MICE & Sport Event Tourism การท่องเที่ยวเชิงกีฬาสู่ทิศทางการพัฒนาไมซ์ไทย

Author : MICE Intelligence Team
Views 6623 | 20 Mar 2024

หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการจัดมหกรรมระดับโลก (World’s Fair) งานมหกรรมสินค้าระดับโลก (Expo) รวมไปถึงงานมหกรรมกีฬาระดับโลกและอื่น ๆ เนื่องจากสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการนำเสนอศักยภาพและความโดดเด่นของประเทศเจ้าภาพได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังโควิดผ่านพ้นไป ส่งผลให้ทุกประเทศต่างต้องเร่งพัฒนากลยุทธ์และนโยบายใหม่ ๆเพื่อช่วงชิงนักเดินทางให้เข้ามาเยี่ยมเยือนประเทศของตน โดย “กีฬา” ถือเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจที่สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนและพัฒนาให้เป็น “Soft Power” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการจัดงานไมซ์ไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

MICE Outlook สัปดาห์นี้ เราจะขอพาทุกท่านมาร่วมเจาะลึกประเด็นของการนำกีฬาเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของไทย เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่ง “Soft Power ด้านกีฬา”


Key takeaway 

  • ผลสำรวจจาก Visit Anaheim, sportstravelmagazine (ความคิดเห็นของประชาชนชาวอเมริกัน 2,000 คน ในปี 2023) แสดงให้เห็นถึง “ความพร้อม” ของนักเดินทางที่ยอมจ่ายเงินเดินทางข้ามประเทศ เพื่อ “รับชมการแข่งขันกีฬาที่ตนชื่นชอบ” ซึ่งยังแฝงไปด้วยความคาดหวังประสบการณ์ “ความประทับใจ” และเป็นโอกาสที่จะได้สัมผัสวัฒนธรรมของผู้คน และสถานที่ที่ได้เดินทางไปเยือน
  • ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้มวยไทยของโลก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศไทย ผ่านการนำ “Soft Power ด้านมวยไทย” มาต่อยอดธุรกิจสินค้า บริการ เช่น อุปกรณ์ ของที่ระลึกที่มีเอกลักษณ์มวยไทย พัฒนารูปแบบการสอนมวยไทยออนไลน์ แพ็คเกจท่องเที่ยวเชิงกีฬา ตลอดจนการจัดงานมหกรรมด้านกีฬา เพื่อสร้างเครือข่าย และกระตุ้นให้นักเดินทางทั่วโลกอยากประสบการณ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นผ่านวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งของไทย
  • การเติบโตของตลาดการท่องเที่ยวเชิงกีฬา จะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ ผู้ประกอบการไมซ์จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้าง "ประสบการณ์ที่เชื่อมโยง" โดยอาศัยความร่วมมือกับผู้จัดงาน ผู้ประกอบการทัวร์เชิงกีฬา (Sports Travel Agencies and Tour Operators) หรือผู้ให้บริการการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism Service Providers) และอื่น ๆ เพื่อออกแบบบริการครบวงจร (end-to-end)



Sport Event ผสมผสานความหลงใหลในกีฬาสู่การจัดงานที่สร้างมูลค่าสูง

การท่องเที่ยวเชิงกีฬา หรือการเดินทางเพื่อเข้าร่วมหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยผสมผสานความหลงใหลในกีฬาเข้ากับประสบการณ์การแข่งขันหรือจุดหมายปลายทางใหม่ ๆ อย่างการแข่งขันกีฬาที่สำคัญ เช่น มหกรรมกีฬาโอลิมปิก กีฬาฟุตบอล รักบี้ การแข่งรถ หรือแม้แต่งานวิ่งมาราธอนที่จัดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ล้วนมีส่วนทำให้สถานที่จัดการแข่งขันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ทรงพลังในตัวเอง และสนับสนุนภาพลักษณ์เชิงบวกด้านการท่องเที่ยวของประเทศเจ้าภาพเป็นอย่างมาก


ความโดดเด่นของกีฬาในแต่ละประเทศนั้น ๆ ทำให้นักเดินทางยอมใช้จ่ายเงินเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักร ที่ก่อตั้งลีกฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดของโลก เริ่มตั้งแต่ปี 1888-1992 โดยใช้ชื่อว่า “Football League” และได้พัฒนาเป็น “Premier League” ในปัจจุบัน โดยข้อมูลที่น่าสนใจจากกรมการค้าระหว่างประเทศของอังกฤษ เผยว่า ตลอดระยะเวลาว่า 30 ปี (1992-2022)เกิดการจ้างงานต่อเนื่องในประเทศกว่า 100,000 ตำแหน่ง และในปี 2021-2022 สามารถสร้างรายได้จากการจัดการแข่งขันสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 5.45 พันล้านปอนด์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5.75 พันล้านปอนด์ในปี 2024 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมกีฬาที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และกระตุ้นให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงานมากขึ้น


ผลสำรวจฯ แสดงให้เห็นถึง “ความพร้อม” ของนักเดินทางที่ยอมจ่ายเงินเดินทางข้ามประเทศเพื่อ “รับชมการแข่งขันกีฬาที่ตนชื่นชอบ” ซึ่งยังแฝงไปด้วยความคาดหวังประสบการณ์“ความประทับใจ”จากการร่วมเชียร์ ร่วมลุ้นท่ามกลางแฟนกีฬาจำนวนมาก และเป็นโอกาสที่จะได้สัมผัสวัฒนธรรมของผู้คนและสถานที่ที่ได้เดินทางไปเยือน นอกจากนี้ แนวโน้มที่น่าสนใจในรายงาน Global Sports Tourism Market Outlook ระบุถึงตลาดการท่องเที่ยวเชิงกีฬาทั่วโลกซึ่งมีมูลค่าประมาณ 609.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 และคาดว่าจะเติบโตต่อปี (CAGR) 16.7% ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 2,446.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2575



ขับเคลื่อน กีฬาสู่การเป็น Soft Power” เพื่อยกระดับการจัดงานไมซ์ไทย

ในบริบทของประเทศไทย กีฬา” ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีความสนใจในกีฬาและแหล่งท่องเที่ยวเชิงกีฬาในประเทศไทย ซึ่งมีส่วนในการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์เชื่อมโยงกับธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมกีฬา เช่น ที่พักและสถานที่ที่ใช้จัดการแข่งขัน การขนส่งสำหรับรองรับผู้เข้าแข่งขัน และนักเดินทางที่มาร่วมชมงาน การท่องเที่ยวและกิจกรรมเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าร่วมงาน การส่งออกสินค้าเกี่ยวกับกีฬา การลงทุน และการจ้างงาน อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความภาคภูมิใจร่วมกันของคนในประเทศ


การท่องเที่ยวเชิงกีฬาจึงมีศักยภาพสูงมากในการพัฒนาประเทศ ตัวอย่างเช่น กรณีศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเมืองโดยใช้กลไกด้านกีฬามาเป็นสิ่งผลักดัน จากเดิมในอดีตเป็นเพียง“เมืองทางผ่าน” สำหรับนักเดินทางที่มุ่งหน้าสู่จังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสาน แต่ละปีมีจำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ยเพียง 500,000 คน และมีค่าใช้จ่ายต่อคนน้อยมาก แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นเมืองเศรษฐกิจ ด้วยการใช้พลัง “Soft Power” ด้านกีฬาเป็นตัวขับเคลื่อนจากการก่อตั้งทีมฟุตบอล "บุรีรัมย์ยูไนเต็ด" ที่มีอิทธิพลในวงการฟุตบอลไทย และได้ครองแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีกถึง 5 ครั้ง จนกลายมาเป็นโลโก้ประจำจังหวัดที่ทุกคนรู้จักซึ่งช่วยกระตุ้นให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังจังหวัดเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัวทะลุล้านคนต่อปี และสามารถสร้างรายได้จนกลายมาเป็นจังหวัดที่มีรายได้สูงติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ


กีฬาไม่ได้เป็นเพียงแค่กิจกรรมที่เสริมสร้าง “สุขภาพ” เท่านั้น แต่ยังเป็น “แหล่งความบันเทิง” ชั้นนำที่นำพาผู้คนทั่วโลกที่หลงไหลในสิ่งเดียวกันมาพบปะกัน ซึ่งประเทศไทยมี “กีฬามวยไทย” ศิลปะการต่อสู้ที่เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ และสะท้อนถึง“ความเป็นไทย ได้อย่างชัดเจน โดยกลิ่นอายของความเป็นไทยในกีฬามวยทำให้นักเดินทางทั่วโลกต้องการเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง ในขณะเดียวกันก็สามารถต่อยอดไปยังสินค้าและบริการอื่น ๆ ดังเช่น รายการศิลปะต่อสู้อันดับ 1 ของโลก “One championship”ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 75 ล้านคน และมีการถ่ายทอดสดไปกว่า 180 ประเทศทั่วโลก สร้างรายได้ถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 และสร้างรายได้ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 ซึ่งนอกจากการจัดรายการแล้ว ยังได้เข้าไปฝึกซ้อมมวยไทยให้ชาวต่างชาติ โดยนักเดินทางจะใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่าหนึ่งสัปดาห์ หรืออาจเป็นเดือนหรือปี โดยข้อมูลจากผู้จัดงานประเมินว่าแต่ละทริปจะใช้เงินหลักแสนบาทขึ้นไป เพื่อใช้จ่ายกับเครื่องกีฬา ค่าเทรนนิ่ง ค่าอาหาร ท่องเที่ยว และที่พัก เป็นต้น


เพื่อตอกย้ำความสำเร็จของกีฬามวยไทย คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมออกนโยบาย และจัดกิจกรรมที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนมวยไทยสู่ความเป็นเสิศ ได้แก่ 1. การให้ VISA นักท่องเที่ยวมาเรียนมวยไทย 90 วัน 2. การจัดตั้งศูนย์ทดสอบและรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานผู้ฝึกสอนมวยไทย 3. เตรียมการเปิดสอนมวยไทย “ต้นกล้ามวยไทย” ให้กับนักเรียนในโรงเรียน กทม. 4. การจัดงานเทศกาล Maha Songkran Wold Water Festival 2024 5. การจัดประชุมนานาชาติ SOFT POWER FORUM โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นจะเป็นเวทีสำคัญในการขับเคลื่อนให้มวยไทยกลายเป็น Soft Power สู่สังเวียนโลก

ในขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง นำโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทุ่มเทผลักดัน "มวยไทย" ผ่านการจัดงานในต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น งาน "Muaythai Soft Power Roadshow" ณ เมืองวีชี่ ประเทศฝรั่งเศส นำเสนอศิลปะมวยไทย ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักในการดึงดูดนักเดินทาง และกลุ่มนักมวยชาวฝรั่งเศสจากทั่วประเทศ โดยได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม สะท้อนให้เห็นถึงพลังของมวยไทยที่เป็นมากกว่าการแข่งขัน การออกกำลังกาย แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายแก่นักเดินทางทั่วโลกที่มีความสนใจ และต้องการสานต่อความรู้ทางด้านกีฬามวยไทยเลือกประเทศไทยให้เป็น “Sport Destination”

ดังนั้น การนำศักยภาพด้านกีฬามาเป็นแก่นสำคัญ หรือผนวกในการจัดกิจกรรมไมซ์ จะทำให้สามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ร่วมระหว่างผู้เข้าร่วมงานได้ ตลอดจนเป็นโอกาสในการต่อยอดเชิงธุรกิจ ผ่านการออกแบบสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับกีฬาได้


ความพร้อมของประเทศไทยสู่การเป็น “Sport Tourism Destination” ชั้นนำของโลก

อุตสาหกรรมกีฬาจะเป็น "เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” มีความพยายามในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับโลก มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและกีฬา 3.5 ล้านล้านบาท และเพิ่มส่วนแบ่งมูลค่ากีฬาไทยจาก 0.58%เป็น 1% ของมูลค่ากีฬาโลก ซึ่งมีขนาดประมาณ 455,800 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายสำคัญเพื่อพลิกโฉมการท่องเที่ยวและกีฬาของไทยโดยตั้งเป้าหมายที่จะบรรจุกีฬา "มวยไทย" ในโอลิมปิกเกมส์ 2032 พร้อมกับการสนับสนุนกีฬาทุกประเภทที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งหมายรวมถึงE-Sports หรือการแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้เกมส์คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการแข่งขัน เพื่อรองรับเทรนด์เทคโนโลยีในปัจจุบันซึ่งได้กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขยายตลาดอุตสาหกรรมกีฬา โดยหน่วยงานโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร่วมกับพันธ์มิตรเตรียมความพร้อมในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง E-Sports ระดับโลกอีกด้วย



การเติบโตของตลาดการท่องเที่ยวเชิงกีฬา จะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ สำหรับผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องรวมถึงอุตสาหกรรมไมซ์ ผู้ประกอบการไมซ์จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้าง "ประสบการณ์ที่เชื่อมโยง" เพื่อตอบสนองความต้องการของนักเดินทาง โดยอาศัยความร่วมมือกับผู้จัดงาน ผู้ประกอบการทัวร์เชิงกีฬา (Sports Travel Agencies and Tour Operators) หรือผู้ให้บริการการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism Service Providers) และอื่น ๆ เพื่อออกแบบบริการครบวงจร (end-to-end) ที่จะสร้างการมีส่วนร่วม และเปิดโอกาสให้นักเดินทางได้มีปฏิสัมพันธ์กับสถานที่ ผู้คนและชุมชนโดยรอบ เพื่อแปลง “คุณค่า” ของกีฬาให้ออกมาเป็น “มูลค่า” ทางเศรษฐกิจจากการจัดงานให้ได้มากที่สุด


MICE Outlook สัปดาห์หน้า จะขอพาทุกท่านไปพบกับ "การจัดงานเทศกาล หรือ Festival" โอกาสสำคัญที่จะกระตุ้นให้การเดินทางของนักเดินทางทั้งไทยและต่างประเทศช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทย ซึ่งผู้ประกอบการไมซ์จะได้ไอเดียที่เป็นประโยชน์นำไปปรับใช้ ต้องไม่พลาดที่จะพบกับเนื้อหาเข้มข้นที่ครอบคลุมทุกแง่มุม

ที่มา


Rating :