิจสามารถที่จะจัดพื้นที่ให้มีบริการนวดผ่อนคลาย ช่วยบรรเทาความเครียด ความเหนื่อยล้า ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานได้พักผ่อน เติมพลัง พร้อมที่จะกลับไปร่วมกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง หรือจะจัดให้มีพื้นที่ฝึกโยคะ ห้องเก็บเสียงให้ผู้เข้าร่วมงานได้เข้ามานั่งพัก ตลอดจนการจัดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพไว้บริการร่วมด้วยภายในงาน เป็นต้น
https://www.facebook.com/mytheras.bkk/photos/
มุมมองต่ออนาคตอันใกล้กับความต้องการของนักเดินทางไมซ์
จากประสบการณ์ และการสังเกตการณ์ ทำให้คุณวลีได้มองเห็นสิ่งเปลี่ยนไป โดยเฉพาะพฤติกรรมของนักเดินทางไมซ์ โดยได้เผยมุมมองในส่วนนี้ว่า “ในอนาคตนักเดินทางไมซ์เขาไม่ได้สนใจแค่คอนเทนต์ของงาน เขาเริ่มที่จะสนใจสิ่งรอบตัวเขา โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการไมซ์สามารถทำได้ตอนนี้คือ การออกแบบงานไมซ์ให้รองรับกับความต้องการนี้ รวมทั้งสร้างจุดขายด้วยการออกแบบบริการส่วนบุคคล (Personal Service) และกิจกรรมภายในงานควรจะมีความยืดหยุ่น”
https://www.facebook.com/mytheras.bkk/photos/
https://www.facebook.com/mytheras.bkk/photos/
https://www.facebook.com/mytheras.bkk/photos/
เมื่อผู้ประกอบการรับรู้ความต้องการของนักเดินทางไมซ์ จึงไม่ควรปล่อยโอกาสนี้ให้หลุดไป และเริ่มนำสิ่งที่นักเดินทางไมซ์ต้องการเข้ามาในการจัดงานไมซ์มากขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรม “ด้านสุขภาพ” ซึ่งคุณวลีได้ยกตัวอย่างให้ผู้ประกอบการเห็นภาพมากขึ้น ในการออกแบบกิจกรรมที่รองรับเรื่องสุขภาพและสร้างจุดขายด้วยการบริการส่วนบุคคลจะสามารถทำได้อย่างไรบ้าง
โดยได้ยกตัวอย่างของโรงแรมเครือ Hilton ในประเทศมาเลเซีย ได้เล็งเห็นถึงปัญหาของการประชุมที่เดิมทีจะอิง Agenda เป็นหลัก ผู้เข้าร่วมงานมักรู้สึกกดดัน และเครียดจากการเข้าร่วมประชุมที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาของงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง ทางโรงแรมฯ จึงได้เปิดตัวโปรแกรม “Meet with Purpose” ขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้จัดงานได้เลือกโปรแกรมนี้เข้าไปผนวกในการจัดประชุม ช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งทางด้านความรู้ ความสุข และการมีสุขภาพที่ดี โดยโปรแกรมดังกล่าวจะประกอบไปด้วยกิจกรรมสุขภาพต่าง ๆ มากมาย อาทิ การทำโยคะ การยืดเส้น การฝึกเรื่องลมหายใจ รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำเรื่องอาหาร โดยสามารถเลือกเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสุขภาพได้ตลอดการเข้าร่วมการประชุม ความตั้งใจของโรงแรมฯ แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการยกระดับมาตรฐานของงานประชุม โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพที่ดีของผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งโรงแรมต่าง ๆ ในประเทศไทยสามารถพิจารณานำโปรแกรมนี้เข้ามาให้บริการ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมงานไมซ์ได้
เพราะทุกคนควรมีความเป็นอยู่ และสุขภาพที่ดี
หากมองย้อนกลับไปยังจุดประสงค์ในการทำธุรกิจของ myTHERAS Wellness คือ ความต้องการที่กระจายความเป็นอยู่ที่ดีและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน ทุกช่วงวัย ผ่านการบริการด้านสุขภาพแก่กลุ่มลูกค้า ทั้งนี้ก็ไม่ลืมที่จะมองย้อนกลับมาให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เพราะเข้าใจดีว่าพนักงานเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนธุรกิจให้ดำเนินไปข้างหน้าโดยคุณวลีได้เล่าถึงเรื่องนี้ว่า “เราสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีรายได้ มีงานทำ ให้เหล่าคุณแม่เลี้ยงเดียวสามารถเลือกจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อวันได้ รวมทั้งเรารับพนักงานที่เป็น LGBTQ มากขึ้น เนื่องจากพนักงานกลุ่มนี้ถูกการปฏิเสธงานค่อนข้างเยอะ แต่เรามองว่าพนักงานกลุ่มนี้ยังมีความสามารถ มีความรู้เราจึงพยายามที่จะสนับสนุนเขาให้มีรายได้จากการหาเลี้ยงชีพ ฉะนั้น เรื่องอายุ สถานะ และเพศ ไม่ควรเป็นสิ่งปิดกั้น เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสในการพัฒนาตนเองอย่างเท่าเทียม” ทั้งยังเป็นการสนับสนุนเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศและความเท่าเทียมในสังคม เกิดการกระจายรายได้และโอกาสในการพัฒนาอาชีพ
ผสมผสานกิจกรรมสุขภาพในการจัดงานไมซ์ ผลักดันไทยสู่ผู้นำด้านสุขภาพ
ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางในฐานะ Wellness Destination ที่สามารถรองรับ Wellness tourism จากทั่วโลก และพร้อมสำหรับการพัฒนาสู่ Wellness City หรือเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เนื่องจากมีความพร้อมในการให้บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งครอบคลุมการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ผ่านการแพทย์ที่ผสมผสานภูมิปัญญา (Authentic Prosper) และนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย (Intelligence Creation) พร้อมทั้งมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ ตลอดจนการสนับสนุนและผลักดันอย่างต่อเนื่องจากทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั้งนี้ ศักยภาพดังกล่าวสามารถพัฒนาให้เกิดผลกระทบเชิงต่อเศรษฐกิจและสังคม (Value-added) ได้ จากการที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันส่งเสริมให้กิจกรรมสุขภาพถูกผสมผสานในทุกเส้นทางของกิจกรรมไมซ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และสร้างคุณค่าให้กับทุกภาคส่วน