Green Era is Coming ต้อนรับการท่องเที่ยวไมซ์แบบใหม่หัวใจสีเขียว

Author : MICE Intelligence Team
Views 5847 | 20 Jan 2023
ต้อนรับปี 2566 ด้วย 7 เทรนด์ที่กำลังมาแรงในอุตสาหกรรมไมซ์ในปัจจุบัน ได้แก่ 1) Slow Route (การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์) 2) Metamorphic Design (การสร้างประสบการณ์ที่ดีและตรงใจ) 3) Virtual Experience Economy (การผสมผสานการใช้งานนวัตกรรม) 4) Community Care (การสร้างผลลัพธ์แก่สังคม) 5) Synced Service (การเชื่อมโยงบริการให้ครอบคลุม) 6) Sustainability on Display (การปรับใช้แนวคิดความยั่งยืน) และ 7) Ambient Wellness (การสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ) โดย MICE Outlook ฉบับนี้จะพาไปทำความรู้จักกับเทรนด์ Slow Route ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการสร้างผลประโยชน์แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน แล้วความนิยม Slow Route ที่เพิ่มขึ้นนี้มีความหมายต่ออุตสาหกรรมไมซ์อย่างไร เรามาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันเลย !  



 

กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในปัจจุบัน หลากหลายองค์กรและหน่วยงานล้วนมีแนวทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเพิ่มมากขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์มาดูกันว่าจะมีแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวไมซ์ให้สอดคล้องกับกระแสรักษ์โลกอย่างไร  


Key Takeaways
- นักเดินทางไมซ์ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไมซ์ควรให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจไมซ์เช่นกันเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

- การดำเนินกิจการไมซ์อย่างยั่งยืนสามารถเริ่มได้จากการลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น การจัดกิจกรรมไมซ์โดยใช้แสงจากธรรมชาติหรือพลังงานสะอาด ตลอดจน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการควบคุมการใช้พลังงาน เป็นต้น  

- การจัดกิจกรรมไมซ์สามารถบรรลุเป้าหมาย Zero Waste ได้โดยตั้งจุดคัดแยกขยะ ประยุกต์ใช้เครื่องย่อยขยะและเศษอาหาร ให้บริการตู้ Refund Machine พร้อมจัดพื้นที่แบ่งปันส่วนเกินที่เหลือให้แก่สังคมที่ขาดแคลนแทนการทิ้งขยะ  

 
การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก รวมถึงนักเดินทางไมซ์และผู้จัดงานไมซ์ โดยจากงานสำรวจของบริษัท SAP Concur ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่ให้บริการด้านการเดินทางและการจัดการค่าใช้จ่ายแก่ธุรกิจต่าง ๆ พบว่า ในปี 2566 ร้อยละ 95 ของนักเดินทางไมซ์จากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific – APAC) ซึ่งเป็นกลุ่มนักเดินทางไมซ์หลัก ๆ ที่เดินทางมายังประเทศไทย ระบุถึง ความต้องการในการออกแบบการเดินทางเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมไมซ์ในรูปแบบที่มีการคำนึงถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Green Travel) เพิ่มมากขึ้น โดย ร้อยละ 43 ของนักเดินทางกลุ่มนี้วางแผนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมไมซ์ที่จัดในบริเวณใกล้เคียงกันทำให้เกิดเป็นการเดินทางเข้าร่วมระยะยาว และเป็นการลดการเดินทางให้น้อยที่สุด ตลอดจน ค้นหาวิธีการเดินทางทดแทนการเดินทางทางอากาศ (Air Travel) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น ร้อยละ 37 เลือกที่จะเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมไมซ์ผ่านทางรถไฟ และร้อยละ 36 เลือกที่จะเดินทางเข้าร่วมผ่านการขนส่งสาธารณะ  

ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 27 ของนักเดินทางไมซ์จากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยอมที่จะปฏิเสธการเดินทางหากการเดินทางเพื่อธุรกิจไม่มีการคำนึงถึงความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน นักเดินทางไมซ์จากกลุ่ม APAC นี้ยังสนับสนุนให้บริษัทของตนมีการดำเนินงานที่คำนึงถึงความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งร้อยละ 96 เห็นว่าการให้ข้อมูลด้านความยั่งยืนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทาง

 

https://ecobnb.com/

จากการศึกษาสถิติความต้องการของนักเดินทางไมซ์ข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้มีความยั่งยืน ซึ่งเราจะมาดูกันว่า ในปัจจุบันอุตสาหกรรมไมซ์ไทยและโลกมีการให้ความความยั่งยืนและปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมไมซ์อย่างไร  

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (ศูนย์ฯ สิริกิติ์) ได้ตระหนักถึงความสําคัญของกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงได้นํานวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการด้านความยั่งยืนด้วยแนวทางหลัก ๆ ดังนี้  


  https://th.wikipedia.org/wiki/สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

- สถานที่ตั้งและการเดินทาง: สถานที่ตั้งของศูนย์ฯ สิริกิติ์เชื่อมต่อกับรถฟ้าใต้ดิน “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” และใกล้กับป้ายรถประจำทาง ทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถเดินทางด้วยบริการขนส่งสาธารณะเป็นการช่วยลดปริมาณแก๊สเรือนกระจกในการเดินทาง ตลอดจน มีบริการที่ชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่จอดรถจักรยาน และห้องอาบน้ำ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ที่มาใช้บริการ เลือกใช้การเดินทางแบบยั่งยืนให้มากที่สุด

https://www.qsncc.com/th/about/sustainability-and-standard

- พื้นที่เพื่อความยั่งยืน: ลดการใช้แสงที่ส่องสว่างขึ้นด้านบนและแสงที่ส่องไปยังบริเวณโดยรอบ เพื่อลดการเกิดแสงเรืองบนท้องฟ้าและลดมลภาวะทางแสง เพิ่มแสงธรรมชาติและระบบไหลเวียนอากาศจากธรรมชาติทั่วอาคาร และใช้สีโทนอ่อนบริเวณพื้นผิวทางเดินเท้าและหลังคาเพื่อลดแสงสะท้อนจากแสงอาทิตย์

https://www.princeton.edu/news/2019/11/13/sustainability-action-plans-efforts-reduce-water-usage-26-are-underway

- การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ: ติดตั้งอุปกรณ์ประปาและใช้สุขภัณฑ์แบบประหยัดน้ำทั่วทั้งอาคาร ทำให้ลดการใช้น้ำได้ถึง 45% ตลอดจน ใช้ระบบน้ำหยดและนำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดและลดการใช้น้ำให้มากที่สุด

https://www.energyteam.it/en/energy-consultancy-services/energy-management/

-การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ: ศูนย์ฯ สิริกิติ์ มีการคำนวณการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์และติดตามการใช้งาน รวมทั้งใช้ระบบบริหารจัดการและควบคุมอาคารอัตโนมัติ ผนวกกับการตรวจสอบและการควบคุมอาคารอัจฉริยะ ตลอดจน ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 5,400 ตร.ม. บนชั้นดาดฟ้าของอาคารเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน ติดตั้งไฟ LED ในห้องจัดแสดงนิทรรศการทั้งหมด เพื่อลดการใช้พลังงาน และปรับความสว่างในบริเวณล็อบบี้และพื้นที่ร้านค้าให้สอดคล้องกับแสงธรรมชาติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดการใช้พลังงาน  

นอกจากนี้ บริษัท N.C.C Management & Development Co., Ltd. ยังมีแนวปฏิบัติการก่อสร้างสีเขียวประกอบไปด้วยการควบคุมมลพิษในการก่อสร้างและแนวทางการจัดการของเสียจากการก่อสร้าง โดยมุ่งเน้นการลดปริมาณขยะจากการก่อสร้างที่จะต้องนำไปกำจัด ด้วยการกลบฝังได้มากกว่า 75% คำนึงถึงการจัดการคุณภาพอากาศและมีการป้องกันฝุ่นละอองและสารเคมีภายในอาคารระหว่างการก่อสร้าง  


https://www.scec.org.au/

https://rb.gy/vtijwe


The Sunshine Coast Environment Council (SCEC) สภาที่รับดูแลเรื่องการอนุรักษ์ความยั่งยืนของประเทศออสเตรเลีย ได้จัดงานประจำปี World Environment Day Festival (WED Festival) เพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยภายในงานมีแนวทางการจัดงานที่สามารถลดใช้ทรัพยากร ยกตัวอย่างเช่น การจัดงานในเวลากลางวันในสถานที่กลางแจ้งเพื่อลดการใช้แสงประดิษฐ์ (Artificial Light) พร้อมการประยุกต์ใช้อุปกรณ์พลังงานโซล่าเซลล์ (Solar Cell) ขนาด 1.2 กิโลวัตต์ (kW) ในการสร้างพลังงานเพื่อใช้ภายในงานในส่วนเวที เครื่องเสียงและแสงภายในงานตลอดวัน โดยแนวทางทั้งหมดนี้สามารถลดการใช้พลังงานในการจัดงานได้มากถึงร้อยละ 10 จากการจัดงานอีเวนต์ทั่วไป 


Sustainability Expo 2022 (SX2022) งานมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่จัดขึ้นตลอด 7 วันเต็ม ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีกระบวนการจัดการขยะเบื้องหลังที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในโซนของ SX Food Festival ที่มีสถานีจัดการเศษอาหาร (Food Waste Station) เพื่อคัดแยกขยะให้ถูกประเภทและมุ่งสู่เป้าหมาย Zero Waste โดยแบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก

            1.จุดคัดแยกขยะ เป็นส่วนแรกของการจัดการขยะ โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาช่วยสร้างความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะทั้ง 8 ประเภท ได้แก่ เศษอาหารชิ้นใหญ่ ขวดแก้ว ขวดพลาสติกสี ถุงพลาสติกหลายชั้น กระป๋องอะลูมิเนียม กล่องนม/น้ำผลไม้ พลาสติกอื่นๆ และขยะทั่วไป ซึ่งขยะทั้งหมดจะถูกส่งไปยังกระบวนการแปลงสภาพต่อไป

            2.เครื่องย่อยขยะจากเศษอาหาร จากบริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนนี้จะเป็นกระบวนการย่อยสลายขยะจากเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยภายใน 24 ชั่วโมงผ่านการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจะช่วยลดประมาณขยะอาหารได้มากขึ้น 90% โดยผู้ร่วมงานที่นำอาหารมารีไซเคิลในจุดนี้จะได้รับปุ๋ยกลับไปเป็นของแถม

            3.ตู้ Refund Machine เป็นจุดรับแลกขวดน้ำพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อ โดยผู้เข้าร่วมงานสามารถนำขวดน้ำดื่มพลาสติกมาแลกเป็นแต้มคะแนนสะสม เมื่อครบ 10 แต้มจะนำคะแนนไปแลกรับของที่ระลึกพิเศษได้

            4.ตู้เย็นปันสุข จากมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SCHOLARS OF SUSTENANCE หรือ SOS) จะเป็นการนำเอาอาหารส่วนเกินที่เหลือทั้งจากคนซื้อและคนขายในแต่ละวันของงานไปแจกจ่ายให้ชุมชนที่ขาดแคลนต่อไป
จากกระบวนการจัดการขยะภายในงานเป็นระยะเวลา 7 วันเต็ม สามารถสรุปข้อมูลการบริหารจัดการขยะได้ โดยมีการรีไซเคิลขวดน้ำ PET 38,000 ขวด กระป๋อง 14,500 ใบ และขวดแก้ว 2,165 ขวด รวมถึงมีการผลิตปุ๋ยที่เกิดจากอาหารเหลือทิ้งได้ 107.47 กิโลกรัม และมีการบริจาคอาหารส่วนเกินผ่านมูลนิธิ SOS 1,138 เสิร์ฟ  


https://www.amarintv.com/spotlight/sustainability/detail/33963


จะเห็นได้ว่า ธุรกิจไมซ์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเริ่มมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานและรูปแบบการจัด
กิจกรรมไมซ์ ให้สอดคล้องกับทิศทางและความต้องการของนักเดินทางไมซ์ที่ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดการสร้างขยะภายในงาน ตลอดจน การใช้พลังงานสะอาดในการจัดกิจกรรมไมซ์ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไมซ์สามารถนำตัวอย่างจากการจัดงานข้างต้นไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเพื่อสร้างความน่าสนใจและโอกาสใหม่ ๆ ได้เช่นกัน  

ในฉบับถัดไป จะพบกับ ความสำคัญของการจัดงานที่สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมด้วยวิธีการและนวัตกรรม/เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการจัดทำ Personalization ในอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศต่าง ๆ และประเทศไทย และแนวทางการปรับใช้เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของท่าน อย่าลืมติดตาม MICE Outlook ฉบับหน้า !  


อ้างอิง  
-กระแสรักโลกของนักเดินทางไมซ์: https://www.traveldailymedia.com/health-and-safety-top-concern-for-asia-pacific-corporate-travellers/  
-แนวทางส่งเสริมความยั่งยืนของ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ : https://www.qsncc.com/th/about/sustainability-and-standard
-Australia World Environment Day Festival: https://www.sunshinecoast.qld.gov.au/Experience-Sunshine-Coast/Events/Holding-Events/Sustainable-events/Energy-and-water  
-Sustainability Expo 2022 (SX2022): https://www.amarintv.com/spotlight/sustainability/detail/33963  

Rating :